ภาคเหนือยังสำลักฝุ่นและควัน เหตุเผากันไม่หยุด ส่งผลฝุ่นและควันเต็มฟ้า สาหัสถึงขั้น “ดอยสุเทพ-ดอยหลวง เชียงดาว” หาย โดย จ.เชียงใหม่ ทำสถิติติดอันดับ 1 เมืองคุณภาพอากาศแย่สุดของโลกต่อเนื่อง ส่วน “เชียงราย-แม่ฮ่องสอน” ไม่น้อยหน้า พบการเผาพื้นที่เกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน “เมียนมา-ลาว” ควันลอยทะลักเข้าไทย ขณะที่ GISTDA ระบุล่าสุดไทยยังพบจุดความร้อนกว่า 1 พันจุด มากสุดที่ “แม่ฮ่องสอน” ขณะที่ กทม.อากาศเริ่มดี มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐานแค่ 2 จุด

ภาคเหนือของไทยยังอ่วมจากฝุ่นพิษและควันไฟป่า โดยเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานถึงคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงทวีความรุนแรงและค่ามลพิษอากาศสูงเกินมาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง โดยสภาพทั่วตัวเมืองเชียงใหม่ถูกปกคลุมด้วยฝุ่นควันหนาทึบจนไม่สามารถมองเห็นยอดดอยสุเทพได้จากระยะไกลเหมือนปกติ แสงแดดไม่แรง และเป็นเช่นนี้ติดต่อมานานหลายสัปดาห์ เช่นเดียวกับ อ.เชียงดาว มีทั้งฝุ่นและควันปกคลุมหนา จนมองไม่เห็นดอยหลวงเชียงดาว ทั้งนี้ นายอดิศักดิ์ คุ้มเมือง สท.เทศบาลตำบลเชียงดาว กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่หมอกควันหนาแน่นจนมองไม่เห็นดอยหลวงเชียงดาว ถึงแม้ไฟป่าใน อ.เชียงดาว จะมีน้อยมากเพราะเจ้าที่เฝ้าระวังกันอย่างเต็มแล้ว จึงเชื่อว่าหมอกควันที่เข้ามาปกคลุมลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกัน ซึ่งวันนี้ดูจะหนักกว่าทุกๆวัน

...

ด้านเว็บไซต์ Iqair.com ระบุผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษทั่วโลก ปรากฏว่า ตั้งแต่ช่วงสายจนถึงเย็น จ.เชียงใหม่ มีดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อยู่ที่ 212 และค่าฝุ่นขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) วัดได้ 161ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ซึ่งผลการตรวจวัดดังกล่าวสูงเป็นอันดับ 1 ของเมืองหลักที่มีมลพิษอากาศสูงสุดของโลก ซึ่ง จ.เชียงใหม่ อยู่อันดับที่ 1 เมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูงสุดของโลกมาตลอดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่การตรวจวัดคุณภาพอากาศ จากสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษในต.ช้างเผือก ต.ศรีภูมิ ต.สุเทพ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ต.ช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม ต.เมืองนะ อำเภอเชียงดาว และ ต.หางดง อำเภอฮอด พบค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ยในรอบ 24 ชั่วโมง อยู่ที่ 109 มคก./ลบ.ม., 97 มคก./ลบ.ม., 108 มคก./ลบ.ม., 102 มคก./ลบ.ม., 141มคก./ลบ.ม. และ 129 มคก./ลบ.ม. ตามลำดับ ส่วนค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) อยู่ที่ 219, 207, 218, 212, 251 และ 239 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า เมื่อเวลา 12.00น.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ บินปฏิบัติการเพื่อบรรเทาปัญหาหมอกควันและไฟป่า โดยใช้เครื่องบินเกษตรชนิด CASA จำนวน 2 ลำ ใน 4 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ 1.พื้นที่ป่าไม้ อ.เมืองปาน อ.แม่เมาะ อ.แม่ทะ อ.เมืองลำปาง จ.ลำปาง 2.พื้นที่ป่าไม้เขต อ.อมก๋อย อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ 3.พื้นที่ป่าไม้ อ.สามเงา อ.แม่สอด อ.แม่ระมาด จ.ตาก 4.พื้นที่ป่าไม้ อ.ลี้ จ.ลำพูน

นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 13.00 น. มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดอาการวูบและเสียชีวิตที่บริเวณลานเฮลิปคอปเตอร์ จุดจอดรถนักท่องเที่ยวบนดอยอินทนนท์ จ.เชียงใหม่ ทหารได้นำตัวส่ง รพ.จอมทอง เบื้องต้นทราบว่านักท่องเที่ยวคนดังกล่าวมีรูปร่างสูงใหญ่ ผิวดำ อายุประมาณ 50-60 ปี ไม่ทราบสัญชาติ มาท่องเที่ยวกับกรุ๊ปทัวร์(รถตู้) เมื่อไกด์นำนักท่องเที่ยวคนอื่นๆลงมาเที่ยวที่พระบรมธาตุฯ แต่นักท่องเที่ยวคนดังกล่าวไม่ลงมากับคณะ อยู่ที่รถตู้ตามลำพัง เมื่อไกด์พาคณะกลับมาที่รถ พบนักท่องเที่ยวหมดสติ จึงช่วยกันปฐมพยาบาลเบื้องต้น แต่พบเสียชีวิตแล้ว ส่วนสาเหตุการเสียชีวิต เจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่าอาจมาจากปัญหาสุขภาพของผู้ตาย ประกอบกับบนยอดดอยอินทนนท์ช่วงนี้ความกดอากาศต่ำ อากาศค่อนข้างร้อนอบอ้าวกว่าปกติและมีฝุ่นควันปกคลุมไปทั่ว อย่างไรก็ตาม แพทย์จะตรวจหาสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงต่อไป

ส่วนสถานการณ์ฝุ่นและควันใน จ.เชียงราย ยังเกินค่ามาตรฐานทะลุไปที่ 153 มคก./ลบ.ม.สูงต่อเนื่องมากว่า 1 เดือน โดยเฉพาะชายแดน อ.แม่สาย ติดท่าขี้เหล็กฝั่งเมียนมา กรมควบคุมมลพิษแจ้งตรวจพบปริมาณฝุ่น PM 2.5 ที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย 153 มคก./ลบ.ม.ส่วนที่ ต.เวียง อ.เชียงของ ตรงข้ามแขวงบ่อแก้ว ฝั่ง สปป.ลาว ตรวจวัดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ได้ 106 มคก./ลบ.ม.และ ต.เวียง อ.เมือง ฝุ่น PM 2.5 วัดได้ 100 มคก./ลบ.ม. ซึ่งทั้งสามจุด ค่าฝุ่น PM 2.5 สูงต่อเนื่องกว่า 30 วัน ส่งผลให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ต้องใช้ผ้าปิดจมูกป้องกันเจ็บคอ แสบตา เวลาออกไปพื้นที่โล่งตลอดทั้งวัน

สาเหตุของฝุ่นและควันยังคงมาจากการเผาวัชพืช เศษวัสดุในการเกษตร และการเผาป่าเพื่อบุกรุกเตรียมทำการเกษตร แม้ทางราชการประกาศห้ามการเผาตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ.-15 เม.ย. แต่ยังคงมีการเผาป่าภายในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง ตลอดถึง จ.ท่าขี้เหล็ก ฝั่งเมียนมา และแขวงบ่อแก้วฝั่งสปป.ลาว มีบริษัทไทยไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพด ทำให้มีการเผาป่าขนาดใหญ่ เกิดปัญหาหมอกควันไฟลอยข้ามแดน สร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม กระทบต่อสุขภาพผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ ที่สำคัญมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก

สำหรับ จ.แม่ฮ่องสอน ยังพบค่าฝุ่น PM2.5 สูงต่อเนื่อง ล่าสุดช่วงบ่ายวันที่ 12 มี.ค. นายสุรเชษฐ์ พุ้ยน้อย นายอำเภอแม่สะเรียง นำเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆบูรณาการฉีดพ่นละอองน้ำลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศและสร้างความชุ่มชื้น เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ นายสุรเชษฐ์เปิดเผยว่า สภาพอากาศใน อ.แม่สะเรียง เข้าขั้นวิกฤติที่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยมีจุดความร้อนสะสมสูงสุดในจังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมจำนวน 571 จุด และมีปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีค่า 104 มคก./ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพเกินกว่า 14 วัน ขณะที่ศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนรายงานจำนวนจุดความร้อนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-10 มี.ค.2566 จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีจุดความร้อนสะสมทั้งหมด 2,313 จุด คิดเป็นร้อยละ 44.36 ของจุดความร้อนสะสมปี 2565 หรือ คิดเป็นร้อยละ 24.66 ของค่าเป้าหมายปี 2566 ซึ่งทางจังหวัดตั้งเป้าหมายปี 2566 ไม่เกิน 9,378 จุด อำเภอที่มีจุดความร้อนสูงสุด ได้แก่ อ.แม่สะเรียง จำนวน 571 จุด รองลงมาคือ อ.ปาย 456 จุด อ.เมืองฯ 391 จุดอ.ปางมะผ้า 356 จุด อ.แม่ลาน้อย 203 จุด อ.ขุนยวม 183 จุด อ.สบเมย 156 จุด

...

ขณะที่ในจังหวัดพะเยาตลอดวันที่ 12 มี.ค.ยังคงจมอยู่ในม่านหมอกฝุ่นพิษ PM 2.5 ทำให้ทัศนวิสัยในการมองเห็นการขับขี่บนท้องถนนลดลง 10-20 เมตร สังเกตเห็นละอองฝุ่นควันปกคลุมไปทั่วท้องถนนและตัวเมือง จากผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่ ต.บ้านต๋อม อ.เมืองพะเยา พบปริมาณฝุ่น PM 2.5 มีค่า 115 มคก./ลบ.ม. และค่า AQI อยู่ที่ 225 อยู่ในเกณฑ์มีผลกระทบต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงบ่ายวันเดียวกันเริ่มเกิดพายุฤดูร้อนพัดถล่มพร้อมกับมีลูกเห็บตกในบางพื้นที่ภาคเหนือ ตามที่กรมอุตุนิยม วิทยาคาดการณ์ไว้ อาทิ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน มีลูกเห็บลักษณะเป็นเกล็ดน้ำแข็งตกลงมาบนหลังคาบ้าน และพื้นจนขาวโพลน แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหายใดๆ

จากนั้นช่วงเย็นเว็บไซต์ air4thai กรมควบคุมมลพิษ สรุปคุณภาพอากาศตลอดวัน พบค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานในภาคเหนือพื้นที่เดิมๆ อาทิ จ.แม่ฮ่องสอน ที่บริเวณ ต.เวียงใต้ อ.ปาย ต.แม่คง อ.แม่สะเรียง ต.จองคำ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน ส่วน จ.เชียงใหม่ ที่ ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม ต.สุเทพ ต.ศรีภูมิ ต.ช้างเผือก อ.เมืองเชียงใหม่ ต.เมืองนะ อ.เชียงดาว ต.หางดง อ.ฮอด จ.เชียงราย ที่ ต.เวียง อ.เชียงของ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย จ.ลำพูน ที่ ต.ลี้ อ.ลี้ ต.บ้านกลาง อ.เมืองลำพูน จ.ลำปาง ที่ ต.แม่เมาะ ต.บ้านดง ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง จ.สุโขทัย ที่ ต.ธานี อ.เมืองสุโขทัย ฯลฯ ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐานในหลายจังหวัด อาทิ ที่ ต.ในเมือง อ.เมืองอุบลราชธานี ต.ลำภู อ.เมืองหนองบัวลำภู ต.มีชัย อ.เมืองหนองคาย ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา ต.ในเมือง อ.เมืองนครพนม เป็นต้น ส่วน กทม. และปริมณฑลยังพบค่าฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐานแค่ 2 พื้นที่ คือริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ที่วัดค่าฝุ่นได้มากสุดที่ 56 มคก./ลบ.ม. ค่า AQI 114 และริมถนนเลียบวารี เขตหนองจอก

...

ขณะที่สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เปิดเผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิเอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) พบจุดความร้อน (Hotspot) ในประเทศไทย จำนวน 1,061 จุด ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 383 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ278 จุด พื้นที่เกษตร 192 จุด พื้นที่เขต สปก. 123 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ 78 จุด พื้นที่ริมทางหลวง 7 จุด โดยจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน 127 จุด