“โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จังหวัดแม่ฮ่องสอน” หรือที่หลายคนอาจคุ้นเคยกว่าในชื่อของ “โครงการผันน้ำยวม” หรือโปรเจกท์ยักษ์ระดับหมื่นล้านที่มีเป้าหมายคือการสร้างความมั่นคงทรัพยากรทางน้ำให้กับประเทศในองค์รวมตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) โดยการผันน้ำส่วนเกินจากลำน้ำยวมมาเก็บที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลเพื่อรองรับการใช้งานภายในลุ่มน้ำเจ้าพระยาทั้งในปัจจุบันและอนาคตที่นับวันยิ่งขยายตัว

โครงการดังกล่าวได้รับการศึกษาว่าจะสร้างผลประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของเศรษฐศาสตร์ เพราะการผันน้ำจะไม่ได้ช่วยแค่ภาคการเกษตรเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว อุปโภคบริโภค ทั้งสำหรับผู้ใช้น้ำในภาคกลาง และผู้อยู่อาศัย ณ บริเวณจุดสร้างเขื่อนน้ำยวม ที่จะได้รับประโยชน์จากการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ในด้านต่างๆ ทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม โครงการผันน้ำยวมนี้นับได้ว่าเป็นโครงการใหญ่ที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก ตลอดระยะเวลาศึกษาโครงการนับตั้งแต่เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2559 จนกระทั่งโครงการผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เมื่อปีที่ผ่านมาจึงได้มีทั้งคำถามและข้อห่วงใยเกี่ยวกับการก่อสร้างเกิดขึ้นมากมาย และเพื่อจะตอบคำถามพร้อมเปิดมุมมองที่มีต่อโครงการไปพร้อมกัน เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา กรมชลประทานจึงจัดเวทีเสวนา “'ได้' หรือ 'เสีย' เปิดทุกมุมมอง ตอบทุกประเด็นโครงการผันน้ำยวม” ณ หอประชุมชูชาติ กำภู สถาบันพัฒนาการชลประทาน กรมชลประทาน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี พร้อมถ่ายทอดสดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เพื่อให้ผู้สนใจร่วมรับฟังและส่งข้อคำถามถึงผู้เชี่ยวชาญแต่ละแขนงได้

โดยงานเสวนาครั้งนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายภาคส่วนร่วมให้ความเห็น พูดคุยถึงข้อดีข้อเสียและเหตุผลว่าทำไมโครงการผันน้ำยวมจึงมีความจำเป็นด้วยข้อเท็จจริง ครอบคลุมทั้งในประเด็นเรื่องสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งอาจส่งผลต่อภัยน้ำท่วมน้ำแล้ง, แนวทางจัดการน้ำของกรมชลประทานในปัจจุบันและอนาคต, แนวคิดในการเพิ่มผลผลิตเพื่อให้การใช้น้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมไปถึงกระบวนการจัดการในการก่อสร้างที่เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน ด้วยความเข้าใจผู้มีความกังวลในทุกภาคส่วน

จุดเริ่มต้นของโครงการผันน้ำยวมเกิดจากการมองหาแนวทางเพื่อจะเพิ่มปริมาณ “น้ำต้นทุน” ให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลที่มีความเสี่ยงจะขาดแคลน โดยคุณพรชัย กันสิทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพื้นที่เฉพาะและโครงการสำคัญ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ให้ข้อมูลว่า ปริมาณน้ำท่าของไทยในแต่ละปีอยู่ที่ราวๆ 210,000 ล้าน ลบ.ม. แต่เราสามารถกักเก็บได้ราวๆ 82,000 ล้าน ลบ.ม. หรือราวๆ 40% เท่านั้น ทั้งที่ความต้องการใช้น้ำของไทยอยู่ที่ประมาณ 110,000 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นมีความต้องการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้าน ลบ.เมตร อย่างไรก็ตามปริมาณน้ำต้นทุน ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลมีปริมาณเฉลี่ยปีละ 5,642 ล้าน ลบ.ม. เท่านั้น ซึ่งหากโครงการผันน้ำยวมแล้วเสร็จจะสามารถช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้เนื่องจากจะสามารถผันน้ำมาได้ถึงปีละประมาณ 1,795.25 ล้าน ลบ.ม. (ซึ่งเป็นปริมาณเท่ากับ 60% ของน้ำท่าในลำน้ำยวม ซึ่งเป็นปริมาณที่เหมาะสมตามทฤษฎี) และน้ำที่ผันมาเมื่อรวมกับน้ำต้นทุนเดิมในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลจะมีปริมาณประมาณ 7,437 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานในพื้นที่ทั้งหมด

