ประตูชายแดนเมียนมา-ไทยเดือดลุกเป็นไฟ อีกครั้งเมื่อ “กลุ่มคนร้ายไม่ทราบฝ่าย” ก่อเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ด่านพรมแดนถาวรเมียนมา บริเวณเชิงสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 1 ตรงข้ามประตูด่านพรมแดนถาวรแม่สอด จ.ตาก ประเทศไทย อันเป็นย่านธุรกิจการค้าขนาดใหญ่ที่สำคัญ

แรงระเบิดทำให้ “บ้านเรือนชาวเมียนมา” ได้รับความเสียหายกระทบถึง “เศรษฐกิจการค้าชายแดนเมียนมา-ไทย” นับเป็นการโจมตีครั้งรุนแรงไม่กี่วันหลังจาก “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาล” ประกาศเจรจากับผู้นำชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ เพื่อสันติภาพของประชาชน และการพัฒนาประเทศ

ท่ามกลาง “สถานการณ์การสู้รบระหว่างกองทัพเมียนมากับกองกำลังชนกลุ่มน้อยติดอาวุธ และกลุ่มต่อต้านการรัฐประหารอีกมากมายหลายกลุ่ม” ที่ยังคงดำเนินยิงปะทะกันด้วยอาวุธหนักต่อเนื่องรายวันตลอดตามแนวชายแดนเมียนมาฝั่งตรงข้าม จ.ตาก นับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้นตั้งแต่การก่อรัฐประหารเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว

“การข่าวชายแดน จ.ตาก” ให้ข้อมูลว่า เหตุคาร์บอมบ์นี้คาดกันว่า น่าจะเป็นฝีมือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาที่หนีมาร่วมกลุ่มจับอาวุธฝึกรบร่วมกับ “กองกำลัง KNU” เคลื่อนไหวตามชายแดนเมียนมา

...

ก่อนหน้านี้ก็ก่อเหตุลอบวางระเบิดตามเมืองหลัก และตามย่านเศรษฐกิจสำคัญ “ตอกย้ำการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา” ทั้งการโจมตีฐานที่ตั้งทหารเมียนมาหลายแห่งเสียหายจน “กองทัพเมียนมา” ต้องเปิดฉากปฏิบัติการโต้กลับโจมตีทางอากาศ และโจมตีด้วยปืนใหญ่ยิงเข้าใส่กองกำลังติดอาวุธมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

ตลอดหลายเดือนมานี้ “ทหารเมียนมา” ยังพยายามบุกโจมตีฐานปฏิบัติการของกลุ่มติดอาวุธที่ห่างจาก จ.เมียวดีของเมียนมาราว 10 กม.แต่ก็ยังไม่สามารถเข้ายึดได้สำเร็จติดพันมาจนทุกวันนี้ แล้วในห้วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ “กลุ่มติดอาวุธต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา” ได้เริ่มรุกคืบเข้ามาก่อเหตุวินาศกรรมในเมืองเมียวดีถี่มากขึ้น

สาเหตุ “เลือกคาร์บอมบ์ด่านพรมแดนถาวรแห่งที่ 1” น่าจะเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านมากกว่ามุ่งหวังเอาชีวิต เพราะด่านแห่งนี้ปิดมา 2 ปี และลักษณะเลือกก่อเหตุใช้ช่วงกลางคืน ไม่มีคนพลุกพล่านด้วย

ตั้งข้อสังเกตต่อไปว่า “ถ้าคนร้ายมุ่งเอาชีวิตบุคคล” ควรเลือกก่อเหตุคาร์บอมบ์สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 เพราะเป็นจุดเปิดด่านข้ามพรมแดน อันมีประชาชนและรถขนส่งสินค้าวิ่งผ่านจำนวนมากทุกวัน

สิ่งสำคัญเหตุระเบิดเกิดขึ้นหลัง “พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย” ประกาศเปิดเจรจากับชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่ม ส่วนทางปฏิบัติแนวชายแดนเมียนมาฝั่งตรงข้าม จ.ตาก มีการส่งกำลังทหารเสริมเข้าพื้นที่กะเหรี่ยงจำนวนมาก

หนำซ้ำก็เริ่มเห็นภาพ “กลุ่มต่อต้านหลายกลุ่มร่วมกันปฏิบัติการทางทหารต่อฝ่ายทหารเมียนมามากขึ้น” ส่งผลให้ตลอดแนวชายแดนเมียนมาเกิดการสู้รบทั้งคืนทั้งวันในห้วง 2-3 วันมานี้ ยกเว้นเขตอิทธิพล “นายพลหม่องชิดตู่” ฝั่งตรงข้าง อ.แม่ระมาด อ.ท่าสองยางเป็นที่ตั้งบ่อนกาสิโน ไม่มีการปะทะกัน

