ข่าวดีมีมาต่อเนื่อง ภาพรวมยอดติดเชื้อโรคโควิด-19 ยืนยัน รายวัน ไม่รวมตรวจ ATK ลดต่ำหมื่นคน โดยเริ่มเห็นเลขหลักเดียว เพิ่มขึ้นหลายจังหวัด ขณะที่ผู้ป่วยเสียชีวิตต่ำร้อย อยู่ที่ 77 ศพ ติดอันดับ 6 ของโลก “หมอธีระ” เตือนระบบรายงานการเสียชีวิต หากเลือกนำเสนอเพียงส่วนเดียว ทำให้คนเข้าใจคลาดเคลื่อน แนะยิ่งรอบคอบโปร่งใสจะได้ประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ด้าน ผอ.สำนักอนามัย กทม. ถกร่วม สธ.เตรียมยกร่างแผนนำโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น อาจผ่อนคลายให้กิจการ/กิจกรรมบางอย่าง รวมถึงสถานบันเทิง ผับ บาร์ ภายใต้เงื่อนไขมาตรการควบคุมโรค รวมถึงพิจารณาถอดหน้ากากได้บางสถานที่สาธารณะ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในไทยยังดูดีวันดีคืนรับการเปิดประเทศ โดยเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อ รายใหม่ 9,721 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 9,659 คน จากเรือนจำ 11 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 51 คน ขณะที่ยอดตรวจ ATK 5,016 คน หายป่วยเพิ่มขึ้น 20,145 คน อยู่ระหว่างรักษา 118,567 คน อาการหนัก 1,669 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 804 คน มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,281,536 คน มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 4,134,191 คน

ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 77 คน อายุ 19-100 ปี เป็นชาย 43 คน หญิง 34 คน เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 63 คน มีโรคเรื้อรัง 11 คน ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 3 คน โดยภาคตะวัน ออกเฉียงเหนือยังมียอดรวมผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตสูงสุดที่ 28 คน ขณะที่ กทม.ลดฮวบ แค่ 2 คน ทำให้ยอดผู้ป่วยเสียชีวิตในระลอกปีนี้ 7,080 คน และผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 28,778 คน

...

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด ได้แก่ กทม. 3,649 คน บุรีรัมย์ 372 คน สมุทรปราการ 302 คน ชลบุรี 271 คน ขอนแก่น 269 คน ศรีสะเกษ 235 คน สุรินทร์ 233 คน ร้อยเอ็ด 200 คน อุบลราชธานี 176 คน และพระนครศรีอยุธยา 171 คน พร้อมกับมีข่าวดีเมื่อมีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่เป็นเลขหลักเดียวเพิ่มขึ้นอีกหลายจังหวัด ได้แก่ นราธิวาส 5 คน ปัตตานี 4 คน ยะลา 5 คน สตูล 4 คน ชัยนาท 1 คน แพร่ 6 คน แม่ฮ่องสอน 5 คน ส่วน จ.ลำพูน ผู้ติดเชื้อใหม่เป็นศูนย์ต่อเนื่องเป็นวันที่สาม

ขณะที่การฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 2 พ.ค.2565 ฉีดได้เพิ่ม 284,878 โดส เป็นเข็มแรก 4,807 คน เข็มสอง 13,830 คน และเข็ม 3 ขึ้นไป 266,241 คน ทำให้ตั้งแต่ 28 ก.พ.2564 ฉีดวัคซีนสะสม 133,927,344 โดส ส่วนการฉีดวัคซีนให้กลุ่มเป้าหมายผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 12,704,543 คน ฉีดเข็มแรกแล้ว 10,697,596 โดส คิดเป็นร้อยละ 84.2 เข็มสอง 10,155,239 โดส คิดเป็นร้อยละ 79.9 และเข็มสามหรือเข็มกระตุ้น 5,275,714 โดส คิดเป็นร้อยละ 41.5 ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปี จำนวน 5,150,082 คน ฉีดเข็มแรกไปได้ 2,742,445 โดส หรือคิดเป็นร้อยละ 53.3 เข็มที่สอง 672,185 โดส คิดเป็นร้อยละ 13.1

วันเดียวกัน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊กถึงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยว่า จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK ของไทยสูงเป็นอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 พ.ค. สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก แม้ว่าจำนวนเสียชีวิตที่รายงานจะลดลงมากตั้งแต่ 1 พ.ค.2565 เพราะหน่วยงาน ไทยปรับการรายงานเหลือเฉพาะคนที่เสียชีวิตจากโควิด-19 (Death from COVID-19) ไม่รวมคนที่เสียชีวิตจากโรคร่วมและพบว่าติดเชื้อ (Death with COVID-19) โดยอัตราการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 26.73 ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย หากดูจำนวนการติดเชื้อใหม่ต่อวัน รวม ATK ไทยเราจะติดอันดับท็อป 10 ของโลกมาติดต่อกันยาวนานถึง 46 วันแล้ว

