ประเทศไทยกำลังเผชิญ “ปัญหาฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็ก-เยาวชน” ที่ปรากฏเป็นข่าวน่าสลดใจถี่มากขึ้น สร้างความสะเทือนใจให้ “สังคมและสถานศึกษา” นับวันช่วงอายุผู้ก่อเหตุก็ยิ่งต่ำลงเรื่อยๆ

ปัจจัยจากปัจจุบันสังคมมีความซับซ้อน “เปลี่ยนแปลงค่านิยมและวัฒนธรรม” เด็ก-เยาวชนต้องเจอกับการแข่งขันกลายเป็นความกดดันส่งผลให้มีความเครียดสะสมเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ดร.สุพัทธ แสนแจ่มใส นักจิตวิทยาเด็กและอาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ให้ข้อมูลว่า

ดร.สุพัทธ แสนแจ่มใส
ดร.สุพัทธ แสนแจ่มใส

การฆ่าตัวตายในเด็กไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ตัดสินใจทำร้ายตัวเองเริ่มมีอายุต่ำลงกว่าเดิม “สมัยก่อนมักเจออยู่ในเด็กมัธยมเป็นหลักแต่ตอนหลังเริ่มพบได้ในชั้นประถม” สาเหตุหลักมาจากตัวเด็กเองอย่างเช่น “พันธุกรรม” สมาชิกในครอบครัวบางคนอาจมีประวัติป่วยทางจิตใจ โรคซึมเศร้า ติดสุราเรื้อรัง

...

ถัดมา “สภาพร่างกาย” เด็กอาจมีโรคทางกายหรือโรคทางสติปัญญา มาแต่กำเนิด “สิ่งแวดล้อม” บางคนอาจเคยมีประสบการณ์ไม่เหมาะสม เช่น ถูกทำความรุนแรง เป็นครอบครัวเดี่ยว หรือพ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงดูทำให้สัมพันธภาพในครอบครัวน้อยลง สุดท้าย “แรงกดดัน” ในยุคการเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้เด็กเผชิญการแข่งขันสูง

เพื่อให้ประสบความสำเร็จสามารถเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยดังๆ แถมในโรงเรียนยังต้องเจอกับ “ปัญหาการเปรียบเทียบต่อกันหรือการบูลลี่” กลายเป็นแรงกดดันนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายได้เช่นกัน

ทว่าสำหรับ “การบูลลี่” หากเป็นสมัยก่อนการกลั่นแกล้ง ล้อชื่อพ่อแม่ หรือล้อรูปร่างหน้าตาในวงเพื่อนมักเป็นเรื่องธรรมดา แต่ด้วยปัจจุบันสังคมร่วมกันสร้างวาทกรรมมายาคติขึ้นมา “จนเด็กยึดติดเป็นสรณะแห่งชีวิต” ดังนั้นเด็กคนใดถูกบูลลี่ค่อนข้างจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจอย่างมากหากเทียบกับสมัยก่อน

ดังนั้น การสร้างค่านิยมมายาคติและวัฒนธรรมในสังคม โดยเฉพาะค่านิยมความไม่เท่าเทียมในด้านการศึกษา “คนร่ำรวยนิยมนำลูกเรียนในโรงเรียนดีๆ” กลายเป็นตอกย้ำให้ผู้ถูกบูลลี่รู้สึกกระทบต่อสภาพจิตใจรุนแรง “นำไปสู่การสูญเสียความมั่นใจและชีวิตไม่มีความสุข” จนถึงขั้นคิดสั้นการฆ่าตัวตายตามมาก็ได้

ถ้ามองในแง่ “สังคม” สมัยก่อนเด็กที่จะได้รับการชื่นชมนั้น “ต้องเรียนเก่ง” ในการสร้างผลงานทางวิชาการในโรงเรียน “แต่ปัจจุบันมีพื้นที่แสวงหาการยอมรับกว้างขึ้น” ทำให้บางคนพยายามสร้างตัวตนด้วยการโพสต์ข้อความ-รูปภาพ เพื่อให้มีผู้ติดตาม กดไลค์ กดแชร์ ที่จะเป็นบทพิสูจน์การได้รับความชื่นชมชื่นชอบนั้น

ด้วยหลักพื้นฐานของเด็กแล้วมักมี 2 เรื่องต้องแสวงหา กล่าวคือ “การแสวงหาการยอมรับและการแสวงหาความเป็นที่รักต่อคนอื่น” อย่างกรณีเด็ก 19 ปี ถูกหลอกซื้อโทรศัพท์ไอโฟนจนฆ่าตัวตาย สาเหตุเพราะปัจจุบันสังคมให้ “คุณค่ากับโทรศัพท์ยี่ห้อนี้” เพื่อจะได้เป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ

แต่เมื่อจ่ายเงินเกือบครบกลับไม่ได้โทรศัพท์ “เกิดความรู้สึกย่ำแย่ผิดหวัง” กลายเป็นความเครียด แล้วยิ่งกว่านั้น “เด็กมีวิธีการจัดการปัญหาที่ไม่เหมาะสม” ส่งผลให้ตัดสินใจฆ่าตัวตายตามมาหรือไม่

ทว่าหากย้อนกลับมาพูดถึง “กระบวนการจัดการปัญหาความเครียด” สิ่งนี้เป็นพื้นฐานทักษะที่เกิดจากการได้รับอบรมเลี้ยงดูสั่งสอนในครอบครัวให้ “รู้จักขจัดปัญหาและรู้จักความอดทนอดกลั้น” เพราะสถาบันครอบครัว เป็นสังคมแรก หากต้องการให้ “เด็กมีนิสัยเป็นแบบใด” ก็ต้องเริ่มต้นที่ครอบครัวก่อนเสมอ

เช่นนี้พ่อแม่เป็นแบบอย่างสำคัญ “ในการหล่อหลอมเด็กให้มีพื้นฐานทางจิตใจและนิสัยที่ดี” สามารถขจัดปัญหาความเครียดได้อย่างเหมาะสม แต่ในทางกลับกันหากพ่อแม่เจอปัญหาแล้วหันดื่มแอลกอฮอล์ หรือการทำร้ายร่างกายต่อกันในครอบครัว สิ่งนี้ย่อมส่งผลให้เด็กเกิดการเรียนรู้ ซึมซับ เลียนแบบ จดจำวิธีแก้ไขปัญหานั้น

...

ไม่เท่านั้นยังมีอีกจำพวกคือ “สปอยล์ลูก” เมื่อต้องเผชิญปัญหามักเข้าชาร์จช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กไม่ได้ใช้ความสามารถจัดการปัญหาด้วยตัวเอง เช่น เด็กร้องไห้งอแงไม่อยากเข้าโรงเรียน “พ่อแม่ก็พากลับบ้าน” กลายเป็นการปิดโอกาสไม่ให้ทดลองคิดหรือตัดสินใจในการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

เหตุนี้การที่พ่อแม่เลี้ยงทะนุถนอมเกินไป ไม่ปล่อยให้เด็กแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ก็ทำให้เด็กขาดความภาคภูมิใจในตัวเองอันเป็นผลเชิงลบต่อ “เด็กไม่มีภูมิคุ้มกันขจัดปัญหา” แม้ว่าจะมีจำนวนคนติดตามหรือคนฟอลโลอัป ในโลกออนไลน์เยอะก็ตาม “แต่ก็เป็นเพื่อนไร้คุณภาพ” ที่ไม่อาจการันตีให้คำปรึกษาหรือช่วยเหลือได้เลย

ทำให้ส่วนตัวมองว่า “โลกออนไลน์เป็นสังคมโดดเดี่ยว” มักนำไปสู่การตัดสินใจฆ่าตัวตายง่ายขึ้น

หากย้อนดูเมื่อสมัยก่อน “เด็กค่อนข้างมีภูมิคุ้มกันขจัดปัญหาได้ดี” เพราะด้วยพื้นที่ทางสังคมต่างมีความเข้มแข็งจาก “ญาติใกล้ชิด เพื่อนบ้าน หรือโรงเรียน” จะคอยสนับสนุนค้ำจุนเป็นแบ็กอัปอยู่ตลอด แม้ว่า “พ่อแม่” จะไม่มีเวลาเลี้ยงดูเท่าที่ควรก็ตาม แล้วถ้าสังเกตพ่อแม่สมัยนั้นจะอนุญาตให้ครูทำโทษเด็กได้เมื่อทำผิด

นอกจากนี้ ยังเข้มงวดและค่อนข้างดุมาก ในบางครั้งเกิดปัญหาเรื่องไปถึงหูอาจต้องถูกทำโทษด้วยซ้ำ ดังนั้นเมื่อเด็กเจอปัญหามักจะต้องแก้ไขด้วยตัวเอง ทำให้มีภูมิคุ้มกันในการขจัดปัญหาได้ดีกว่าเด็กยุคปัจจุบัน

...

