กรมการแพทย์ยันใช้ยาฟาวิ พิราเวียร์ตามข้อบ่งชี้และดุลพินิจของแพทย์ เตือนอย่าซื้อยานี้ จากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้เองเพราะไม่รู้ของจริงของปลอม ขณะเดียวกันพบ “การเป็นซ้ำ” ในผู้ป่วยโควิด-19 ของไทย 2-3 ราย อาการคล้ายกับอาการของประธานาธิบดีสหรัฐฯ กองทุนประกันวินาศภัยเชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจ RT-PCR ผู้ติดเชื้อโควิด ช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบเอกสารของเจ้าหน้าที่ “หมอมิ่งขวัญ” ยันศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อยังมีวัคซีนแอสตรา ไฟเซอร์ พอให้บริการ ส่วนโมเดอร์นาหมดลอตเตรียมขอเพิ่ม เผยวัยรุ่นชอบฉีดโมเดอร์นา ส่วนผู้ใหญ่นิยมฉีดไฟเซอร์ ด้านผลประเมินของนักวิชาการอังกฤษและสหรัฐฯชี้เดือน พ.ย. เฉพาะที่สหรัฐฯจะเจอโควิด-19 หนักอีกระลอก มีผู้ติดเชื้อถึงวันละ 1 ล้านคน

ที่สถาบันประสาทวิทยา เมื่อวันที่ 2 ส.ค.นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกระแสการซื้อยาโมลนูพิราเวียร์จากประเทศเพื่อนบ้านว่า การจ่ายยาต้านไวรัสทั้งโมลนูพิราเวียร์และแพกซ์โลวิด ต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ ไม่แนะนำให้ไปซื้อยามาทานเอง เนื่องยาทั้ง 2 ชนิดเป็นยาควบคุมและใช้ในภาวะฉุกเฉิน ใช้มาแค่ 1 ปี ยังไม่รู้ถึงผลข้างเคียงจากยา จะมั่นใจอย่างไรว่ายาที่ได้มาเป็นยาจริงไม่ปลอม การจัดซื้อยาของไทยนอกจากกรมการแพทย์ยังมีองค์การเภสัชกรรม ยืนยันไม่มีการขาดแคลนยา แต่เป็นการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล

นพ.สมศักดิ์กล่าวอีกว่า เมื่อ 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาพบปัญหาภาวะรีบาวด์หรือการเป็นซ้ำเกิดขึ้นกับผู้ป่วยไทย 2-3 คน จากเดิมที่รายงานพบในคนที่มีชื่อเสียงในต่างประเทศอย่างนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่ป่วยโควิดรับยาแพกซ์โลวิดจนหายแล้วกลับมาป่วยซ้ำ ภาวะรีบาวด์ไม่สามารถระบุระยะเวลาที่แน่ชัดได้ บางรายอาจเจอหลังจากหายดี 5-7 วัน หรือ 10-14 วัน พบรายหนึ่งเป็นผู้ป่วย60ปีขึ้นไป มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดัน ได้รับยาโมลนูพิราเวียร์จนหาย หลังจากนั้นวันที่ 13-14 กลับมาตรวจ ATK พบผลบวก ผู้ป่วยมีอาการไอเล็กน้อยจึงให้คำแนะนำติดตามอาการ จากนั้นไม่นานผลตรวจเป็นลบ

...

อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวด้วยว่า อีกคนเป็นผู้ป่วยอายุ 70 ปี ไปต่างประเทศรับยาจากต่างประเทศหลังกลับมา 14 วันพบตรวจ ATK เป็นบวก ไม่สามารถสรุปได้ชัดเจนว่ารีบาวด์เกิดจากอะไร อาจเกิดจากซากเชื้อ หรือผลบวกลวงของ ATK หรือจากอะไร หากมีอาการปกติให้สังเกตอาการ ยกเว้นกรณีจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี PCR ให้แน่ชัด แพทย์คงต้องวินิจฉัยว่าอาจจะต้องเริ่มยาใหม่หรือไม่ รวมทั้งต้องดูปัจจัยโรคร่วมด้วย จึงเป็นสาเหตุที่ต้องการให้ผู้ป่วยใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล อยู่ในความดูแลของแพทย์ ทั้งนี้เกณฑ์การจ่ายยาต้านไวรัสรักษาโควิดมีการปรับตามสถานการณ์ตอนนี้มาถึงฉบับที่ 24 อาจมีการปรับเปลี่ยน เพราะขณะนี้ต้องยอมรับยังไม่มีใครรู้จักโควิดดีพอและเชื้ออาจมีการกลายพันธุ์ได้อีกหรือไม่

