การขยายตัว “ภาคอุตสาหกรรมในไทย” กำลังเพิ่มปริมาณกากของเสียฯที่ไม่ผ่านกระบวนการบำบัดจำนวนมหาศาล “ก่อให้เกิดการลักลอบฝังกลบ-ลักลอบทิ้งสารมลพิษ” ตามพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นทุกวัน

จนประเทศกำลังเผชิญ “มลพิษสะสมปนเปื้อนลงสู่ดิน อากาศ และน้ำใต้ดิน” สร้างผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ “ส่งผลเสียต่อสุขภาพประชาชนสิ่งมีชีวิต” จนสถานการณ์เลวร้ายรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

ทำให้ไม่นานมานี้ Thai Climate Justice for All ร่วมกับสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากร และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จัดเวที Ted Talk Climate Change สิ่งแวดล้อมประจำปี 2565 จากมุมมองนักเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม และนักวิชาการทำงานกับประชาชนแต่ละด้าน

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวในหัวข้อปัญหามลภาวะอุตสาหกรรมและขยะว่า ในรอบปีที่ผ่านมา “กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)” พยายามกระตุ้นให้โรงงานอุตสาหกรรมส่งรายงานการกำจัดกากของเสียทั้งหมดเข้าสู่ระบบตามกฎหมาย “แล้วมีอย่างน้อย 65,000 โรงงาน” ยังไม่รายงาน การกำจัดของเสียประจำปี

...

ตรงนี้กลายเป็นปัญหาใหญ่ “ในไทย” เพราะไม่สามารถควบคุมกากของเสียอุตสาหกรรมอันตรายนำเข้าระบบการจัดการตามกฎหมายได้ สังเกตจากปี 2558 ปริมาณกากของเสียฯรายงานอยู่ที่ 3.35 ล้านตัน ปี 2563 จำนวน 1.28 ล้านตัน ปี 2564 จำนวน 1.50 ล้านตัน ทำให้เห็นว่าตัวเลขปี 2563-2564 ลดลงหายไป 1 ล้านตันหรือไม่

ตามที่เฝ้าติดตามมาตลอดกลับปรากฏพบ “การลักลอบทิ้งกากของเสียอุตสาหกรรมอันตราย” ในหลายพื้นที่ตั้งแต่ปี 2560-2564 เท่าที่รวบรวมจากข่าวผ่านสื่อมวลชนมีอยู่ 280 ครั้ง ด้วยการนำไปทิ้งกระจายตามพื้นที่สาธารณะ ชุมชน หรือบ่อดินฝังกลบอื่นอีกมากมาย

ส่วนใหญ่พบ “ถูกทิ้งไว้ในรูปแบบน้ำเสีย กากน้ำมัน กากของแข็ง” ในปี 2565 มีการลักลอบทิ้งกากของเสียฯ 10 ครั้ง ทิ้งน้ำเสียโรงงาน 22 ครั้ง ส่วนการฟื้นฟูอย่างกรณี ต.บ้านดีลัง จ.ลพบุรี ต้องใช้เงิน 800 ล้านบาท

ความจริงที่เป็นอยู่ “หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบ” กลับพยายามพูดเชื่อมโยงนโยบายของตัวเองให้เข้ากับเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเฉพาะประเด็นการควบคุมกากของเสียอันตรายด้วยการตั้งระบบ e-fully manifest ขึ้นมาใช้ในการอนุญาตและติดตามรถขนกากอุตสาหกรรมอันตรายออกนอกโรงงานแบบทันทีและตลอดเวลา

ตั้งข้อสงสัยว่า “ระบบ e–fully manifest” ถ้าทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง “กากอุตสาหกรรม” คงไม่อาจหลุดรอดออกนอกระบบเข้าสู่วงจรการกำจัดบำบัดได้ถูกต้อง แต่ปัจจุบันตัวเลขกลับหายไป 1 ล้านกว่าตัน...?