ประการถัดมา “ปัจจัยโรคซึมเศร้า” สำหรับเด็กตัดสินใจฆ่าตัวตายส่วนหนึ่งมาจากการจมปลักอยู่กับปัญหาเป็นเวลานาน แม้เคยแก้ไขมาหลายครั้งแต่ก็ไม่คลี่คลาย แถมยังคงหมักหมมสะสมเกินกำลังเด็กจะสามารถรับได้ “แถมบวกกับปัจจัยภายนอกไม่สามารถปรึกษาคนในครอบครัวได้” สุดท้ายเด็กไม่มีทางออกก็คิดสั้น

ย้ำอีกว่า “วัยรุ่นมักไม่มองโลกไกล” ส่วนใหญ่จะโฟกัสเฉพาะสิ่งที่คิดรู้สึกอยู่ เพราะเป็นวัยกำลังค้นหาตัวตนผันผวนมากที่สุด “วุ่นวายอยู่กับสิ่งที่สนใจ” ทำให้บางครั้งพ่อแม่อาจไม่เข้าใจ “ตอบสนองแบบไม่ถูกวิธี” เด็กก็จะรู้สึกไม่มีความสุข นอกจากจะแสดงออกทางอารมณ์แล้วก็จะมีพฤติกรรมต่อต้านอีกด้วย

ประเด็นปัญหาสำคัญคือ “เด็กขาดที่ปรึกษาอย่างเหมาะสม” อันเกิดจากสภาพภายในครอบครัวไม่เอื้ออำนวยด้วย พ่อ แม่ ลูก บางคนแทบไม่คุยกันด้วยซ้ำ “จนขาดการสื่อสารร่วมกัน” เมื่อเด็กต้องเผชิญกับปัญหาก็มักหันหาโลกออนไลน์ “โพสต์ข้อความระบาย” ทำให้มีคอมเมนต์ที่ไม่เหมาะสมส่งผลต่อความรู้สึกตกต่ำลงเรื่อยๆ

ซ้ำร้ายพอไป “ปรึกษาครู” กลับไม่เข้าใจความรู้สึกของนักเรียน และโทรศัพท์แจ้งผู้ปกครอง แล้วด้วยปัจจุบันแม้ว่าจะมีสายด่วนปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเยอะขึ้น หรือ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 ให้เด็กต่ำกว่า 18 ปี เข้ารักษาสุขภาพจิตโดยไม่ต้องผ่านผู้ปกครอง “แต่ยังมีเด็กเข้าไม่ถึงอีกมาก” จึงไม่อาจป้องกันการฆ่าตัวตายในเด็กได้

...

ทว่าในเชิง “การป้องกัน” ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นสถาบันครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สถาบันทางศาสนา รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จำเป็นต้องร่วมมือกันสร้างการเรียนรู้ทักษะต่อ “เด็ก” ให้สามารถมีวิจารณญาณรอบด้านอย่างเหมาะสม เพื่อให้เกิดกระบวนการแก้ปัญหาเป็นระบบตามขั้นตอน

โดยเฉพาะต้องรู้จัก “ยืดหยุ่นสามารถควบคุมอารมณ์” ทั้งยังต้องมีความทนทานทางด้านจิตใจ “เมื่อเจอปัญหาไม่ควรตอบสนองสิ่งนั้นเร็วเกินไป” แล้วต้องฟื้นฟูสภาพจิตใจให้กลับคืนมาได้โดยไม่จมปลักอยู่กับความรู้สึกผิดหวังนาน เพราะสิ่งนั้นไม่ได้ช่วยในการแก้ไขปัญหาอะไรให้ดีขึ้น

สุดท้ายอย่าลืมว่า “ปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็ก” สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งครอบครัวคนร่ำรวยและครอบครัวยากจน เพราะแต่ละครอบครัวล้วนมีปัญหาแตกต่างกันเพียงแต่ว่า “คนรวย” อาจมีปัจจัยความเสี่ยงน้อยกว่า “คนจน” ที่เกิดจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจอันมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตความเป็นอยู่นั้น

ฉะนั้นย้ำว่า “ถ้าเด็กรู้สึกมีคุณค่าและเป็นที่รักของคนอื่น” จะช่วยลดปัญหาฆ่าตัวตายลงได้ แต่สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวเกี่ยวเนื่องกับ “คนรอบข้าง” ที่จะคอยสร้างให้เขาภาคภูมิใจในตัวเองเป็นสำคัญ.

คลิกอ่านคอลัมน์ "สกู๊ปหน้า 1" เพิ่มเติม