หมอประสิทธิ์ เผยข้อมูล "อาการลองโควิด" ไม่ว่าจากสายพันธุ์ใดประมาณ 15-30% ของคนติดเชื้อ มีมากกว่า 50 อาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงมากขึ้น คาดเกิดจากระบบภูมิคุ้มกัน

วันที่ 22 มีนาคม 2565 ที่ รพ.ศิริราช ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวถึงกรณียาฟาวิพิราเวียร์มีรายงานว่าได้ผลดี ว่า การใช้ยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาทิ โมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด เกิดขึ้นระหว่างการระบาดเดลตา แต่ขณะนี้เป็นโอมิครอน ที่ข้อมูลทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ผ่านมา 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 พบว่า คนฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 โดส แล้วติดโอมิครอนความรุนแรงของโรคน้อยลง

แม้ว่ายา 2 ตัวดังกล่าวมีรายงานว่ามีประสิทธิภาพดี แต่ยาฟาวิพิราเวียร์ ก็มีรายงานว่าได้ผลดีเช่นกัน เพียงแต่เราไม่ได้พูดถึง เราพูดถึงแต่ยาใหม่ หากโอมิครอนรุนแรงกว่าเดลตา ตนเห็นด้วยที่จะพูดถึงยาใหม่ แต่ขณะนี้ไม่ใช่ เพราะเชื้อขณะนี้มีความรุนแรงน้อยกว่า และคนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น มีกระทั่งคำถามว่า ยายังมีความจำเป็นหรือไม่ เหมือนเราเป็นหวัด ปกติก็ไม่ได้ทานยา ใช้การพักผ่อนให้มาก เพียงแต่ตอนนี้ยาเหล่านี้เป็นตัวเลือกในกลุ่ม 608 ที่เสี่ยงต่ออาการมาก

นอกจากนี้ ศ.นพ.ประสิทธิ์ ได้กล่าวถึงอาการลองโควิดว่า มีการสัมมนาใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ พบว่า โดยเฉลี่ยอาการลองโควิดเกิดขึ้นไม่ว่าจากสายพันธุ์ใดประมาณ 15-30% ของคนติดเชื้อ มีมากกว่า 50 อาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงมากขึ้น และน่าจะเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของคนเรา ที่ยังมีการกระตุ้น ทำให้บางคนที่หายแล้วแต่ยังมีการอักเสบในร่างกาย ทั่วโลกกำลังศึกษากลไกการเกิดที่แท้จริง จากการติดตามผู้ป่วยที่หายเป็นระยะ

ขณะนี้ตนพบเพียงรายงานเดียวจากการศึกษาแต่ยังไม่ได้รับการยืนยันเพิ่มเติม ซึ่งพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 มีอุบัติการณ์เกิดอาการลองโควิดน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด อย่างไรก็ตามหน่วยงานต่างๆ โดย กระทรวงสาธารณสุข มีการกำหนดตั้งทีมติดตามอาการลองโควิด-19 และเฝ้าติดตามข้อมูลทั่วโลกในแนวทางการรักษาต่อไปด้วย

...