“ฝีดาษลิง 2022” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หรือ “หมอดื้อ” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดประเด็นสำคัญเป็นข้อมูลองค์ความรู้เผยแพร่สู่สาธารณะเอาไว้ 6 ข้อด้วยกัน เพื่อป้องกันระวังตัว

ข้อแรก...“ฝีดาษลิง 2022” ป้องกันการแพร่ได้ และไม่ได้จำเป็นต้องให้ยาทุกราย เพราะหายเองได้ ข้อที่สอง...รู้จักคู่สัมพันธ์ คู่นอน คู่รัก

ข้อที่สาม...ความยากของการวินิจฉัยผื่น ตุ่ม แผล ที่ผิวหนังอยู่ในที่เร้นลับ อวัยวะเพศ ทวารหนัก และเยื่อบุ ช่องก้น ลิ้น ช่องปาก รูทวาร ซึ่งบ่งบอกช่องทางการติดและไวรัสจะกระจายมาหน้า มือ ตัวทีหลัง หรือไม่มาก็ได้

ข้อที่สี่...ข้อดีคือมีอาการไม่สบายนำมาก่อน จะมีไข้หรือไม่มีก็ตาม โดยมีอาการเหนื่อยล้า เซื่อง หมดแรง ปวดเมื่อย ปวดหัวทั้งนี้โดยที่จะมีการติดต่อกันต่อเมื่อเริ่มมีอาการแล้ว

โดยแพร่ทางละอองน้ำลายขณะสัมผัสใกล้ชิด แม้ยังไม่มีผื่นแผล ซึ่งเมื่อมีก็เป็นอีกช่องทางของการแพร่ได้ เมื่อมีการสัมผัสที่แผล

...

ข้อที่ห้า...การสัมผัสใกล้ชิดกัน เป็นช่องทางติดต่อที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะพบดีเอ็นเอของไวรัสในน้ำอสุจิ ปัสสาวะ เลือดได้ แต่ยังไม่สามารถยืนยันว่าเป็นไวรัสในรูปที่ติดต่อได้หรือไม่

“ต่างจากน้ำที่ตุ่มน้ำ หรือหนองที่แผลที่ยังไม่ตกสะเก็ด หรือละอองฝอยน้ำลายซึ่งติดต่อได้”

ข้อที่หก...การแพร่ให้คนในครอบครัว ในบ้านเดียวกันยังค่อนข้างยากมาก

ย้ำว่า...“ฝีดาษลิง 2022” ติดยากกว่าโควิด การให้ความรู้อย่างกระจ่างถึงอาการ ช่องทางการติด การระวังตัว เป็นสิ่งสำคัญและไม่ใช่เป็นเฉพาะในคนรักเพศเดียวกันหรือสองเพศ

ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

ข้อมูลข้างต้นทั้งหมดเหล่านี้ประมวลจากรายงานในวารสารนิวอิงแลนด์วันที่ 21 กรกฎาคม รายงานการติดเชื้อ 528 ราย (ระหว่างวันที่ 27 เมษายนถึงวันที่ 24 มิถุนายน ใน 16 ประเทศ)

ถึงตรงนี้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ บอกว่า การตรวจฝีดาษลิงมีในเครือข่ายห้องปฏิบัติการทั่วประเทศรวมทั้งโรงพยาบาล โรงเรียนแพทย์และของที่ “ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่” และที่ต่างๆเพื่อประสานกันในการติดตามและเฝ้าระวังทั่วประเทศครับ

อัปเดตต่อเนื่องไปถึงข้อมูลรายงานการติดเชื้อ 528 ราย ใน 16 ประเทศ พบว่าผู้ป่วย “ฝีดาษลิง 2022” ร้อยละ 98 เป็นเกย์หรือรักสองเพศ อายุเฉลี่ย 38 ปี

ร้อยละ 41 มีการติดเชื้อ HIV ร่วม...สำหรับการแพร่พบว่าร้อยละ 95 เป็นไปได้ว่าเกิดในขณะที่กำลังมีเพศสัมพันธ์

ผื่น ตุ่ม (skin rash) พบในผู้ป่วยร้อยละ 95 และร้อยละ64 ...ผื่นผิวหนัง มีจำนวนน้อยกว่า 10 ร้อยละ 73 พบในตำแหน่งที่ทวารหนัก และอวัยวะสืบพันธุ์ ร้อยละ 41 มีในเยื่อบุ ซึ่งในจำนวนนี้ 54 ราย มีผื่น ตุ่มที่อวัยวะเพศตำแหน่งเดียว

...

