บริษัทยา ไฟเซอร์ ได้มีการทดลองยา แพกซ์โลวิด และ ยาหลอก หรือ Placebo กับกลุ่มทดลองวัยผู้ใหญ่จำนวน 3,000 คนเป็นเวลา 5-10 วัน ที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 แบบแสดงอาการ พบว่า กลุ่มที่ได้ยา แพกซ์โลวิด ซึ่งเป็นยารักษาโควิดโดยเฉพาะเป็นเวลา 5 วัน มีโอกาสติดเชื้อต่ำกว่าผู้ที่ได้รับยาหลอก ประมาณร้อยละ 32 และผู้ที่ได้รับยาชนิดนี้ครบ 10 วันจะมีโอกาสติดเชื้อต่ำกว่าผู้ที่ได้รับยาหลอกประมาณร้อยละ 37 ไฟเซอร์ สรุปว่า ยาแพกซ์โลวิด มีผลในการป้องกันการนอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิตของผู้ป่วยโควิด ได้มากถึงเกือบร้อยละ 90 ถ้าเริ่มรับประทานยาแพกซ์โลวิด ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 5 วัน นับตั้งแต่การตราวจพบเชื้อ ฟาวิพิราเวียร์ ชิดซ้ายไปเลย

อย่างไรก็ตาม ไฟเซอร์ เองก็ยังไม่พอใจกับผลทดสอบประสิทธิ ภาพของยารักษาโควิดชนิดนี้ เนื่องจากตั้งความหวังเอาไว้มาก ไม่ว่าจะมีผลเป็นบวกหรือลบอย่างไร ไฟเซอร์ ประเมินว่า จะมียอดขายยา แพกซ์โลวิด ถึงประมาณ 24,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

ก็พอดีว่า ประเทศไทยเรากำลังอยู่ในช่วงของการทดสอบมาตรการผ่อนคลายต่างๆ โดยเฉพาะการที่จะลดระดับของโควิดให้เป็นแค่ โรคประจำถิ่น สาเหตุหนึ่งคงจะเป็นเพราะรัฐบาลเริ่มจะสู้กับค่าใช้จ่ายในการรับมือกับโควิดไม่ไหว และต้องการจะเปิดประเทศเพื่อหารายได้จากการท่องเที่ยวโดยเร็วที่สุด

ปรากฏว่า มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย อาทิ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา ระบุว่า สถานการณ์โควิดในบ้านเรายังไม่เข้าข่ายโรคประจำถิ่น และ มีโอกาสที่จะกลับมาระบาดใหญ่ หากประมาทและละเลยมาตรการการป้องกัน แม้โควิดในปัจจุบันจะถูกพบแค่สองสายพันธุ์คือ เดลตา และ โอมิครอน แต่จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลกยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง คนติดเชื้อไปแล้ว 505,817,953 ราย เสียชีวิตสะสม 6,213,876 คน ในเวลาเดียวกันทั่วโลก มีการฉีดวัคซีนโควิด ไปแล้วประมาณ 11,544,346,261 โดส แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีมาตรการผ่อนคลายไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัย สุดท้ายก็ต้องกลับมาใช้มาตรการควบคุมอย่างเข้มงวดอีก เพราะมีแนวโน้มการระบาดที่กลับมาเพิ่มขึ้น

...

การทำสงครามกับโควิดยังไม่สะเด็ดน้ำอยู่ดี

สงครามรัสเซีย-ยูเครน นอกจากการสู้รบที่หนักหน่วงในสมรภูมิยูเครน ที่มีประเทศพันธมิตรหนุนหลัง และใช้ขีปนาวุธที่ทันสมัย เชื่อว่า สงครามที่ยืดเยื้อสร้างความเสียหายอย่างมหาศาล ประชาชนชาวยูเครนต้องตกเป็นเหยื่อของสงครามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยังมีเรื่องของ มาตรการคว่ำบาตร ระหว่างทั้งสองฝ่าย รัสเซียคว่ำบาตรไม่ส่งพลังงานเชื้อเพลิงให้กับประเทศที่สนับสนุนยูเครน สหรัฐฯและชาติพันธมิตร เองก็คว่ำบาตรรัสเซียอย่างหนัก ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ตราบใดที่ยังควบคุมการทำสงครามให้อยู่เฉพาะในยูเครนได้ ความวิตกกังวลก็ยังไม่ถึงขีดสุด

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ประเมินจากการให้สัมภาษณ์ผู้นำและบุคคลสำคัญของทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะสหรัฐฯกับรัสเซียและจีน เชื่อว่า สถานการณ์กำลังเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นความพยายามที่จะขยายบทบาทของนาโต หรือการที่สหรัฐฯและพันธมิตรเก็บเกี่ยวความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อหาพันธมิตรให้ได้มากที่สุด และกดดันให้มีการเลือกข้างระหว่างโลกเสรีกับการใช้อำนาจแบบสุดขั้ว เดินหน้าเข้าสู่โหมดสงคราม.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th