ไม่เท่านั้น “หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรม” ยังพยายามช่วยเหลือผู้ประกอบการ “ลดต้นทุนการกำจัดของเสียจากกระบวนการผลิต” ด้วยการลงนาม MOU ความร่วมมือกับ “กระทรวงพลังงาน” ในการบริหารจัดการขยะอุตสาหกรรมทั้งอันตรายและไม่อันตรายเข้าสู่การผลิตไฟฟ้า

นั่นหมายความว่า “เตาเผาโรงไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้น” ประเด็นคือว่า “การใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิง” มักเป็นต้นทางการก่อมลพิษทางอากาศอันตราย แล้วยังเกิดขี้เถ้ามหาศาลอันนำพาสู่การปนเปื้อนลงดินและแหล่งน้ำ

...

แม้เรื่องนี้ตอบโจทย์ “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ช่วยภาคอุตสาหกรรมลดต้นทุนการกำจัดกากของเสียฯแล้วเกิดกระบวนการหมุนเวียนนำวัสดุเหลือใช้มาทำประโยชน์ได้ แต่ก็ต้องควบคู่มาตรการที่รัดกุมและปลอดภัยด้วย

ถัดมาถ้าดู “โรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับการคัดแยก ฝังกลบ รีไซเคิล และปรับคุณภาพของเสีย” แบ่งเป็นโรงงานลำดับที่ 105 เป็นการคัดแยก-ฝังกลบ โรงงานลำดับที่ 106 เป็นการรีไซเคิล โรงงานลำดับที่ 101 เป็นการปรับคุณภาพของเสียแล้วจะเห็นว่าทั้ง 3 ประเภทนี้จะเกี่ยวกับการจัดการกากอุตสาหกรรมอันตรายโดยตรง

แล้วจำนวนโรงงานเหล่านี้ทั่วประเทศมีอยู่ 2,745 แห่ง แต่จะเห็นว่าตัวเลขพื้นที่ที่มีโรงงานสูงสุดคือ พื้นที่ EEC รวม 3 จังหวัดมีอยู่ 834 แห่ง คิดเป็น 30% ทั้งหมดของประเทศ แล้วหากนับรวมพื้นที่เขตอุตสาหกรรมดังเดิมอย่างสมุทรปราการ ปราจีนบุรี สระแก้ว สมุทรสาคร มีอยู่ 1,597 แห่ง คิดเป็น 58% ทั้งหมดของประเทศ

ฉะนั้น พื้นที่นี้กลายเป็น “การกระจุกตัวของมลพิษสูงมาก” เหตุนี้จึงอยากชูเสนอประเด็นเกี่ยวกับปัญหาการนำขยะมารีไซเคิล เนื่องจาก “อุตสาหกรรมรีไซเคิล” ในหลายประเทศทั่วโลกมักมีการควบคุมการเกิด หรือควบคุมไม่ให้ตั้งโรงงานขึ้นใหม่อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่ให้ความสำคัญค่อนข้างเข้มงวดมาก

ผลคือประเทศเหล่านี้ก็มี “นโยบายส่งวัสดุ หรือขยะต่างๆ” มายังประเทศกำลังพัฒนาเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบรีไซเคิลแปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ แต่อุตสาหกรรมเหล่านี้มักเป็นแหล่งมลพิษสำคัญนอกจากโลหะหนัก สารอินทรีย์ระเหยง่าย VOCs แล้วก็ยังก่อกำเนิดสารอันตรายที่สุดคือสารอินทรีย์ตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม (POPs)

...

อย่างเช่น “ไดออกซิน” เป็นกลุ่มสารเคมีควบคุมตาม “อนุสัญญาสตอกโฮล์มฯ” เพราะก่อโรคมะเร็ง กลายพันธุ์ทำลายระบบพันธุกรรม ระบบประสาท สามารถตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อมสะสมในระบบห่วงโซ่อาหาร

ไม่ว่าจะเป็น “ในน้ำนมแม่ น้ำนมวัว และไข่” โดยเฉพาะพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ที่ได้รับการขนานนามว่ามีโรงงานรีไซเคิลต้นกำเนิดสารไดออกซินเยอะมากแล้วยังถูกเล็งให้เป็นศูนย์กลางระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจากขยะวัสดุใช้แล้ว “ยิ่งเป็นจุดอันตราย” เพราะอาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ดิน และแหล่งน้ำกระจุกตัวอย่างมหาศาล

