ครม.เห็นชอบแล้วหลักเกณฑ์เบิกจ่ายยูเซ็ปโควิด-19 พลัส เริ่มใช้ 16 มี.ค.นี้ สธ.ยืนยันไม่ได้ลด สิทธิการรักษาผู้ติดเชื้อโควิด-19 หากมีอาการรุนแรง กลุ่มสีเหลือง-สีแดง แต่ไม่เกี่ยวกับการเข้าฮอสพิเทล ส่วนกลุ่มสีเขียวให้ใช้ตามสิทธิที่มี ฟรีเหมือนกัน ขณะที่ “อนุทิน” แย้มโควิดเริ่มขาลง หลังยอดติดเชื้อลด รักษาหายมากกว่า แม้ยอดตายทำนิวไฮต่อที่ 69 ศพ ด้านกรมอนามัยเร่งให้หญิงตั้งครรภ์มาฉีดวัคซีนกันโควิด-19 หลังพบติดเชื้อสูงขึ้น สัปดาห์แรก มี.ค.พุ่งไป 224 คน เสี่ยงต่อชีวิตทั้งแม่และทารกในครรภ์

คนไทยรออย่างใจอย่างจดใจจ่อว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) จะทุเลาเบาบางลงเมื่อใด หลังเริ่มมีแววดีขึ้นเมื่อยอดติดเชื้อยืนยันรายใหม่รายวันมีแนวโน้มลดลง ไม่ถึง 2 หมื่นคนเป็นวันแรก

หายป่วยแซงติดเชื้อใหม่

ที่ทำเนียบรัฐบาล ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศ เมื่อวันที่ 8 มี.ค.ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18,943 คน ซึ่งถือว่าลดต่ำกว่า 2 หมื่นคนเป็นวันแรก แยกเป็นติดเชื้อในประเทศ 18,843 คน จากเรือนจำ 34 คน มาจากต่างประเทศ 66 คน หายป่วยเพิ่ม 25,005 คน อยู่ระหว่างรักษา 224,328 คน อาการหนัก 1,189 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 400 คน

ตายพุ่งต่อเนื่อง 69 ศพ

ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 69 คน เป็นชาย 39 คน หญิง 30 คน เมื่อจำแนกสัญชาติเป็นคนไทย 68 คน เมียนมา 1 คน เป็นกลุ่มคนอายุ 60 ปีขึ้นไป 52 คน มีโรคเรื้อรัง 15 คน ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 2 คน ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงคือโรคมะเร็ง (2) อ้วน (9)โรคไต (16) ติดเตียง (10) ติดเชื้อจากคนรู้จัก 25 คน ครอบครัว 12 คน พื้นที่ระบาด 30 คน เรือนจำ 2 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยัน 3,066,800 คนผู้หายป่วยสะสม 2,819,103 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 23,369 คน และมียอดฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 7 มี.ค. เพิ่มขึ้น 120,488 โดส รวมฉีดวัคซีน 125,036,572 โดส

...

กทม.แชมป์ป่วย–ปอดอักเสบ

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ กทม. 2,939 คน ชลบุรี 1,003 คน นครศรีธรรมราช 833 คน สมุทรปราการ 769 คน นนทบุรี 701 คน สมุทรสาคร 587 คน ภูเก็ต 563 คน นครราชสีมา 555 คน พระนครศรีอยุธยา 528 คน บุรีรัมย์ 446 คน ส่วนจังหวัดที่มีผู้ป่วยเสียชีวิตสูงสุดได้แก่ จ.ชลบุรี 12 ศพ ตามด้วย กทม. 6 ศพ และสุราษฎร์ธานี 5 ศพ ขณะเดียวกัน มีจังหวัดที่ไร้ผู้ติดเชื้อรายใหม่คือ ลำพูน นอกจากนี้ ศบค.ยังรายงาน 10 จังหวัดแรกที่ผู้ป่วยโควิด-19 ปอดอักเสบกำลังรักษาในโรงพยาบาล เมื่อวันที่ 7 มี.ค. ได้แก่ กทม. 176 คน สมุทรปราการ 80 คน นนทบุรี 55 คน นครศรีธรรมราช 43 คน สุราษฎร์ธานี และบุรีรัมย์ 42 คน กาญจนบุรี 40 คน ภูเก็ต 39 คน และชลบุรี 38 คน