น่าสนใจว่าอาการที่พบได้บ่อยก่อนหน้าที่จะมีผื่นขึ้นคือ “ไข้”...พบได้ร้อยละ 62 “ซึม”...ร้อยละ 41 “ปวดกล้ามเนื้อ”...ร้อยละ 31 และ “ปวดหัว”...ร้อยละ 27

“ต่อมน้ำเหลืองโต”...พบได้ร้อยละ 56 และพบโรคอื่นที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ใน 109 จาก 377 รายหรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ29

จากการสืบสอบประวัติที่ได้ค่อนข้างชัดเจนใน 23 รายพบว่า “ฝีดาษลิง 2022” มีระยะฟักตัวอยู่ประมาณ 7 วัน โดยอยู่ในระหว่าง 3-20 วัน...พบดีเอ็นเอของไวรัสในน้ำอสุจิ 29 ใน 32 ราย

ผู้ป่วยจำนวน 5% ได้ยาต้านไวรัส...มีผู้ป่วย 13% ที่ต้องอยู่โรงพยาบาลคิดเป็นจำนวน 70 ราย เหตุผลที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเนื่องจากมีการปวดที่แผลผื่นอย่างรุนแรงในบริเวณทวารและอวัยวะสืบพันธุ์ 21 ราย

นอกจากนี้แล้ว...ยังมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนที่เนื้อเยื่อ 18 ราย ผนังลำคออักเสบทำให้กินอาหารลำบาก 5 ราย...มีความผิดปกติในตา 2 ราย...มีอาการทางไต 2 ราย...กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 2 รายและอีก 13 ราย เพื่อการควบคุมโรค

...

ทั้งนี้...ไม่มีผู้ใด “เสียชีวิต”

“ฝีดาษลิง 2022”...ย้ำเตือนให้รู้ว่าเรื่องทั้งหมดนี้อาจเกิดในกลุ่มหนึ่งก่อน แต่เป็นได้ทั้งหมดเช่นเดียวกับสมัยที่ HIV เกิดขึ้น ที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิด

เรื่อง “ฝีดาษลิง” ก็เช่นเดียวกัน ต้องไม่มีการแบ่งแยก ไม่มี “ตราบาป”...ไม่มี “การเลือกปฏิบัติ”

เสริมความรู้ ทำความเข้าใจ “ตื่นตัว อย่าตื่นตูม” คาถาสำคัญป้องกันโรคร้ายให้ห่างไกลตัว ศ.นพ.ธีระวัฒน์ ย้ำว่า ฝีดาษลิงไม่ได้ติดต่อกันง่ายแบบที่เราเห็นในโควิด แม้ว่ากลไกการแพร่จะเป็นในลักษณะแบบเดียวกันคือ การสัมผัสใกล้ชิด โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์ สัมผัสกับผื่น...ยกเว้นที่เป็นสะเก็ดแล้ว

แพร่ทางละอองฝอย ไอ จาม และการแพร่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อคนติดเชื้อเริ่มมีอาการแล้ว...ไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตัว ปวดหลัง ตามด้วยผื่น ต่อมน้ำเหลืองโต

“ฝีดาษลิง” เตรียมพร้อมที่จะมีการปะทุขึ้นตลอดเวลาที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนในทุกประเทศทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษหรือฝีดาษ ซึ่งสามารถมีภูมิคุ้มกันข้ามไปยังฝีดาษลิงได้อย่างน้อยถึง 85% แต่การฉีดวัคซีนไข้ทรพิษได้มีการยุติลงในปี 2523 เนื่องจากถือว่าไข้ทรพิษได้สูญไปจากโลกแล้ว

ดังนั้น คนที่เกิดก่อนปี 2523 ในประเทศไทย ซึ่งน่าจะมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป น่าจะยังมีภูมิคุ้มกันฝีดาษลิงอยู่ได้ แต่ไม่ทั้งหมด

...

เมื่ออ้างอิงตามหลักฐานที่มีการศึกษารายงานในวารสารนิวอิงแลนด์ในปี 2007 ศูนย์สัตว์จำพวกลิงในรัฐโอเรกอนของประเทศสหรัฐฯ โดยเป็นการศึกษาระยะยาวในเจ้าหน้าที่ 45 คน และทำการติดตามภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนไปยาวเฉลี่ย 15 ปี หรือนานกว่า พบว่า

60% ยังคงมีภูมิคุ้มกันต่อฝีดาษลิงได้ หลังจากที่ฉีดวัคซีนไข้ทรพิษแล้ว โดยที่ประเมินว่าภูมิที่ยังเหลืออยู่นั้น ควรจะมีระยะเวลาที่ใช้ได้อยู่ถึง 90 ปี จากการดูหลักฐานในเซลล์ความจำระบบ B cell และระดับของภูมิในน้ำเหลือง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะสามารถยืนยาวได้ทั้งหมดทุกคนที่มีภูมิคุ้มกันหลงเหลืออยู่

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเหมือนกับเป็นการนับวันรอปะทุ โดยที่ความสามารถในการแพร่จาก “คนหนึ่ง” ไปสู่ “คนอื่น” ที่เดิมน้อยกว่าหนึ่ง ประมาณ 0.7-0.8 นั่นคือ...คนติดเชื้อหนึ่งคนสามารถแพร่ต่อไปหาคนอื่นได้น้อยมาก แต่อาจจะสูงขึ้น...เป็นมากกว่าหนึ่ง

และนั่นหมายถึง “การระบาด” แพร่กระจายจะไม่จบสิ้นในเวลาอันรวดเร็ว.