ปัญหาหลักในสังคมยุคปัจจุบันคือ เรื่องสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิต ทั้งในเรื่อง...“โรคระบาด”...“ยาเสพติด” และ “อุบัติเหตุ”

โดยกลไกที่มีหน้าที่จัดการปัญหาต่างๆข้างต้น ยังขาดประสิทธิภาพและมีความน่ากังขา ทั้งในเรื่องความรับผิดชอบ การตอบสนอง ความโปร่งใส ประสิทธิผล ความเป็นธรรม ขัดผลประโยชน์และอื่นๆทำให้ยากที่จะเกิดความเชื่อมั่น เชื่อใจ ไว้ใจ...จึงเห็นภาวะเคว้งคว้างของผู้ได้รับผลกระทบ

ต้องพึ่งตนเองหรืออาศัยคนในสังคมช่วยกันตามกำลังที่มี

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)” พร้อมตอกย้ำข้อมูลวันที่ 28 เม.ย.2565 ระบุว่า อัตราการป่วยต่อประชากรแสนคนนั้นสะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาจากนโยบายและมาตรการที่ดำเนินการในช่วงระบาดระลอกที่สองและสาม

หากจำกันได้คือ การระบาดหนักระลอกสองในโรงงานและชุมชนของจังหวัดสมุทรสาคร โดยไม่ได้ล็อกดาวน์และปูพรมตรวจ แต่ใช้บับเบิ้ลแอนด์ซีลโรงงาน และนโยบายกล่องทรายท่องเที่ยวในภูเก็ตตั้งแต่ระลอกสามที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน...

...

ภูเก็ตมีอัตราการป่วยต่อประชากรสูงถึง 10,539 คนต่อประชากร 100,000 คน และสมุทรสาคร 9,721 คนต่อประชากร 100,000 คน

เคยวิเคราะห์ไว้ตั้งแต่ต้นว่า “นโยบาย” และ “มาตรการ” นั้นจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์การแพร่ระบาด (epidemic landscape) ระยะยาว และเป็น The train with no return...เหมือนรถไฟไปแล้วไม่กลับ ดังนั้นในพื้นที่อื่นๆ ประชาชนและหน่วยงานระดับพื้นที่จึงต้องช่วยกันป้องกันควบคุมโรคให้ดี

เพราะ...สุดท้ายการตัดสินใจรับมือด้วยนโยบายหรือมาตรการใดๆ นั้น จะนำไปสู่ผลลัพธ์ระยะยาวต่อถิ่นฐานที่เราและลูกหลานพำนักอาศัย และทำมาหากินในอนาคต

“กระแสโลกทุนนิยมใช้กิเลสเชื้อเชิญให้ประเทศต่างๆโยนหน้ากากทิ้ง ทั้งๆที่การระบาดยังอยู่ในระดับสูงกระจายทั่ว วัคซีนมีประสิทธิภาพในแง่ลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ ยากที่จะป้องกันการติดเชื้อและประสิทธิภาพก็ลดลงตามกาลเวลา”

แถม “ลองโควิด (Long COVID)” ก็เป็นผลกระทบที่ชัดเจนทั่วโลก ด้วยข้อมูลทางการแพทย์ปัจจุบันจึงชัดเจนว่า ไม่ใช่เวลาโยนหน้ากากทิ้งจากชีวิตประจำวัน หากจ้ำตามนโยบายหรือมาตรการที่ใช้กิเลสนำเช่นนั้น คงพอเห็นภาพอนาคตได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

คนที่มีจิตสำนึกด้านสุขภาพ (Health consciousness) จะมีความเสี่ยงน้อยกว่าคนที่ประมาท ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ จะดีที่สุด

อัปเดตจากองค์การอนามัยโลก รายงานล่าสุด WHO Weekly Epidemiological Update (27 เม.ย.65) “โอมิครอน”... ยังครองการระบาดทั่วโลก โดยตรวจพบเป็นสัดส่วน 99.7%

WHO ระบุว่า กำลังเฝ้าติดตามสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ที่เกิดขึ้นของโอมิครอน ซึ่งข้อมูลปัจจุบันชี้ให้เห็นว่าสายพันธุ์ย่อย BA.4, BA.5 และ BA.2.12 นั้นดูจะมีสมรรถนะในการแพร่ระบาดสูงกว่าสายพันธุ์ BA.2 ที่เป็นสายพันธุ์หลักในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามข้อมูลยังมีจำกัด

คาดว่า...น่าจะมีความรุนแรงและลักษณะอาการต่างๆไม่ต่างจากเดิม

หากดูสถิติการระบาดรายสัปดาห์ทั่วโลกมีรายงานจำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 21% และจำนวนการเสียชีวิตลดลง 20% ดูที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีไทยอยู่นั้น พบว่า...