“อนุทิน” บอกโควิดขาลงแล้ว

ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯและ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุม ครม.ถึงตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ลดลง แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้นว่า ตอนนี้สถานการณ์น่าจะเป็นขาลง ทุกรอบของการระบาด ช่วงแรกผู้ติดเชื้อกับผู้หายป่วยมีตัวเลขห่างกันแต่วันหนึ่งผู้หายป่วยจะมากขึ้น ถ้าผู้หายป่วยมากกว่าผู้ติดเชื้อเช่นวันนี้ที่ผู้หายป่วยมากกว่าผู้ติดเชื้อใหม่ประมาณ 5 พันกว่าคนถือเป็นสัญญาณที่ดี ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตต้องนำไปเทียบเคียงกับผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง อีกทั้งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จากรายงานคือผู้ไม่ได้รับวัคซีน และยังเสียชีวิตจากกรณีอื่น เช่น ประสบอุบัติเหตุ แต่พอตรวจว่ามีเชื้อโควิดก็ลงบันทึกว่าเป็นโควิด จากนี้ได้ขอให้กรมควบคุมโรคได้แยกประเภทเพื่อป้องกันความตื่นตระหนก

ยันยูเซ็ปพลัสไม่ลิดรอนสิทธิ

นายอนุทินยังกล่าวถึงการนำยูเซ็ปพลัสเข้าที่ประชุม ครม.ด้วยว่า ยืนยันทุกอย่างยังเหมือนเดิม เป็นการจัดระเบียบผู้ป่วยสีเขียว เพื่อมีเตียงให้ผู้ป่วยอาการรุนแรง ผู้ที่อาการไม่รุนแรงก็รักษาตัวอยู่ที่บ้าน หรือ HI หรือใช้หลักเจอ จ่าย จบ ซึ่งการจัดระเบียบตรงนี้ ไม่จำเป็นต้องเข้า ครม. ตนลงนามได้และลงนามไปแล้ว แต่ที่มาเข้า ครม.วันนี้คือการของบประมาณดูแลยูเซ็ปพลัส ซึ่งเหมือนเดิมสำหรับผู้ป่วยที่อาการรุนแรง ฉุกเฉิน สามารถเข้าโรงพยาบาลไหนก็ได้ และไม่ต้องส่งตัว แต่เราจะขอปรับหมวดค่าใช้จ่าย เพื่อที่ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรีบจ่ายค่ารักษาให้โรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยเหล่านี้ ไม่ได้ลิดรอนสิทธิ เพราะได้ข่าวโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งที่ต่างจังหวัดรักษาผู้ป่วยโควิดแต่ยังเบิกเงินไม่ได้

เริ่มใช้ยูเซ็ปโควิดพลัส 16 มี.ค.

ต่อมา นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ให้สัมภาษณ์ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายยูเซ็ปโควิดพลัส (UCEP Covid-19 Plus) กรณีผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ มีผลบังคับใช้วันที่ 16 มี.ค.2565 รองรับผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลือง สีแดง และกลุ่มสีเขียวที่มีอาการเปลี่ยนแปลงไปเป็นสีเหลือง สามารถใช้บริการสถานพยาบาลใดก็ได้ที่ใกล้บ้าน เพราะถือเป็นความเร่งด่วน สามารถใช้บริการได้จนรักษาหาย ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิเพียง 72 ชั่วโมงแล้วย้ายกลับไปรักษาใน รพ.ตามสิทธิ ส่วนผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวเป็นการปรับเปลี่ยนระบบบริการไปสู่การรับบริการตามสิทธิสุขภาพของแต่ละบุคคล เช่น ประกันสังคม สวัสดิการราชการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) เป็นต้น

