นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 34 (34th ASOEN) และการประชุมระหว่างอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 31 ก.ค.-4 ส.ค.2566 ที่เมืองโบโกร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เพื่อพบปะหารือถึงความร่วมมือใน 7 สาขาหลัก ได้แก่ การอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพสิ่งแวดล้อม ทางทะเลและชายฝั่ง การจัดการทรัพยากรน้ำ สิ่งแวดล้อมเมืองที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการสารเคมีและของเสีย และสิ่งแวดล้อมศึกษา การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน รวมถึงการดำเนินการตามข้อตกลงต่างๆของอาเซียน ในส่วนของประเทศไทย
โดย ทส.ได้มีการพิจารณาเอกสารสำคัญที่จะมีการรับรองในการประชุมดังกล่าว อาทิ ร่างแถลงการณ์ร่วมอาเซียนว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (ASEAN Joint Statement on Climate Change to UNFCCC COP28) ร่างแผนปฏิบัติการอาเซียนเพื่อการจัดการชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (ASEAN Action Plan on Invasive Alien Species: IAS) การเสนอชื่อโรงเรียน และผู้เข้ารับรางวัล the 4th ASEAN Eco-Schools Award และ the 2nd ASEAN Youth Eco-Champions Award การเสนอพื้นที่คุ้มครองเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานมรดกอาเซียน ในปี 2566 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จ.ชัยภูมิ อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ และอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย
รองปลัด ทส.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ตนได้ขอให้แต่ละหน่วยงานพิจารณาเสนอประเด็นที่หน่วยงานมีศักยภาพและสนใจผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศสมาชิกอาเซียน พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตถึงการหาแนวทางดำเนินงานความร่วมมือภายใต้กรอบอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมว่า อาจจะต้องมีการพิจารณาถึงแนวทางการยกระดับความร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์ที่อาเซียนจะกำหนดนโยบายหรือสร้างมาตรฐานร่วมกันด้านสิ่งแวดล้อม โดยแต่ละประเทศสามารถที่จะมีการดำเนินงานในระดับที่แตกต่างกันตามบริบทของแต่ละประเทศได้ และจะได้พัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อไปสู่มาตรฐานร่วมกันอย่างเข้มแข็งต่อไป.
...