กรมควบคุมโรคเผยโรคฝีดาษลิง ระบาดไปทั่วโลกแล้ว 42 ประเทศ เพิ่มมาอีก 4 ประเทศ “อุรุกวัย-มอริเซียส-เฮติ-โมร็อกโก” ข้อมูล ชี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชายกับชาย ส่วนสหรัฐอเมริกายังพบผู้ป่วยใหม่รายวันอย่างต่อเนื่อง แนะท่าอากาศยานเพิ่มคัดกรองกลุ่มเดินทางจากอเมริกาให้มากขึ้น รวมถึงตรวจรอยโรคที่ผิวหนัง ด้านศูนย์จีโนม ม.มหิดล ชี้น่ากังวลพบการกลายพันธุ์บนจีโนมฝีดาษลิงในคนถึง 40 ตำแหน่ง คาดเริ่มระบาดมาตั้งแต่ปี 2560 แต่มาระบาดหนักเดือน พ.ค.2565 จากเทศกาลที่มีคนมาร่วมชุมนุมกันเป็นจำนวนมากที่สเปน และการกลับมาเดินทางทั่วโลกหลังการระบาดของโควิด-19 เริ่มสงบ ส่วนโควิดไทยเป็นขาลงต่อเนื่อง แต่พบ 20 จังหวัด ยังฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นน้อย เร่งตีปี๊บชวนคนมาฉีดเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน

แม้ไทยยังไม่มีผู้ป่วยโรคฝีดาษลิง แต่ทั่วโลกพบผู้ป่วยเพิ่มไม่หยุด โดยเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อฝีดาษลิงทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.-3 มิ.ย.2565 มีการรายงานผู้ป่วยทั้งหมด 878 คน (เพิ่มขึ้น 66 คน) เป็นผู้ป่วยยืนยัน 782 คน (เพิ่มขึ้น 76 คน) และผู้ป่วยสงสัย 96 คน (ลดลง 10 คน) ใน 42 ประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้น 4 ประเทศ โดยประเทศที่มีผู้ป่วยสูง 5 ลำดับแรก ได้แก่ สเปน 208 คน อังกฤษ 199 คน โปรตุเกส 138 คน แคนาดา 66 คน และเยอรมนี 50 คน 4 ประเทศใหม่ที่พบผู้ป่วยยืนยัน ได้แก่ อุรุกวัย 4 คน มอริเชียส 3 คน เฮติและโมร็อกโก ประเทศละ 1 คน

...

นอกจากนี้ จากรายงานทั้งหมด 293 คน พบว่า ส่วนใหญ่เป็นชาย ร้อยละ 99 และหญิง ร้อยละ 1 ส่วนช่วงอายุจากรายงาน 153 คน ส่วนใหญ่ ร้อยละ 99 อายุ 20-59 ปี ผู้ป่วยสงสัยอายุ 10-14 ปี เพียง 1 คน ขณะที่ข้อมูลอาการ จากที่มีรายงาน 100 คน พบว่าร้อยละ 99 มีผื่นที่พบได้แก่ ลักษณะแผลหรือ ulcerative lesion ร้อยละ 74 ไม่ระบุลักษณะ ร้อยละ 17 ตุ่มนํ้าใส ร้อยละ 7 ผื่นนูนและตุ่มหนอง ร้อยละ 1 ตำแหน่งของผื่น ได้แก่ บริเวณอวัยวะเพศ ร้อยละ 54 ไม่ระบุตำแหน่ง ร้อยละ 44 บริเวณปาก ร้อยละ 17 และบริเวณรอบทวารหนัก ร้อยละ 1 อาการอื่นที่พบได้แก่ไข้ ร้อยละ 28 ต่อมนํ้าเหลืองที่ขาหนีบโต ปวดศีรษะ ร้อยละ 2 ไอ กลืนลำบาก เล็กน้อย ปวดกล้ามเนื้อ ร้อยละ 1 จากรายงานที่มีข้อมูลสายพันธุ์ 13 คน ทั้งหมดเป็นสายพันธุ์ West African จากรายงานทั้งหมด 111 คน ระบุว่ามีประวัติเดินทาง 66 คน โดยระบุมีประเทศต้นทาง 39 คน ได้แก่ สเปน โปรตุเกส อังกฤษ แคนาดา เบลเยียม ประเทศในแอฟริกาแต่ไม่ระบุชื่อ ไนจีเรีย เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์

ส่วนสถานการณ์ในไทย ณ วันที่ 3 มิ.ย. ยังไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยัน แต่มีผู้เข้าเกณฑ์ป่วยสงสัย 6 คน (เพิ่มขึ้น 1 คน) ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการทั้งหมดไม่พบเชื้อฝีดาษลิง ขณะที่มีประเด็นน่าสนใจจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ผู้อำนวยการภาคพื้นยุโรปของ WHO เปิดเผยว่า ในขณะนี้ WHO เชื่อว่าการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงอาจไม่สามารถควบคุมได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น จำเป็นต้องลดความเสี่ยงอย่างเร่งด่วนผ่านการสื่อสารที่ชัดเจน การดำเนินการที่นำโดยชุมชน การแยกตัวผู้ติดเชื้อ รวมถึงการติดตามและตรวจสอบผู้สัมผัสติดต่อกับผู้ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพ โดยในขณะนี้โรคฝีดาษลิงยังไม่จำเป็นต้องมีมาตรการเดียวกับที่ใช้ในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เพราะไวรัสไม่ได้แพร่กระจายในลักษณะเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ไวรัสดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะแพร่ระบาดต่อไปในระดับสูง