ต่อมาหากย้อนดูบทเรียน “คดีสิ่งแวดล้อมในมาบตาพุด” ทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีชะงักกว่า 76 โครงการจนเกิดการตื่นตัวนำมาซึ่งคำพูดว่า “การส่งเสริมอุตสาหกรรมต้องพัฒนาในทิศทางเชิงนิเวศรองรับมลพิษได้” ลักษณะส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรต่อชุมชน แต่ว่านโยบายนี้กลับสวนทางความเป็นจริงมาก

เพราะภาครัฐมีความพยายาม “ปลดล็อกเขตควบคุมมลพิษพื้นที่ EEC” โดยนโยบาย BCG Model พุ่งเป้ายกเลิกเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุดเป็นอันดับแรก เพราะ จ.ระยอง เป็นสวรรค์การลงทุนอุตสาหกรรมอันตรายหลายชนิด ถ้ายังไม่ปลดล็อกจะขยายการลงทุนได้ไม่เต็มที่สุดท้ายการศึกษาผลกระทบก็ไม่อาจทำการปลดล็อกนั้นได้

...

เรื่องที่น่าสนใจคือ “มติ ครม.ปี 2554” เห็นชอบออกกฎหมายคุ้มครองสารอินทรีย์ระเหยง่าย “อันเป็นสารก่อมะเร็งสูงในพื้นที่มาบตาพุด อ.เมือง ระยอง” แต่ผ่านไป 11 ปียังไม่ประกาศเป็นกฎหมายบังคับใช้เลยด้วยซ้ำ

ดังนั้น ปัจจุบัน “ปัญหาอุตสาหกรรม” นอกจากก่อมลพิษทางอากาศแล้ว “การลักลอบทิ้งกากของเสียฯ” ยังเกิดการปนเปื้อนลงดิน-แหล่งน้ำ สาเหตุจากจัดการกากอุตสาหกรรมไม่ดี ทำให้หลุดออกจากระบบหรือไม่

ซ้ำร้าย “ประเทศไทย” กลับไม่มีนโยบายฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษจากการลักลอบทิ้งกากของเสียฯ “ประชาชน” ทำได้เพียงการฟ้องร้องต่อ “ศาล” เพื่อบังคับให้ฟื้นฟูนั้นอย่างกรณีการลักลอบทิ้งกากพิษใน ต.น้ำพุ จ.ราชบุรี ตรงนี้กระทรวงอุตสาหกรรมต้องของบกลางจากกระทรวงการคลัง 70 ล้านบาทมาดำเนินการฟื้นฟูแทนนั้น

สุดท้ายอยากเสนอ “ประเทศไทย” ควรจะมีกฎหมายการฟื้นฟูพื้นที่ปนเปื้อนมลพิษ แล้วปรับปรุงกฎหมายเพื่อแก้ไขโครงสร้าง และมาตรการกำกับการบริหารจัดการของเสีย การรีไซเคิล การหมุนเวียนวัสดุใช้แล้ว และมีกฎหมาย PRTR ที่จะบังคับให้โรงงานเปิดข้อมูลการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการผลิตในโรงงานสู่สิ่งแวดล้อม

ไม่ว่าจะเป็นดิน น้ำ อากาศ เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูล และตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวอันอาจจะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่และรัฐบาลก็จะมีฐานข้อมูลในการกำกับดูแลที่แม่นยำด้วย

ต่อมาควรกระจายอำนาจ พร้อมกระจายทรัพยากรความรู้ความสามารถแก่ท้องถิ่น และต้องพัฒนาระบบกลไกกระบวนการยุติธรรม เพื่อสร้างกลไกที่ดีในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ทำใ­ห้ประชาชนเข้าถึงง่ายมากขึ้น

ย้ำส่งท้ายว่า สถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมด้านมลพิษ และขยะอุตสาหกรรมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่แตกต่างอะไรกับการพาสังคมไทยเคลื่อนเข้าสู่ Free Zone ของการก่ออาชญากรรมอำพรางทางสิ่งแวดล้อม...ถึงเวลาที่เราต้องรู้เท่าทัน และช่วยกันป้องกันแล้ว...