ด้าน รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงกรณี รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์ภาพยาโมลนูพิราเวียร์ ระบุมีการสั่งซื้อมาใช้ในครอบครัว จนเกิดกระแสการซื้อยามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ว่า การใช้ยาต้านไวรัสยังคงยืนยันต้องเป็นไปตามดุลพินิจของแพทย์ ยาไม่ได้มีเพียงพอกับทุกคน

ทุกคนไม่ได้จำเป็นต้องใช้ยาเหมือนกันหมด การใช้ยาต้านไวรัสควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือผลกระทบจากยาภายหลัง การใช้ยาเกินจำเป็นนอกจากเกิดผลกระทบกับร่างกาย ยังเท่ากับเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นที่มีความจำเป็นต้องใช้ยา การซื้อยามาใช้เองที่ระบุว่า คนในครอบครัวไม่ได้อยู่ในกลุ่ม 608 แต่ต้องการให้คนในครอบครัวได้รับยานั้นไม่ควรเอาเป็นแบบอย่าง ข้อความต่างๆเป็นการโพสต์แสดงความคิดเห็นส่วนตัว ไม่ใช่ความคิดเห็นของแพทย์ ไม่ได้มีการอ้างอิงตามวิชาการ ประชาชนควรพิจารณาและเลือกเชื่อถือข้อมูลจากแพทย์เท่านั้น

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช.เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. สปสช.เปิดให้ผู้ติดเชื้อที่ยังไม่ได้รับการดูแล โทร.เข้าสายด่วน 1330เพื่อแจ้งอาการ เจ้าหน้าที่จะประเมินอาการเบื้องต้น หากเข้าข่ายที่จะได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ จะจัดส่งยาให้ถึงบ้าน ตั้งแต่วันที่ 23-30 ก.ค. จัดส่งยาฟาวิฯแก่ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับยาทั้งสิ้น 1,941 เคส เตรียมนำจ่าย 361 เคส อยู่ระหว่างจัดส่ง 93 เคส เคสที่จัดส่งไม่สำเร็จ 25 เคส ส่วนมากเป็นเพราะผู้ป่วยปิดบ้าน บริษัทหยุด ติดต่อผู้รับไม่ได้ ผู้รับปฏิเสธการรับและยังได้รับการสนับสนุนยาฟาวิฯจากกระทรวงรอบแรก 40,000 เม็ด ครั้งที่ 2 อีก 100,000 เม็ด จาก รพ.ราชวิถี วันที่ 1 ส.ค. อีก 150,000 เม็ด แต่จะไม่ใช้ยานี้กับหญิงตั้งครรภ์และผู้อยู่ระหว่างให้นมบุตร

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบค่ารักษาพยาบาลแก่กลุ่มผู้ไร้สิทธิการรักษาพยาบาลโควิด-19 วงเงิน 1,923.1426 ล้านบาท เป็นค่าใช้จ่ายแก่หน่วยบริการตรวจรักษาพยาบาลกลุ่มคนไร้สิทธิการรักษาในประเทศไทยและที่ประชุมยังเห็นชอบอนุมัติค่าฉีดวัคซีนกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิรวมทั้งผู้ที่ไม่ใช่ประชาชนไทย วงเงิน 98.3266 ล้านบาท ที่เกิดขึ้นจริงและดำเนินการไปแล้วช่วงเดือน ต.ค. 2664- มิ.ย. 2565 รวมทั้งจ่ายค่าตอบแทนแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข จำนวน 6 โครงการวงเงินทั้งสิ้น 14,510.3059ล้านบาท จากเหตุการณ์โควิด-19

...

ส่วนการฉีดวัคซีนของประชาชนที่ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อที่มีการประกาศว่า วัคซีนโมเดอร์นา จะให้บริการวันสุดท้ายในวันที่ 15 ส.ค. ทำให้กลัวว่ามีประชาชนแห่ไปฉีดวัคซีนจนเกิดภาพความแออัดที่ศูนย์ฉีดนั้น พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนังและ ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เผยถึงเรื่องนี้ว่า วัคซีนโมเดอร์นาที่ได้รับมาลอตนี้จะหมดช่วงวันที่ 15 ส.ค. หากประกาศว่าหมดในวันที่ 15 ส.ค. จะทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มาก แต่วัคซีนอื่นๆ ได้แก่ ไฟเซอร์ แอสตราเซเนกา ยังมีเพียงพอให้บริการ แต่ส่วนใหญ่วัยรุ่นจะนิยมโมเดอร์นา ศูนย์จะฉีดเฉลี่ยวันละ 7,000 โดส ผู้ใหญ่จะนิยมไฟเซอร์ คงต้องมีการประเมินความนิยมของวัคซีนโมเดอร์นาอีกครั้งก่อนวันที่ 15 ส.ค. หากยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง อาจจะพิจารณาเปิดรับบริจาควัคซีนโมเดอร์นาจากภาคเอกชน โดยต้องมีการตรวจสอบประสิทธิภาพของวัคซีนก่อนนำมาฉีดใช้ต่อไป

ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายชูฉัตร ประมูลผล รองเลขาธิการด้านกำกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ว่าด้วยการเชื่อมโยงข้อมูลระบบอิเล็กทรอนิกส์และข้อมูลผลการตรวจ RT-PCR กรณีโควิด-19 ระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กับกองทุนประกัน วินาศภัย มี นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายชนะพล มหาวงษ์ ผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ลงนาม นพ.ศุภกิจกล่าวว่ากรมได้พัฒนาแอปพลิเคชันรายงานผลการตรวจวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ของห้องปฏิบัติการเครือข่ายทั้งภาครัฐภาคเอกชน มีรูปแบบมาตรฐานเดียวกันเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆ สำหรับความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัยครั้งนี้จะเชื่อมโยงข้อมูลผลการตรวจ RT-PCR ให้กับกองทุนประกัน วินาศภัย ตรวจสอบยืนยันว่าผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จริง ช่วยลดระยะเวลาในการตรวจสอบเอกสารของเจ้าหน้าที่ และช่วยให้ประชาชนผู้ติดเชื้อให้ได้รับเงินเยียวยารวดเร็วขึ้น

...

วันเดียวกัน ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด-19 ของไทย ว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 1,843 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย ผู้ติดเชื้อสะสม 4,594,127 ราย หายป่วยสะสม 4,540,684 ราย เสียชีวิตสะสม 31,431 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 582,905,496 ราย เสียชีวิตสะสม 6,421,737 ราย

สายวันที่ 2 ส.ค. นายธนเดช อุบลรัตน์ เจ้าของรหัสนคร 43 หน.ชุดปฏิบัติการพิเศษโควิด-19 มูลนิธิร่วมกตัญญู พร้อมกำลังนำโลงไปช่วยบรรจุศพผู้ป่วยชายอายุ 65 ปี เสียชีวิตจากอาการปอดอักเสบติดเชื้อโควิด-19 เข้ารักษาตัวที่ รพ.บางพลี จ.สมุทรปราการแต่เสียชีวิต ญาติมอบร่างให้นำไปฌาปนกิจที่วัดหนามแดง จ.สมุทรปราการทันที อีกรายเวลา 14.15 น. วันเดียวกัน รับแจ้งมีผู้ป่วยติดโควิด-19 เสียชีวิตในบ้านหลังชุมชนวัด 12 ธันวาราม ต.บางปู อ.เมืองสมุทรปราการ รุดไปตรวจสอบพบผู้เสียชีวิตเป็นชายอายุ 67 ปี ภายในบ้านยังมีผู้ติดโควิดอีกหลายคน แพทย์นิติเวชชันสูตรเบื้องต้นพบว่าเสียชีวิตจากโควิด-19 นำร่างบรรจุใส่โลงส่งไปฌาปนกิจทันทีที่วัด 12 ธันวาราม

วันเดียวกัน มหาวิทยาลัยอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน ของอังกฤษ รวมถึงนักวิชาการมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และจอห์นส์ ฮอปกินส์ สหรัฐฯ ประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังจากนี้ ระบุอาจถึงเวลาแล้วที่จะเลิกตั้งคำถามว่าเมื่อไรโควิดจะหมดไป เพราะจากทิศทางขณะนี้ทำให้ประเมินได้ว่า ช่วงฤดูหนาวเดือน พ.ย.จะเกิดการระบาดระลอกใหม่อีกและอาจทำให้ในสหรัฐฯ ที่เดียว มีอัตราผู้ติดเชื้อถึง 1 ล้านคนต่อวัน คำถามที่เหมาะสมตอนนี้คือ ตัวกลายพันธุ์ใหม่จะปรากฏขึ้นเมื่อใดมากกว่า หากปรากฏจริงจะมีความร้ายแรงแค่ไหน หลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันดีเพียงใด แต่เชื่อว่าอาจรุนแรงเท่ากับช่วงการระบาดในปี 2563-2564 ส่วนนายเควิน โอคอนเนอร์ แพทย์ส่วนตัวนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุถึงอาการรีบาวด์ของนายไบเดนว่า ไม่มีอาการน่าเป็นห่วง เพียงแต่การตรวจหาเชื้อยังแสดงผลเป็นบวก ยังต้องกักบริเวณตัวเอง

...