เรื่องนี้อาจเป็นสาเหตุ “ความไม่พอใจนำมาซึ่งการลอบวางระเบิดแสดงการต่อต้านก็ได้” ทำให้สถานการณ์ไม่น่าวางใจจนกระทบต่อความเชื่อมั่น และความปลอดภัยในการเปิดด่านพรมแดนถาวรแห่งนี้

เพราะหลังระเบิด “ชาวบ้าน 2 ฝั่งประตูด่านพรมแดน” ต่างแตกตื่นต้องหลบไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แล้วบริเวณด่านพรมแดนถาวรสะพานไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 “ทหารเมียนมา” ก็มีการตรึงกำลังค่อนข้างหนาแน่นเข้มงวด ป้องกันการก่อเหตุร้ายซ้ำ ทั้งมิให้การสู้รบลุกลามเข้าเขตพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญในเมียวดีด้วย

“คนพื้นที่ 2 ฝั่งประเทศก็ไม่คาดคิดจะมีการลอบวางระเบิดด่านข้ามพรมแดนแห่ง 1 ที่ถูกปิดมาตั้งแต่โควิด-19 ระบาด แล้วมีแผนเปิดในวันที่ 1 พ.ค.2565 พ่อค้าแม่ค้าต่างดีใจจัดเตรียมสินค้าไว้รับการเปิดด่าน แต่กลับเกิดเหตุร้ายเช่นนี้ ย่อมมีผลต่อความเชื่อมั่นและกระทบการเปิดด่านชายแดนเมียนมา-ไทยทันที” การข่าวชายแดน ว่า

...

ตอกย้ำด้วย “การสู้รบทหารเมียนมา และกลุ่มติดอาวุธ” ที่ยังดำเนินต่อไปไม่มีท่าทีสงบลงโดยง่าย แล้วประเด็นสำคัญเดิมเคย “สู้รบกันในป่า” เริ่มขยับเข้ามาประชิดใกล้เมืองท่าเศรษฐกิจชายแดนเมียวดีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ผู้คนฉุกคิดถึงเหตุเมื่อ 10 ปีก่อน “กองกำลังกะเหรี่ยงบุกยึดเมืองเมียวดี” จนมีการปะทะกันอย่างหนัก

คราวนั้น “ประชาชนหลายหมื่นคนหนีภัยสงครามทะลักเข้ามาในไทย” เหตุเช่นนี้ “ฝ่ายความมั่นคงไทย” จึงได้เตรียมแผนเชิงรับ “กรณีเกิดการสู้รบรุนแรง” ด้วยการประชุมวางแผน กำหนดจุดตั้งศูนย์อพยพไว้

เพราะตอนนี้ “ชาวบ้านกะเหรี่ยงที่ได้รับผลกระทบการสู้รบ” ไม่สามารถกลับเข้าหมู่บ้านได้ ยังกางเต็นท์ตั้งแคมป์พักอาศัยชั่วคราวตามริมแม่น้ำเมยมาตั้งแต่เดือน ม.ค.2565 จุดนี้ประชิดห่างจากชายแดนไทย 50 เมตรโดยมีแม่น้ำเมยขวางกั้น ในบางจุดก็ตื้นเขิน ถ้าเกิดการสู้รบรุนแรงสามารถเดินข้ามเข้ามาฝั่งไทยได้เลยทันที

ด้านการดูแลมี “องค์กรระหว่างประเทศ” คอยช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม ส่วนกลุ่มกะเหรี่ยงอพยพเข้ามาฝั่งไทยเมื่อปลายปีที่แล้วนั้น “ถูกผลักดันกลับประเทศหมดแล้ว” ยกเว้นกลุ่มผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาหลบหนีการจับกุมลักลอบเข้ามาอาศัยในไทยอย่างผิดกฎหมาย ซ่อนตัวอยู่ในพื้นที่เยอะพอสมควร

...

