ผศ.พญ.พัทธมน ปัญญาแก้ว คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โรคพาร์กินสัน เป็นโรคความเสื่อมของระบบประสาท ที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป สถิติปี 2553 ระบุว่าประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคพาร์กินสันราว 60,000 คน และเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้นในสังคมไทย คาดว่าประมาณร้อยละ 3 ของกลุ่มประชากรสูงวัยในประเทศมีอาการของโรคพาร์กินสัน หรือประมาณ 360,000 คน จากจำนวนประชากรสูงวัย 12 ล้านคนในปัจจุบัน การรักษาหลักจะใช้ยาเพื่อควบคุมอาการของโรค เช่น อาการสั่น เคลื่อนไหวช้า แข็งเกร็ง ทรงตัวผิดปกติ และอาการเดินติดก้าวไม่ออก เป็นต้น แต่เมื่อโรคดำเนินไปมากขึ้นจะมีการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอ และมีระยะเวลาที่อาการดีลดลง หรือมีอาการหมดฤทธิ์ยาก่อนมื้อยาถัดไป มีอาการยุกยิกหรือเคลื่อนไหวมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากภาวะตอบสนองต่อยามากกว่าปกติหลังมื้อยา

ผศ.พญ.พัทธมนกล่าวต่อว่า คณะแพทย์จุฬาฯร่วมมือกับทีมวิจัยจากศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสัน รพ.จุฬาฯ ออกแบบและพัฒนาแอปพลิเคชัน PDPlus เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคพาร์กินสันให้ดีขึ้น โดยอาการของผู้ป่วยพาร์กินสันจะมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาในแต่ละวัน แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยบันทึกอาการและการรับประทานยาอย่างละเอียด ซึ่งการเขียนบันทึกข้อมูลลงกระดาษไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแล ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาแอปพลิเคชันขึ้น เพื่อตอบโจทย์การดูแลผู้ป่วยอย่างครอบคลุม ผู้ป่วยสามารถบันทึกอาการได้ทันที มีระบบเตือนการทานยา มีเกมที่เป็นแบบทดสอบประเมินการเคลื่อนไหว ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสังเกตและเข้าใจอาการตัวเองมากขึ้นว่าอยู่ในระดับใด รวมถึงมีระบบรายงานผลวิเคราะห์ข้อมูลอาการผู้ป่วยอย่างละเอียดเพื่อให้แพทย์ติดตามอาการผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิดและปรับยาตามอาการได้ง่ายขึ้น

...

ด้าน ผศ.ดร.พญ.อรอนงค์ โพธิ์แก้ววรางกูล แพทย์ประจำศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคพาร์กินสันฯ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  กล่าวว่า แอปพลิเคชัน PDPlus เริ่มนำร่องใช้งานในกลุ่มผู้ป่วยของทางศูนย์แล้ว และได้เสียงตอบรับที่ดี โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ผู้ป่วยสามารถใช้แอปพลิเคชันนี้บันทึกอาการและทำแบบทดสอบประเมินอาการ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ทีมวิจัยคาดหวังว่าจะมีการใช้แอปพลิเคชันนี้ในวงกว้างมากขึ้น ทั้งผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน และกลุ่มคนปกติ เพื่อเก็บข้อมูลให้เป็นฐานข้อมูลใหญ่ หรือบิ๊กเดต้า เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัยแยกโรคในอนาคตว่า ลักษณะอาการแบบนี้ จัดเป็นกลุ่มคนปกติ หรือกลุ่มผู้ป่วยพาร์กินสัน หรือกลุ่มผู้ป่วยโรคอื่น รวมไปถึงการพยากรณ์โรคในระยะเริ่มต้นหรือใช้ในการพัฒนาการรักษาใหม่ๆในอนาคต สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งแอปสโตร์และเพลย์สโตร์ หรือไลน์ : ChulaPD.