ย้ำรักษาฟรีตามสิทธิที่มี

พร้อมกันนี้ นพ.ธเรศยกตัวอย่างกรณีที่อยู่คนละพื้นที่กับสิทธิที่ตัวเองมี เช่น ไปทำงานอยู่อีกจังหวัดหนึ่งเป็นการชั่วคราว แล้วติดโควิดอาการเล็กน้อย หากเป็นประกันสังคม สามารถใช้บริการสถานพยาบาลในเครือของประกันสังคมได้ ส่วนบัตรทอง ตามนโยบายของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข กำหนดว่าสามารถใช้สิทธิบัตรทองพลัสรักษาที่ไหนก็ได้ เรียกว่าเป็นผู้ป่วยนอก (OPD) เหมือนโรคทั่วไป ดังนั้น จะไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องยาและการรักษาพยาบาล รวมถึงกรณีแพทย์ให้รักษาที่บ้านด้วย เป็นการปรับระบบให้รักษาตามสิทธิ ย้ำว่าทุกคนรักษาฟรี ไม่เสียสิทธิอะไร พบว่าที่ผ่านมาประชาชนนิยมไป รพ.ใหญ่ๆ ทำให้ผู้ป่วยโรคอื่นเสียสิทธิในการรักษา เช่น เลื่อนผ่าตัดหัวใจ มะเร็ง โรคไต เพราะไม่เกิดการกระจายไปรักษา รพ.ตามสิทธิของตัวเอง ตอนนี้จึงทำให้ระบบการแพทย์กลับมาสู่แนวทางที่ควรเป็น

...

สพฉ.เร่งคลอดแนวทาง

ผู้สื่อข่าวถามถึงเกณฑ์การพิจารณากลุ่มอาการสีเหลือง สีแดง และสีเขียวที่อาการรุนแรงขึ้นไป นพ.ธเรศกล่าวว่า สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กำลังเร่งทำแนวทางออกมา โดยอิงข้อมูลจากกรมการแพทย์ ซึ่งจะมีข้อกำหนดออกมาพร้อมกับที่จะมีผลบังคับใช้ยูเซ็ปโควิดพลัส คาดว่าวันที่ 16 มี.ค.นี้ จะมีการประกาศแล้วมีผลบังคับใช้พร้อมกัน ทั้งนี้ กลุ่มสีเหลือง คือเริ่มอาการปอดบวม หายใจเร็ว ไข้สูง หรือต้องใช้ท่อออกซิเจน ส่วนสีแดงจะตามข้อกำหนดเดิม เช่น ภาวะช็อก หัวใจล้มเหลว ต้องใช้ เครื่องช่วยหายใจ และเมื่อกลุ่มสีเขียว แล้วอาการมากขึ้น สามารถไป รพ.ที่ไหนก็ได้ใกล้บ้าน ตามสิทธิยูเซ็ปโควิดพลัส ซึ่งจะมีการประเมินเข้าสู่ระบบเพื่อรักษา อย่างไรก็ตาม ยูเซ็ปโควิดพลัสไม่เกี่ยวกับฮอสพิเทลที่เป็นสถานพยาบาลชั่วคราว ใช้ดูแลผู้ติดเชื้อสีเขียวและเหลือง ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลนั้นๆ ว่าจะเปิดต่อหรือไม่

เฝ้าระวังหญิงท้องติดเชื้อ

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ตอนนี้ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูง กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต คือกลุ่มหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด 6 สัปดาห์ เนื่องจากพบว่าวันที่ 27 ก.พ.-5 มี.ค. มีการติดเชื้อในกลุ่มนี้ สูงถึง 224 คน ข้อมูลหญิงตั้งครรภ์และหลังคลอด 6 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.64-5 มี.ค.65 ติดเชื้อสะสม 7,210 คน เสียชีวิต 110 คน คิดเป็นร้อยละ 1.5 ขณะที่เด็กแรกเกิดคลอด 4,013 คน ติดเชื้อ 319 คน คิดเป็นร้อยละ 8 เสียชีวิต 67 คน คิดเป็นร้อยละ 1.6 การติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์ทำให้มีการผ่าตัดคลอดมากกว่าหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ติดเชื้อถึงร้อยละ 53 รวมถึงทารกน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่า 2,500 กรัม มากถึงร้อยละ 15 ส่วนหญิงตั้งครรภ์ 7,210 คนที่ติดโควิด ไม่ได้รับวัคซีน 6,292 คนคิดเป็นร้อยละ 87 ได้รับเข็ม 1 ติดเชื้อ 368 คน คิดเป็นร้อยละ 5 และได้รับครบ 2 เข็มติดเชื้อ 550 คน คิดเป็นร้อยละ 8 เมื่อวิเคราะห์อัตราเสียชีวิต พบว่าหญิงตั้งครรภ์รับวัคซีน 2 เข็ม มีอัตราลดลงเกือบ 10 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน

...