จำนวนติดเชื้อใหม่ลดลง 6% แต่จำนวนเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 41%

สำหรับ “ประเทศไทย” เรานั้น หากดูจำนวนติดเชื้อใหม่ โดยรวม ATK จะพบว่าเพิ่มขึ้น 7.7% ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตก็ติดท็อปเทนของโลกมาติดต่อกันถึง 12 วัน สถานการณ์ระบาดจึงยังคงสวนกระแสโลก

...การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่ควรทำ

“โควิด...ไม่ได้จบแค่หายหรือตายแต่จะเกิดลองโควิด ซึ่งทำให้บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน ความสัมพันธ์ และเป็นภาระค่าใช้จ่ายระยะยาวทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม...ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด ใส่หน้ากากนะครับ สำคัญมาก”

อัปเดตสถานการณ์ศึกษาวิจัยวัคซีนทั่วโลก องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยแพร่เอกสารสรุปสถานะการศึกษาวิจัยวัคซีนทั่วโลก (26 เม.ย.65) ขณะนี้มีวัคซีนทดลองที่กำลังศึกษาทางคลินิก 153 ตัว และที่กำลังศึกษาในระดับห้องปฏิบัติการ 196 ตัว

...

สำหรับวัคซีนที่กำลังศึกษาทางคลินิกนั้น ส่วนใหญ่เป็นชนิดวัคซีนที่ทำจากส่วนหนึ่งของเชื้อ หรือ “Protein subunit” 34% ตามมาด้วยชนิด RNA 18% ชนิดที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ หรือ “Viral vector” 14% และชนิดเชื้อตาย 14% ...ส่วนใหญ่แล้วมักเป็นวัคซีนชนิดฉีด (84%) โดยเป็นประเภทต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 77%

ทั้งนี้ มีการศึกษาจำนวนน้อยสำหรับวัคซีนประเภทที่ต้องฉีดเข้าในหนัง (intradermal) ใต้ผิวหนัง (subcutaneous) พ่นเข้าจมูก (intranasal) สูดดม (inhaled) และประเภทละอองฝอย (aerosol)

ประเด็นสำคัญมีว่า...วัคซีนส่วนใหญ่มักต้องมีการรับวัคซีนในการศึกษาวิจัยจำนวน 2 ครั้ง (58%) เมียงมองกลับมาที่สถานการณ์การระบาดของไทยยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง...ทำงาน ค้าขาย บริการ พบปะติดต่อ ศึกษาเล่าเรียน

“การใส่หน้ากากเป็นหัวใจสำคัญ เพราะเป็นด่านสุดท้ายในการป้องกันตัวเรา โควิด...ไม่จบแค่หายหรือตาย แต่เกิดปัญหาระยะยาวอย่างลองโควิดได้ ป้องกันตัว ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด”

...

ย้ำเตือนเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับ “โรคประจำถิ่น (Endemic diseases)”... “Endemic doesn't mean harmless”...ถิ่นไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นอันตราย รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ย้ำว่า โรคประจำถิ่นไม่ควรนำมาใช้ทำแคมเปญให้เข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าเป็นโรคธรรมดา ไม่น่ากลัว ไม่ต้องสนใจ ไม่ต้องกังวลอีกต่อไป

“โรคประจำถิ่นนั้น โดยแท้จริงแล้วหมายถึงโรคที่ถูกระบุว่า พบได้บ่อยหากใครจะเดินทางไปยังพื้นที่นั้น ดินแดนนั้น ประเทศนั้น...โรคประจำถิ่นนั้น จะถูกใช้เมื่อเจอโรคนั้นอย่างเป็นประจำในถิ่นนั้น โดยรู้ว่ามีอัตราการติดเชื้อเพียงใดในลักษณะที่คงที่ โดยอาจมากขึ้นน้อยลงตามฤดูกาลได้”

และ...สามารถคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของเชื้อโรคได้ดีในระดับหนึ่งเพื่อวางแผนจัดการรับมือ มิให้เกิดการระบาดจนเกินควบคุม

ทั้งนี้ การจะจัดการโรคประจำถิ่นได้ดีนั้นยัง “จำเป็น” ต้องมียาที่ใช้ในการรักษาและวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้พึ่งพา “ยาผีบอกหรือพืชผักสมุนไพร” ที่คิดเอาเองว่าได้ผลโดยไม่ได้รับการพิสูจน์ตามขั้นตอนมาตรฐานและเป็นที่ยอมรับ

...

ที่สำคัญที่สุดคือ โรคประจำถิ่นนั้นไม่ได้แปลว่า “ไม่อันตราย” ไม่ได้แปลว่า “อ่อน กระจอก ธรรมดา ไม่รุนแรง”...แนวโน้มความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน จะเป็นบ่อเกิดของความประมาท.