รศ.นพ.ธีระระบุอีกว่า ส่วนจำนวนการเสียชีวิตต่อวันนั้น ติดอันดับท็อป 10 ต่อเนื่องมาแล้ว 17 วัน การแยกจำนวนการเสียชีวิตเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.เสียชีวิตจากโควิด-19 และ 2.เสียชีวิตจากโรคร่วมและติดโควิด หากแยกกลุ่มได้ชัดเจนอาจเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนจัดการดูแลรักษาและป้องกัน แต่จำเป็นต้องนำเสนอให้สาธารณชนได้ทราบ “ทั้งสองกลุ่ม” เพราะสถานการณ์การระบาดจริงนั้นครอบคลุมคนทั้งสองกลุ่ม หากเลือกนำเสนอเพียงส่วนเดียว ย่อมทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อน เห็นเพียงภาพบางส่วนของจำนวนผู้เสียชีวิตและติดเชื้อทั้งหมด การเสนอ “ทั้งสองส่วน” พร้อม “ยอดรวม” ยิ่งทำให้ระบบรายงานมีความละเอียดรอบคอบ โปร่งใส และทุกคนเข้าถึงข้อมูลได้ ประเมินสถานการณ์ได้ และนำไปใช้ตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์การระบาดได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่ควรรายงานเพียงส่วนเดียว นี่คือสิ่งที่ควรทำในภาวะวิกฤติ เพื่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม

ด้าน พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงการเตรียมความพร้อมให้พื้นที่ กทม. รองรับการบริหารจัดการโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยกร่างแนวทางดำเนินการเพื่อเตรียมแผนการนำโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจจะมีมาตรการผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมบางอย่าง โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้คณะทำงานพิจารณาแนวทางไปกำหนดร่างรายละเอียด เน้นในเรื่องของการควบคุมโรคให้แต่ละพื้นที่นำไปปรับใช้ ส่วนเรื่องสถานบันเทิงผับ บาร์ ที่ขณะนี้ยังปิดอยู่ อาจจะพิจารณาให้เปิดภายใต้เงื่อนไขมาตรการควบคุมโรค หรือบางสถานที่สาธารณะต่างๆ ที่ประเมินว่าไม่มี ความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะพิจารณาให้สามารถถอดหน้ากากได้ ทั้งนี้คณะทำงานชุดดังกล่าวจะมีการประชุมหารือในวันที่ 10 พ.ค.นี้ จากนั้นจะต้องเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อพิจารณาก่อนเสนอที่ประชุม ศบค.ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเห็นชอบต่อไป

...

พญ.ป่านฤดีกล่าวว่า ส่วนเรื่องวัคซีนเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์โดส) นั้น ล่าสุด กทม.เร่งประชา สัมพันธ์ให้ประชาชนไปเข้ารับวัคซีนเข็มกระตุ้น ทั้ง เข็ม 3 เข็ม 4 รวมถึงวัคซีนสำหรับเด็กเพื่อลดการเจ็บป่วยให้มากที่สุด อย่างน้อยเพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่ สธ.กำหนด ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต เร่งไปติดตามว่ายังมีประชาชนในชุมชนรายใดที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดไม่ครบตามกำหนดหรือไม่ เพื่อติดตามให้กลุ่มนี้เข้ารับวัคซีนให้เร็วที่สุดต่อไป สำหรับผลดำเนินการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. ข้อมูล ณ วันที่ 2 พ.ค.2565 เวลา 16.00 น. เข็ม 1 จำนวน 9,872,113 โดส เข็ม 2 จำนวน 9,048,116 โดส เข็ม 3 จำนวน 5,447,050 โดส เข็ม 4 จำนวน 1,006,155 โดส ยอดผู้รับวัคซีนสะสม 25,373,434 โดส

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 ในต่างแดน เมื่อวันที่ 3 พ.ค. รัฐบาลไต้หวันประกาศผ่อนคลายมาตรการสกัดกั้นไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม โดยลดวัน กักตัวของนักเดินทางที่มาไต้หวัน เหลือเพียง 7 วัน จากเดิม 10 วัน แต่ยังต้องรับการตรวจเชื้อแบบ RT- PCR เมื่อเดินทางมาถึง ส่วนที่เกาหลีใต้ สำนักข่าว ต่างประเทศรายงานบรรยากาศหลังรัฐบาลยกเลิกมาตรการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะในวันที่ 2 พ.ค. แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงสวมหน้ากากอนามัยตามเดิม จากการสอบถามหลายคนระบุว่า เห็นคนอื่นสวมเลยทำตาม หรือบอกว่าจะเลิกสวมก็ต่อเมื่อยอดติดเชื้อลดลงต่ำกว่า 5,000 คนต่อวัน ซึ่งขณะนี้ยอดคนติดเชื้อรายใหม่ยังอยู่ที่กว่า 20,000 คนต่อวัน ขณะที่รัฐบาลฟิลิปปินส์พิจารณาบริจาควัคซีนต้านไวรัสโควิดยี่ห้อสปุตนิควีของรัสเซียที่ใกล้ หมดอายุให้รัฐบาลเมียนมา 5 ล้านโดส ถือเป็นการ บริจาควัคซีนครั้งแรกของฟิลิปปินส์