การศึกษาของกลุ่มวิจัยวัชพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร เพื่อค้นหาพืชที่มีศักยภาพในการกำจัดวัชพืช พบว่า “แมงลักป่า” สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการกำจัดวัชพืชได้

สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช จึงร่วมกับกองวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตร กรมวิชาการเกษตร นำส่วนของใบแมงลักป่าในระยะออกดอก มาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย และวิจัยเป็นสูตรผลิตภัณฑ์ ได้เป็นสูตรสารละลายน้ำมันเข้มข้นที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ 2 สูตร คือ ผลิตภัณฑ์สูตร A 60% EC และผลิตภัณฑ์สูตร B 60% EC มีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืช ได้แก่ ไมยราบยักษ์ และหญ้าข้าวนก ในห้องปฏิบัติการ

และมีประสิทธิภาพในการกำจัดผักโขมหนามได้ถึง 93-96% ในสภาพเรือนทดลอง

ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 สูตร มีลักษณะการเข้าทำลายแบบสัมผัสตาย เมื่อละอองสารสัมผัสกับวัชพืชทำให้เกิดอาการฉ่ำน้ำ ใบเหี่ยว และแห้งตาย

จากการดำเนินการทดสอบประสิทธิภาพและทดสอบความเป็นพิษต่อพืชปลูกในสภาพไร่ ในแปลงปลูกมะเขือเปราะ ฉีดพ่นระหว่างแถวปลูกมะเขือเปราะ อายุ 1 เดือนหลังย้ายกล้า และวัชพืชมีจำนวนใบ 3-5 ใบ ความสูงไม่เกิน 10 ซม. ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 สูตร มีความเป็นพิษต่อมะเขือเปราะเล็กน้อย ทำให้เกิดจุดสีน้ำตาลที่ใบ แต่ไม่กระทบต่อการเจริญเติบโต มีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชใบกว้าง ได้แก่ ผักเบี้ยหิน วัชพืชประเภทใบแคบ ได้แก่ หญ้านกสีชมพู และวัชพืชประเภทกก ได้แก่ กกทราย ได้ดี ทำให้วัชพืชมีอาการตาย 90-100%

แม้ผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหยจากแมงลักป่า จะมีประสิทธิภาพในการกำจัดวัชพืชได้ดี แต่ต้องใช้วัตถุดิบตั้งต้นในปริมาณมาก อีกทั้งปริมาณสารผลิตภัณฑ์ที่ใช้พ่นมีปริมาณมาก อาจจะไม่คุ้มทุนในการผลิตและนำไปใช้ของเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรมีแนวทางในการวิจัยเพื่อพัฒนาต่อยอดสารสกัดจากแมงลักป่า โดยนำน้ำมันหอมระเหยจากแมงลักป่าไปวิเคราะห์จำแนกชนิดของสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ เพื่อทดสอบประสิทธิภาพของสารออกฤทธิ์แต่ละชนิด และดูแนวโน้มการนำสารออกฤทธิ์ไปสังเคราะห์ต่อ เพื่อใช้เป็นแนวทางหาสารกำจัดวัชพืชชนิดใหม่ในอนาคตต่อไป.

...

สะ-เล-เต