คุณพรชัย เสริมอีกว่าหน่วยงานจำเป็นต้องคิดถึงอนาคต เนื่องจากปัจจุบันพฤติกรรมน้ำของไทยเปลี่ยนแปลงไปมาก มีความแปรปรวนไม่แน่นอน มีการตกติดกัน มีการทิ้งช่วง ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงจึงจำเป็น โดยโครงการนี้จะช่วยเรื่องความมั่นคงได้อย่างมากตามแผนงานแม่บทน้ำ 20 ปี โดยสิ่งที่เราจะต้องดำเนินการต่อไปคือเมื่อผันมาได้แล้วจะใช้งานกันอย่างไร

ในประเด็นเรื่องการใช้งาน รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชลประทาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่ได้รับรางวัล ผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านน้ำ ประจำปี 2564 จากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในเรื่องการบริหารจัดการน้ำ ประเทศไทยได้ดำเนินงานควบคู่กันใน 2 มิติ ในมิติแรกคือแนวทางดังเช่นที่ทำมาในอดีตคือการเสาะแสวงหาแหล่งน้ำเพิ่มเติม การสร้างแหล่งน้ำเพิ่ม รวมไปถึงการดึงน้ำจากแหล่งอื่นมาใช้ ส่วนในมิติที่สองคือการประหยัดน้ำต้นทุน ซึ่งด้วยวิธีการ 3R Recycle Reduce Reuse ซึ่งที่ผ่านมาเรามีการใช้วิธีนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ค่อนข้างเยอะ แต่สิ่งที่จะต้องเร่งต่อไปคือการลดการใช้น้ำในทุกภาคส่วน โดยเป้าหมายของประเทศคือลดให้ได้ 15% หรือกล่าวได้ว่าการบริหารจัดการด้วยหลากหลายแนวทางนั้นเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อรองรับอนาคต

นอกจากนี้ รศ.ดร.บัญชา ยังเน้นย้ำอีกด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงในภาคการเกษตรก็เป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ อาทิ การปรับวิธีการปลูกพืชที่จะใช้น้ำน้อยลง ให้ผลผลิตมากขึ้น รวมไปถึงการมองหาพันธุ์พืชใหม่ๆ ที่มีคุณภาพมากขึ้น หรือเป็นที่ต้องการของตลาดโลกมากขึ้น ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะทำให้ผลกำไรต่อไร่มีความคุ้มค่ากับต้นทุนน้ำมากขึ้น นับเป็นวิธีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพอีกทางหนึ่ง

เรื่องการปรับตัวและมองหาวิธีใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพในการใช้น้ำ นับว่าสอดคล้องไปกับข้อมูลทางวิชาการโดย รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ได้คาดการณ์เอาไว้ว่าประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่การเผชิญภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างสุดขั้วและหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะมีวิกฤติน้ำท่วมที่มากกว่าเดิมและภัยแล้งต่อเนื่องยาวนาน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่เราต้องมองหาวิธีที่จะอยู่ร่วมกับมันให้ได้ ซึ่งโครงการน้ำยวมก็เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยตรงนี้ อย่างไรก็ตาม ที่ รศ.ดร.เสรี เน้นย้ำอย่างมากคือเรื่องการศึกษาไปที่ Outcome หรือผลลัพธ์ที่ผู้ใช้น้ำจะได้ เพราะลำพังแค่การเติมน้ำผันมาอย่างเดียวจะไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด แต่ต้องรวมถึงการปรับกระบวนการผลิต มองหาวิธีให้เกษตรกรอยู่ดีกินดี ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดย รศ.ดร.เสรี ได้ฝากความเห็นไว้ว่า