ทั้งนี้ ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินฯระบุอีกว่าสถานการณ์โรคฝีดาษลิงทั่วโลก ณ วันที่ 3 มิ.ย.พบผู้ป่วยเพิ่มสูงใน 4 ประเทศในรอบหนึ่งวัน ได้แก่ โปรตุเกส 19 คน อังกฤษ 11 คน เนเธอร์แลนด์ 8 คน และสหรัฐอเมริกา 3 คน โดยเนเธอร์แลนด์ และสหรัฐฯ ยังพบผู้ป่วยใหม่รายวันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่พบผู้ป่วยที่มีประวัติเดินทางกลับจากต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลียและโมร็อกโก พบผู้ป่วยรายใหม่มีประวัติกลับจากประเทศในยุโรปแต่ไม่ระบุชื่อ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาย อายุ 20-59 ปี และมีประวัติเป็นชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย จึงมีข้อเสนอแนะได้แก่ 1.สร้างการประชาสัมพันธ์ในเทศกาล “บางกอกไพรด์” เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงการป้องกันตนเองจากโรคฝีดาษลิง 2.เพิ่มการดำเนินการในสถานที่เสี่ยง เช่น สถานบันเทิง บาร์เกย์ ผับชายรักชาย โดย 1.1 เฝ้าระวังในกลุ่มผู้ใช้บริการ 1.2 ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคในกลุ่มของผู้ให้บริการในการป้องกันตนเอง 1.3 เพิ่มการคัดกรองก่อนเข้ารับบริการ เช่น การตรวจวัดอุณหภูมิ การตรวจรอยโรคที่ผิวหนัง และ 3.ในการคัดกรอง ณ ด่านท่าอากาศยาน อาจพิจารณาเพิ่มการคัดกรองในกลุ่มที่เดินทางมาจากสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีผู้เดินทางเข้ามาในประเทศเป็นจำนวนมาก

...

วันเดียวกัน เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics โดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า น่ากังวล จากการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสฝีดาษลิงในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา (2561-2565) ซึ่งเป็นการระบาดระหว่างคนสู่คน พบว่าเกิดการกลายพันธุ์บนจีโนมไปถึง 40 ตำแหน่งเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม โดยมีการกลายพันธุ์รวดเร็วขึ้นถึง “1 ตำแหน่งต่อจีโนมต่อเดือน” ในขณะที่ก่อน พ.ศ.2561 พบการกลายพันธุ์เป็นไปอย่างเชื่องช้าเพียง “1 ตำแหน่งต่อจีโนมต่อปี”

จากการที่นักวิจัยร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัสฝีดาษลิงที่ขณะนี้พบมีการระบาดในหลายประเทศในทวีปยุโรป อเมริกา และออสเตรเลีย ตั้งแต่พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่ามีการกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสฝีดาษลิงที่ระบาดเมื่อ 4 ปีก่อน ถึง 40 ตำแหน่ง ส่งผลให้มีอัตราการเปลี่ยนแปลงบนจีโนมของไวรัสฝีดาษลิงเพิ่มขึ้น 10-20 เท่า โดยมีการกลายพันธุ์เพิ่มเป็นประมาณ “1 ตำแหน่งต่อจีโนมต่อเดือน” ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการกลายพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น 10-20 เท่าในบรรดาไวรัสฝีดาษลิงในปี 2565 เมื่อเทียบกับปี 2561 จะมีผลอย่างไรกับการแพร่ระบาดและอาการจากการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิงที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้

การกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วของไวรัสฝีดาษลิงคาดว่าเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560 โดยวิเคราะห์จากข้อมูลการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนม บ่งชี้ว่าไวรัสฝีดาษลิงได้มีการแพร่ระบาดในหมู่คนในระดับต่ำๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนมีการระบาดใหญ่ในเดือนพฤษภาคม 2565 อันอาจมีสาเหตุมาจากเทศกาลที่มีคนมาร่วมชุมนุมกันเป็นจำนวนมากที่สเปนและการกลับมาเดินทางทั่วโลกของผู้คนหลังการระบาดของโควิด-19 เริ่มสงบลง

