กฎหมายใหม่คลอดออกมาแล้วหลายฉบับเพื่อแก้ปัญหาสังคม

เช่น พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง ประกาศใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2566 เชื่อว่าจะสามารถลดการกระทำความผิดซ้ำของบรรดาคนร้ายคดีทางเพศและทำร้ายร่างกายลงได้

เนื่องจากแม้จะพ้นโทษไปแล้วคนร้ายยังจะถูกติดตามด้วย “กำไลอีเอ็ม” ได้นานสุดถึง 10 ปี

เกิดขึ้นจากคดีฆาตกรต่อเนื่อง “สมคิด พุ่มพวง” ที่วนเข้าออกเรือนจำในคดีฆ่าผู้หญิงหลายศพ นำมาสู่การผลักดันให้มีกฎหมายเพื่อจัดการกับ “ผู้กระทำความผิดซ้ำไปซ้ำมา”

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ยอมรับว่า เหตุการณ์อาชญากรรมสะเทือนขวัญหลายครั้งที่ปรากฏ ผู้กระทำความผิดเคยมีประวัติการกระทำความผิด เป็นเรื่องน่ากังวลและเป็นภัยต่อสังคม เราได้ให้ความสำคัญต่อปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการตามมาตรการของตำรวจ รวมถึงการสนับสนุนประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“มีมาตรการควบคุมกลุ่มบุคคลเฝ้าระวังที่มีแนวโน้มว่าจะกระทำผิดซ้ำ ให้กองทะเบียนประวัติอาชญากร กองพิสูจน์หลักฐาน และสถานีตำรวจในพื้นที่ปฏิบัติร่วมกัน จัดทำข้อมูลเชิงสถิติในพื้นที่ต่างๆ ว่า มีบุคคลพ้นโทษ หรือพักการลงโทษในพื้นที่เท่าไหร่ สามารถตรวจสอบยืนยันแหล่งที่อยู่ได้หรือไม่” พล.ต.ท.จิรภพว่า

ตามตัวเลขพบผู้กระทำผิดอาจจะเริ่มจากอนาจาร แต่เมื่อพ้นโทษมาแล้วอาจจะกลับไปก่อเหตุซ้ำ หรือรุนแรงกว่าเดิม
เพราะตัวผู้กระทำความผิดมีภาวะทางจิต “นิสัยหมกมุ่น” เกี่ยวกับเรื่องเพศ

ดังนั้นในมุมมองของนายพลหนุ่มแม่ทัพสอบสวนกลางเห็นว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่เป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านในการควบคุมผู้กระทำผิดไม่ให้กลับไปก่อเหตุซ้ำขึ้นอีก

...

เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของตำรวจ ตลอดจนเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

ทำให้ประชาชนและสังคมเกิดความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น.

สหบาท