อัปเดตข้อมูล “ลองโควิด” จากสหภาพยุโรปเมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา รายงานสรุปคณะผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งได้ทบทวนข้อมูลวิชาการทั่วโลก สาระสำคัญตอกย้ำให้เห็นว่า “ลองโควิด” เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และส่งผลต่อทั้งตัว “ผู้ป่วย” และ “สังคม”

หลังจากติดเชื้อโรค “โควิด-19” ไป แม้จะรักษาช่วงแรกจนดีขึ้นแล้ว แต่อาจก่อให้เกิดความผิดปกติในร่างกายระยะยาวได้โดยผ่านกลไกต่างๆ อาทิ อวัยวะหรือเนื้อเยื่อถูกทำลายจากการติดเชื้อไวรัสโดยตรง...การมีไวรัสหรือชิ้นส่วนของไวรัสคงค้างระยะยาวในร่างกาย และส่งผลให้เกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรัง
การติดเชื้อทำให้มีการกระตุ้นให้เกิดภูมิต่อต้านตนเอง...การติดเชื้อไวรัสกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติของกระบวนการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันตามเส้นเลือดหรืออวัยวะต่างๆของร่างกาย...การติดเชื้อกระตุ้นให้ไวรัสอื่นที่เคยติดเชื้อแฝงอยู่ในร่างกายกำเริบขึ้นมา เช่น EBV, Herpes virus
การศึกษาจากทั่วโลก...พิสูจน์ว่าเกิดปัญหาจากกลไกต่างๆข้างต้นนี้...เป็นเหตุผลที่อธิบายอาการผิดปกติต่างๆของผู้ป่วยลองโควิด ซึ่งเกิดปัญหาในแทบทุกระบบของร่างกาย และเกิดโรคเรื้อรังตามมา
...

คณะผู้เชี่ยวชาญของสหภาพยุโรปนั้นได้ให้คำแนะนำประเทศต่างๆในเครือสหภาพยุโรปว่าจำเป็นต้องลงทุนวิจัยเพื่อหาทางรักษาภาวะ “ลองโควิด”...ระดมทรัพยากรเพื่อลงทุนในระบบสุขภาพเพื่อรับมือกับผู้ป่วยจำนวนมากที่จะต้องได้รับการดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพ...ให้ความสำคัญกับการควบคุมป้องกันโรค
ลดการแพร่เชื้อติดเชื้อในประเทศ รวมถึงการรณรงค์ให้ประชาชนรับวัคซีน...ปรับรูปแบบบริการในระบบสุขภาพทุกระดับให้มีการประสานความร่วมมือกันเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ยังต้องพัฒนาระบบการประเมิน ติดตาม เฝ้าระวังเพื่อให้สามารถมีข้อมูลเพื่อใช้ในการวางแผนจัดการปัญหาได้อย่างถูกต้อง ทันต่อสถานการณ์
“ประเทศไทย”...กับปัญหา “ลองโควิด” นั้นจะเห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะจำนวนการติดเชื้อแพร่เชื้อมีมากในการระบาดรุนแรงหลายระลอกตลอดสองปีที่ผ่านมา
หากใครประสบปัญหาย่อมทราบด้วยตนเองว่า ทำให้บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการทำงาน เรียน และการใช้ชีวิตประจำวัน
“การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ”
การฉีดวัคซีนให้ครบตามกำหนด จะช่วยลดความเสี่ยงต่อ “ลองโควิด” ได้ ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง ครอบครัว และสังคม...เลี่ยงการกินดื่มคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้อื่นนอกบ้าน...เลี่ยงที่แออัด คนเยอะ ระบายอากาศไม่ดี

เหนืออื่นใดสำคัญที่สุดคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
ข้อมูลอัปเดต “ลองโควิด” ในไอร์แลนด์เปิดเผยโดย ส.ส.Denis Naughten (12 ธ.ค.2565) สาระสำคัญคือ ปัจจุบันคาดว่าจะมีประชากรวัยผู้ใหญ่ในไอร์แลนด์ราว 6% ที่กำลังประสบปัญหา โดยในกลุ่มผู้ป่วยลองโควิดนั้น 67% มีอาการผิดปกติต่อเนื่องยาวนานกว่า 3 เดือน (เพศหญิง 69%, เพศชาย 60%)
น่าสนใจว่าผู้ป่วยร้อยละ 84% รายงานว่าอาการผิดปกติที่มีนั้นทำให้ดำเนินชีวิตประจำวันได้ลำบากมากขึ้น โดยอาการผิดปกติที่พบบ่อย ได้แก่ อาการอ่อนเพลีย...เหนื่อยล้า อาการหอบเหนื่อย ปัญหาด้านความจำ ปัญหาการนอนหลับ และอาการปวดกล้ามเนื้อ
ข้อมูลต่างๆจากทั่วโลกนั้นตอกย้ำให้เรารับรู้ว่า การติดเชื้อโควิด-19 นั้นไม่ได้จบชิลชิลแล้วหายแต่ป่วยรุนแรงได้ ตายได้ สำคัญกว่านั้นคืออาจเกิดอาการผิดปกติเรื้อรังระยะยาวได้ในทุกระบบของร่างกาย ทั้งสมอง ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ระบบต่อมไร้ท่อ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร ฯลฯ
...