“อนาคตอุณหภูมิมันจะสูงขึ้นอย่างไม่มีขีดจำกัด เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นน้ำต้นทุนก็ระเหย การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะกระทบต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น เดี๋ยวแล้ง เดี๋ยวท่วม เราปฏิเสธไม่ได้ แต่ถามว่าเราจะอยู่ยังไงกับมัน คือโครงการนี้แน่นอน ถ้าเรามองเฉพาะว่าเราเอาน้ำมาให้ แน่นอนว่ามันดีอยู่แล้ว แต่คำถามต่อไปคือ เอาน้ำมาให้แล้ว ประสิทธิภาพการใช้น้ำดีหรือเปล่า มันอยู่ที่การจัดการด้วย”

เรื่องของการปรับตัวในภาคการเกษตร นายศรชัย สิบหย่อม ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำ อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ได้ร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาว่า ปัจจุบันเกษตรกรเองก็มีความคุ้นชินกับการปรับตัวมากขึ้นจากการที่ได้ใกล้ชิดกับกรมชลประทานและรับทราบนโยบายปล่อยน้ำในแต่ละปีมาโดยตลอด จึงค่อนข้างมั่นใจว่าภาคการเกษตรจะสามารถให้ความร่วมมือได้กับแนวทางต่างๆ ที่ส่วนกลางแนะนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตนเองในฐานะเกษตรกรมีความยินดีอย่างมากที่โครงการนี้จะเกิดขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่าปริมาณน้ำที่ผันเข้ามาจะทำให้กลุ่มเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม

โดย นายศรชัย ได้เอ่ยถึงเขื่อนภูมิพลว่าก่อนหน้าที่จะสร้างก็มีการตั้งคำถามถึงโครงการกันค่อนข้างมาก แต่เมื่อแล้วเสร็จเขื่อนแห่งนี้ก็สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมหาศาลในพื้นที่นับตั้งแต่ใต้เขื่อนลงมา ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร ในฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปิง และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม

จากการแลกเปลี่ยนความเห็นในวงเสวนา ข้อมูลชี้ตรงกันว่าโครงการนี้สามารถสร้างความมั่นคง ลดความเสี่ยง สร้างโอกาสใหม่ๆ และลดการเสียโอกาสได้อย่างมาก อย่างไรก็ตาม หนึ่งในข้อกังวลที่ถูกสอบถามคือกระบวนการก่อสร้างจะส่งผลต่อบริเวณโดยรอบมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะเรื่องของการรบกวนธรรมชาติ ป่าไม้ ปลาท้องถิ่น และชุมชนต่างๆ

ในด้านนี้ รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ ผู้อำนวยการหน่วยวิจัยและพัฒนาบูรณาการเกษตรและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ชี้แจงถึงประเด็นต่างๆ ว่า ที่จริงแล้วโครงการได้มีผู้เชี่ยวชาญประเมินทุกผลกระทบอย่างเข้มข้นจนสามารถผ่านการรับรอง EIA ได้ โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม มิใช่การจัดทำอย่างเร่งด่วน โดยก่อนหน้านี้อาจมีการส่งต่อความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนสู่ภาคประชาชน แต่นับจากนี้หลังจากที่ EIA ผ่าน ทางผู้เกี่ยวข้องและกรมชลประทานก็จะเดินหน้าสื่อสารข้อเท็จจริงแก่ผู้ที่ยังมีข้อห่วงใยอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน

นอกจากนี้ ร.ต.สงัด สมฤทธิ์ ผู้ประสานงานสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 กรมชลประทาน ยังได้ร่วมสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่โครงการที่ยังกังวลใจอีกว่า ในจุดทิ้งกองวัสดุจะมีการปรับพื้นที่ให้คนในชุมชนได้รับประโยชน์ร่วมกับการพัฒนาโครงการทั้งในเรื่องถนนและระบบไฟฟ้า นอกจากนี้ยังได้มีการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่เรื่องการอนุรักษ์แหล่งน้ำ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยทางด้านของนายชูลิต วัชรสินธุ์ ผู้เชี่ยวด้านการวางโครงการ/บริหารจัดการน้ำ บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้กล่าวเสริมเรื่องค่าใช้จ่ายว่าต้นทุนน้ำที่ผันมาจะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำเพราะระบบชลประทานในพื้นที่เก็บน้ำนั้นสมบูรณ์อยู่แล้ว นอกจากนั้น ยังไม่มีการเก็บค่าน้ำเพื่อการเกษตรกรรมเพราะโครงการนี้นับว่าเป็นสวัสดิการเพื่อประชาชน ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561

บทสรุปในงานเสวนาครั้งนี้ แม้ยังไม่มีคำตอบที่แน่ชัดว่าโครงการจะสร้างประโยชน์ได้ดังที่วางแผนไว้มากน้อยแค่ไหน แต่ก็นับได้ว่าเป็นก้าวแรกที่น่าสนใจอย่างยิ่งจากการที่เวทีเป็นการรวมผู้เชี่ยวชาญจากหลายวงการมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อมองหาประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการผันน้ำยวมไปด้วยกัน ซึ่งโครงการนี้อาจจะมีส่วนสำคัญในการทำให้ประเทศไทยก้าวข้ามวิกฤตภูมิอากาศที่จะส่งผลถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่นานนัก ดังที่ รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ได้ฝากเอาไว้ว่า

“IPCC คาดการณ์ว่าอนาคตข้างหน้าแล้งหนักแน่ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญต่างบอกว่ามันไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว มันเร็วกว่านั้น อัตราเร่งมันใกล้ตัวมากขึ้น อนาคตหนีไม่พ้นเรื่องแล้ง อย่าไปบอกว่าจะไม่เจอ เพราะมันมีแน่ๆ คำถามคือจะแก้ปัญหายังไง มันมีความจำเป็นที่เราต้องปรับ เรื่องของน้ำยวมก็เป็นหนึ่งในมาตรการเพื่อการนี้”

ทั้งนี้ จากการศึกษามีการประเมินกันว่าเมื่อโครงการแล้วเสร็จจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมจากผลประโยชน์ด้านการเกษตรได้มากกว่า 17,431 ล้านบาทต่อปี และในส่วนของประโยชน์ทางอ้อมก็มีทั้งการผลิตพลังงานไฟฟ้า, การผลักดันน้ำเค็ม, การสร้างโอกาสทางอาชีพ และการติดปีกให้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งในบริเวณเขื่อนน้ำยวมและในพื้นที่ทะเลสาบดอยเต่า ซึ่งจะกลายเป็นจุดล่องแพที่เที่ยวได้ตลอดทั้งปี ไม่ใช่แค่ในเดือนที่มีน้ำอย่างที่เคยเป็นมา

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวหลังจากนี้ของโครงการผันน้ำยวมก็ยังเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องติดตามใกล้ชิด ในฐานะโครงการสำคัญที่อาจจะช่วยทำให้วิถีชีวิตในอนาคตของคนไทยทุกคนมีความมั่นคงมากขึ้น ด้วยทรัพยากรน้ำที่มีเสถียรภาพและยั่งยืน

ติดตามข้อมูลโครงการผันน้ำยวมเพิ่มเติมได้ที่ Facebook official page : กรมชลประทาน