ส่วนกรณีกรมควบคุมโรคประเมินสถานการณ์ของโรคฝีดาษลิงในไทยว่า อาจเกิดระบาดหลังการจัดงานไพรด์พาเหรด ใน กทม. วันที่ 5 มิ.ย.นี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อช่วงบ่าย วันที่ 4 มิ.ย. ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร เขตปทุมวัน นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมนาย ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการ ผู้ว่าฯ กทม.และนายสมบูรณ์ หอมนาน ผอ.สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เดินทางมาร่วมงาน Pride Month 2022 ที่จัดขึ้นในเดือน มิ.ย. ถึง 3 ก.ค.2565 โดยนายชัชชาติได้ปักธงสีรุ้งร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเข้าใจ สนับสนุนความเท่าเทียม และยอมรับความหลากหลายทางเพศของหน่วยงาน กทม. พร้อมประกาศเจตนารมณ์ให้กรุงเทพฯเป็นเมืองแห่งความแตกต่างหลากหลาย นอกเหนือจากนี้ ในแง่ของการให้บริการและการปฏิบัติ กทม.มีจุดยืนชัดเจนว่า จะไม่เลือกปฏิบัติ จะดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จะดูแลพนักงานของเราอย่างเท่าเทียม และเข้าใจประชาชนที่มาใช้บริการของเรา รวมถึงได้กำชับให้อนามัย กทม.ดู โรคฝีดาษลิงด้วย

...

ขณะที่สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ในไทย ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) รายงานเมื่อวันที่ 4 มิ.ย.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,001 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 3,813 คน อยู่ระหว่างรักษา 34,056 คน อาการหนัก 799 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 389 คน เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 30 คน เป็นชาย 15 คน หญิง 15 คน อายุ 60 ปีขึ้นไป 23 คน มีโรคเรื้อรัง 6 คน ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 1 คน มียอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,463,557 คน หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,399,358 คน ผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 30,143 คน ยอดฉีดวัคซีนวันที่ 3 มิ.ย.เพิ่มขึ้น 131,895 โดส ยอดสะสมตั้งแต่ 28 ก.พ.64 จำนวน 138,103,194 โดส

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมอยู่ในช่วงขาลงทั้งประเทศ มาตรการต่างๆเริ่มผ่อนปรนลงมา เช่น การเปิดสถานบันเทิงใน 31 จังหวัดที่ผ่านเกณฑ์บริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้ดี ซึ่งการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 ไปสู่โรคประจำถิ่นนั้น หนึ่งในมาตรการสำคัญ คือ ประชาชนได้รับวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้นครอบคลุมทุกกลุ่ม

...

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า จากข้อมูลวันที่ 2 มิ.ย. 2565 มีผู้ที่ครบกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นมารับการฉีดประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น โดย 20 จังหวัดที่ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้น้อยเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรที่ถึงกำหนดรับเข็มกระตุ้นแล้ว ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี สตูล ยะลา บึงกาฬ สกลนคร หนองบัวลำภู นครศรีธรรมราช ชุมพร กระบี่ พัทลุง ตรัง เลย กาฬสินธุ์ แม่ฮ่องสอน สระแก้ว หนองคาย มุกดาหาร สุราษฎร์ธานี และจันทบุรี จึงต้องเร่งสื่อสารเชิญชวนประชาชนให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นเพียงพอ รองรับการเปิดประเทศและใช้ชีวิตได้เป็นปกติ มีความปลอดภัยมากขึ้น ขณะนี้กระทรวงมีแผนจัดส่งวัคซีนโควิด-19 ทั้งซิโนแวค แอสตราเซเนกา และไฟเซอร์ ไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อให้เกิดความสะดวกกับประชาชนที่อยู่ห่างไกล สามารถพาผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงไปฉีดวัคซีนกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน และให้บริการแบบวอล์กอินทุกจุดฉีด

วันเดียวกัน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ จากคณะ แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กว่า อัปเดตความรู้เกี่ยวกับโรคโควิด-19 มีสาระสำคัญคือ 1.งานวิจัยจากทีม National Institute of Health (NIH) ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ใน NIH VideoCast เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2565 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นผลการศึกษาจากการชันสูตรศพผู้ป่วยโรคโควิด-19 จำนวน 44 คน ตรวจพบ RNA ของไวรัสกระจายอยู่ทั่วทุกระบบของร่างกาย ไม่ใช่เฉพาะในทางเดินหายใจเท่านั้น มีทั้งสมอง/ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ต่อมน้ำเหลือง ทางเดินอาหาร ระบบสืบพันธุ์ ทางเดินปัสสาวะ และบางรายตรวจพบได้ยาวนานกว่า 7 เดือน การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด

2.Wang C และคณะวิจัยจากคณะแพทย ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ชี้ให้เห็นว่าการฉีดวัคซีนในช่วงเช้าจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีกว่าช่วงบ่าย และ 3.Banerjee M และคณะจากประเทศอินเดีย พบว่าการติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานในช่วงหลังจากการติดเชื้อร้อยละ 59 แม้จะมีความแตกต่างกันของปัจจัยต่างๆในแต่ละงานวิจัยย่อย แต่งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหลังการติดเชื้อ คนที่เคยติดเชื้อจึงควรป้องกันตัวสม่ำเสมอ เพราะจะติดเชื้อซ้ำได้ และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาโรคเรื้อรัง และภาวะ Long COVID นอกจากนี้ยังควรประเมินตรวจสุขภาพตนเองเป็นระยะ หากมีอาการผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