นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับ สนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า สบส.ได้กวดขัน ตรวจตรา และดำเนินการการกับคลินิกที่ถูกร้องเรียน ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่มักจะไม่มีแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลอยู่ประจำที่คลินิกในขณะที่เกิดเหตุ บางกรณีคลินิกจ้างแพทย์ให้มาเป็นผู้ดำเนินการ โดยนำเพียงชื่อของแพทย์มาแขวนป้ายแต่ไม่มีแพทย์ผู้ดำเนินการอยู่ประจำที่คลินิกแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ ทั้งในด้านสุขภาพ ร่างกาย หรือบางครั้งอาจรุนแรงถึงชีวิต และยังเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายสถานพยาบาล โดย สบส.จะจัดทีมพนักงานเจ้าหน้าที่ เฝ้าระวัง ตรวจตรา สื่อของสถานพยาบาลเอกชนที่มีการเผยแพร่ผ่านสื่อโซเชียล เพื่อป้องกันมิให้มีการเชิญชวน หรือรับสมัครแพทย์ให้แขวนป้ายเป็นผู้ดำเนินการ หากพบแห่งใดมีการรับจ้างแพทย์มาแขวนป้ายก็จะดำเนินการเอาผิดตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษรุนแรงถึงขั้นจำและปรับ อีกทั้ง สบส.อาจจะมีคำสั่งทางปกครองสั่งปิดสถานพยาบาลเป็นการชั่วคราว หรือถาวรอีกด้วย

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า ขอเน้นย้ำให้ผู้ประกอบกิจการคลินิกทุกแห่ง จัดให้มีแพทย์ผู้ดำเนินการสถานพยาบาลอยู่ประจำที่คลินิกตลอดระยะเวลาทำการ หากไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด ผู้ประกอบกิจการจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ซึ่งมีความผิดทางอาญา ต้องระวางโทษจำคุก หรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนแพทย์ที่ยินยอมให้คลินิกนำชื่อมาแขวนป้ายก็จะมีการดำเนินคดีด้านจริยธรรมทางการแพทย์โดยแพทยสภา สำหรับแพทย์รายใหม่ที่ต้องการจะเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลก็ขอให้ยื่นเรื่องขออนุญาตจากผู้รับอนุญาต หากสถานพยาบาลตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ สามารถยื่นเรื่องกับศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ สบส. กรณีที่อยู่ต่างจังหวัดก็ให้ยื่นเรื่องกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ โดยคลินิกแพทย์หนึ่งคนจะสามารถเป็นผู้ดำเนินการได้ไม่เกิน 2 แห่ง โดยวัน เวลา ปฏิบัติงานต้องไม่ซ้ำซ้อนกัน และจะต้องเผื่อระยะเวลาสำหรับการเดินทางด้วย.

...