อีกทั้งยัง “ใช้สื่อโซเซียลฯ เป็นเครื่องมือเคลื่อนไหวปลุกระดมมวลชนตลอด” สังเกตหากมีเหตุยิงปะทะกัน “กลุ่มมวลชนกะเหรี่ยง” มักโพสต์ข้อความ ภาพนิ่ง และคลิปวิดีโอของการใช้กำลังทางทหารปราบปรามประชาชน “อันเป็นสงครามโซเซียลฯ” ส่วนรัฐบาลเมียนมาก็ใช้สื่อของรัฐโจมตีฝ่ายต่อต้านด้วยเช่นกัน

ประเด็นถัดมา “เหตุคาร์บอมบ์กระทบต่อการค้าชายแดน...?” เท่าที่ดูสถานการณ์การค้าขายชายแดนยังดำเนินการเป็นปกติ สังเกตจากจุดผ่านด่านพรมแดนไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 (แม่สอด-เมียวดี) ที่ยังคงมีการค้าขายลำเลียงส่งสินค้าประเภทของสด และเครื่องอุปโภคบริโภคจำเป็นไปฝั่ง จ.เมียวดีอยู่ทุกวัน

แม้ในห้วงเดือนที่ผ่านมา “กองกำลังกะเหรี่ยง KNU” หนึ่งในชนกลุ่มน้อยต่อต้านกองทัพรัฐบาลเมียนมา “ปิดถนนสายอาเซียนช่วงเมียวดี-กอกาเลก” เส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าจากแม่สอดของไทยผ่านไปยังรัฐกะเหรี่ยง รัฐมอญ ย่างกุ้งของเมียนมา ทั้งยังเผารถบรรทุก รถบัสโดยสาร รถส่วนตัวของผู้ฝ่าฝืนไม่ฟังคำประกาศนี้

...

ไม่เท่านั้น “สะพานเมืองเมียวดี-เมืองกอกาเลก” ถูกวางระเบิดเสียหายใช้การไม่ได้จนปลายเดือน เม.ย.2565 “กองกำลังกะเหรี่ยง KNU” ออกหนังสือให้หยุดยิงรถบรรทุกสินค้า และห้ามทำลายถนน ทำให้การขนส่งสินค้าจากแม่สอด-ย่างกุ้งคลี่คลายดีขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังหวาดกลัวไม่เชื่อมั่นความปลอดภัยเช่นเดิม

ตราบใดกองทัพเมียนมายังส่งกำลังทหารเข้ายึดพื้นที่กองกำลังกะเหรี่ยงอยู่แบบนี้ เชื่อว่า “การเจรจาของรัฐบาลทหารเมียนมา และชนกลุ่มน้อยติดอาวุธคงจะเกิดขึ้นได้ยาก” แล้วยิ่งทำให้สถานการณ์เมียนมาเลวร้ายไม่สงบโดยง่าย ผลคือ “ประชาชนมีความเป็นอยู่ลำบาก” ต่างพากันดิ้นรนเอาตัวรอดกันอยู่ทุกวันนี้

สิ่งนี้เห็นได้จากในห้วงที่ผ่านมา “แรงงานเมียนมาทะลักเข้าเมืองไทยแบบผิดกฎหมายเยอะมาก” ที่มักมาเป็น “ขบวนการนำพากลุ่มใหญ่ตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป” ลักษณะหนีมาแบบยกครอบครัว “มุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ หางานทำ” สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจาก “ระบบทำบัตรเอ็มโอยูแรงงานต่างด้าว” ถูกเลื่อนออกไปอยู่เรื่อยๆ

แรงงานเมียนมาทนความลำบากไม่ไหว ยอมจ่ายนายหน้าหัวละ 25,000-30,000 บาทนำพาเข้ามาในไทย “ฝ่ายความมั่นคงไทยสกัดจับทุกวัน” จนตอนนี้สถานกักกันในพื้นที่ไม่อาจรับได้ ปัญหาที่พบคือ “แรงงานโรฮีนจาตกค้างจำนวนมาก” ไม่อาจผลักดันกลับเมียนมา กลายเป็นภาระต้องดูแลตามหลักมนุษยธรรมอยู่จนถึงทุกวันนี้

ย้ำว่าตั้งแต่การก่อรัฐประหาร “ประชาชนเมียนมา” ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติ “จนเลือกเข้ามาตายเอาดาบหน้าในไทย” เพราะไม่สามารถทำมาหากินอะไรได้ ด้วยจากเหตุความไม่สงบที่ปะทุ ยิงปะทะกันอยู่ทุกวัน

ฉะนั้นแล้ว “ความสงบตามแนวชายแดนเมียนมา–ไทย” ที่ยังคงเปิดฉากเจรจากันด้วยการใช้กำลังรบ “สันติภาพย่อมไม่มีทางเกิดขึ้น” ผลกระทบก็มาตกอยู่ที่ “ประชาชนเดือดร้อน” เรา (ไทย) ประเทศเพื่อนบ้านคงทำได้เพียงแค่ภาวนา หวังให้สถานการณ์จะคลี่คลาย ไม่เลวร้ายไปกว่านี้อีก.