บทเรียนโรคระบาดจากทั่วโลก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ บอกว่า รู้หน้าไม่รู้ใจ...กิเลสนำไปสู่หายนะ ความเชื่องมงายและประโยชน์ทับซ้อน ทำให้เกิดความสูญเสียมากมายต่อสังคม
ดังจะเห็นได้จากยาผีบอก พืชผักสมุนไพรและอาหารเสริมต่างๆ รวมถึงการเล่นแร่แปรธาตุโน่นนี่นั่น โดยขาดหลักฐานข้อมูลวิชาการที่เพียงพอ ณ เวลาที่ต้องตัดสินใจ
อิทธิพลจากการเมืองส่งผลต่อกลไกเครือข่ายอำนาจที่เกิดขึ้น ความรู้ที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลต่อการกำหนดนโยบายของแต่ละที่ ผลลัพธ์ ผลกระทบและความสูญเสียที่เกิดขึ้นตามมา
“อาวุธแต่ละชนิดมีสรรพคุณที่แตกต่างกันแน่นอน”...พิสูจน์ได้ตามหลักฐานทางการแพทย์สากล ทั้งในเรื่องระดับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ระยะเวลาที่คงอยู่ และผลในการลดความรุนแรง
คำแนะนำในการปฏิบัติตัวด้านต่างๆจำเป็นต้องอิงตามหลักฐานเชิงประจักษ์ เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานทางการแพทย์สากล ตรวจสอบที่มาและความถูกต้องได้ มิใช่ให้ทำไปก่อนแล้วค่อยหาทางเก็บข้อมูลมาปิดช่องโหว่นโยบายที่ทำไป

...
ข้อมูลตัวเลขสถานการณ์ที่ละเอียด ถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริงนั้นมีส่วนสำคัญต่อการรับรู้ ความตระหนัก และการปฏิบัติตัวของประชาชนหากถูกปิดบัง บิดเบือน เปิดเท่าที่อยากเปิด เปิดแค่ยามที่อยากเปิดความหายนะและสูญเสียก็ย่อมเกิดขึ้นตามมา เพราะคนจะปฏิบัติตัวได้ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์
...กว่าจะรู้ตัว ก็ยากที่จะรับมือ
“การทำบุญไถ่บาปคงมีประโยชน์ในแง่ที่ทำบุญ แต่แก้บาปกรรมที่ก่อไปแล้วไม่ได้ เพราะสุดท้ายสิ่งที่ทำจะติดตรึงในก้นบึ้งของจิตใจ และจะเป็นไปตามกฎแห่งกรรมตามหลักพุทธศาสนา จะช้า...จะเร็วก็เป็นไปตามนั้น...ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เป็นสัจธรรมยามวิกฤติที่ไม่สามารถพึ่งพาได้”
...เหล่านี้คือสิ่งสกัดได้จากเหตุการณ์ต่างๆในรอบหลายปีที่ผ่านมาทั่วโลก...
รศ.นพ.ธีระ ย้ำว่า บทเรียนความสูญเสียและผลกระทบมากมายที่เกิดขึ้นในสังคมจาก “โรคระบาด” และ “ยาเสพติด” ควรทำให้เรียนรู้ได้ว่าเกิดจากเหตุใด เพราะอะไรและควรป้องกันอย่างไร การบริหารนโยบายที่เกี่ยวข้องสุขภาพนั้นเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม

...
“ยุงร้ายกว่าเสือ” นั่นเป็นคำกล่าวที่เราเคยได้ยินกันบ่อยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และสะท้อนความเป็นจริง...หากเปรียบยุงกับเสือแล้ว แม้เผชิญหน้ากับเสืออาจถึงชีวิตได้ แต่โอกาสเจอเสือนั้นยากยิ่งนักในปัจจุบัน ขณะที่ยุงเป็นสัตว์ที่พบได้ชุกชุมทั่วไป มีหลากหลายชนิด และเป็นพาหะนำโรคต่างๆได้มาก
อาทิ ไข้เลือดออก มาลาเรีย ไข้เหลือง ไข้สมองอักเสบญี่ปุ่น ชิคุนกุนยา ซิกา เวสต์ไนล์ โดยแต่ละโรคก็ทำให้ป่วย ป่วยหนักรุนแรง เสียชีวิต รวมถึงเกิดปัญหาเจ็บป่วยเรื้อรังระยะยาวตามมาได้
แต่ “ยุง” กับ “โควิด-19” นั้นการป้องกันยุงมีหลากหลายวิธีและทำได้สะดวกกว่าการจัดการป้องกันโควิด-19 ที่ปล่อยให้เกิดการระบาดหนักไปแล้ว ทั้งนี้ เพราะยุงนั้นยังพอสังเกตเห็นได้ รู้แหล่งและเวลาที่พบมาก...แต่ ณ ปัจจุบัน การแพร่ระบาดหนักของโควิด-19 นั้นยากที่จะควบคุม... แพร่เชื้อไปยังคนอื่นได้เสมือนล่องหน?
ไม่ว่าใครๆจึงมีความเสี่ยงติดเชื้อ “โควิด-19” ได้ระหว่างดำรงชีวิตประจำวัน.