ตั้งเป้าฉีดครบ 2.4 แสนคน

นพ.สุวรรณชัยกล่าวถึงการฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ว่า ข้อมูลจนถึงวันที่ 5 มี.ค. ฉีดเข็ม1แล้ว 117,385 คน เข็ม 2 อีก 105,094 คน และเข็ม3อีก 17,361 คน สธ.มีเป้าหมายให้ฉีดวัคซีนครบ 240,000 คน การติดตามข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์และผลลัพธ์การคลอดของหญิงตั้งครรภ์ พบว่ามีผู้ที่รับวัคซีนและคลอดแล้ว 2,770 คน โดยร้อยละ 57 ไม่มีอาการข้างเคียงจากวัคซีน ร้อยละ43 มีรายงานผลข้างเคียงจากวัคซีน พบว่าเกือบร้อยละ 97 มีอาการเช่นเดียวกับคนทั่วไป เช่น ปวด มีไข้บวมบริเวณฉีด อีกร้อยละ 3 มีรายงานอาการเกี่ยวกับครรภ์ เช่น ปวดท้องน้อย จากการสอบสวนพบว่าเกือบทั้งหมดเป็นอาการเจ็บครรภ์คลอด จึงอยากให้ความมั่นใจว่าการฉีดวัคซีนมีความปลอดภัย ขอเชิญชวนให้หญิงตั้งครรภ์เข้ารับวัคซีน สามารถฉีดได้ทุกอายุครรภ์และทุกยี่ห้อ สามารถให้พร้อมกับวัคซีนอื่นที่จำเป็นได้ เพื่อลดความเสี่ยง ส่วนหญิงที่คลอดและยังไม่ได้รับวัคซีนสามารถฉีดได้ก่อนกลับบ้าน ส่วนที่ยังไม่สมัครใจฉีด ก็ขอให้คนในครอบครัวฉีดวัคซีนโควิดตามเกณฑ์

คาดติดเชื้อถึงจุดพีกแล้ว

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่าช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ตัวเลขติดเชื้อทั้งจากการตรวจRT-PCR และ ATK มีแนวโน้มลดลง แต่ต้องดูปลายสัปดาห์อีกครั้ง เนื่องจากปกติเวลาตัวเลขติดเชื้อจะขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์ แต่หากดูเฉพาะตัวเลขคาดว่าตอนนี้ถึงจุดพีกของการติดเชื้อแล้ว เพราะตัวเลขลงมา 2-3 วันแล้ว และคลัสเตอร์ใหญ่ๆก็ไม่ค่อยพบแล้ว ส่วนการติดเชื้อรายคนยังคงเดิมอยู่

“จูน–กษมา–ลิลลี่” ติดโควิด

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คนบันเทิงออกมาประกาศว่าติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม โดยรายแรกได้แก่ “จูน-กษมา ศิลาชัย” ภรรยาพิธีกรนักแสดงชื่อดัง “เปิ้ล-นาคร ศิลาชัย” โดยระบุว่า วันอาทิตย์เริ่มมีอาการไอ มีไข้อ่อนๆจึงไปตรวจเชื้อด้วยวิธี RT-PCR ผลออกว่าพบเชื้อโควิด-19 และปฏิบัติตามมาตรการที่แพทย์แนะนำแล้ว ส่วนลูกทั้ง 4 คน และเปิ้ล-นาคร ยังคงกักตัวอยู่ที่บ้าน ส่วนตัวจูนต้องแยกออกมาเพราะมีโรคประจำตัว ขณะที่นักร้องสาว “ลิลลี่ ได้หมดถ้าสดชื่น” หรือ “นารีนาท เชื้อแหลม” เจ้าของเพลง “เลิกคุยทั้งอำเภอเพื่อเธอคนเดียว” โพสต์แจ้งว่าตรวจพบเชื้อโควิด-19 และเข้าสู่กระบวนการการรักษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ ลิลลี่ไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กว่ามีอาการเมื่อยเนื้อ เมื่อยตัว ไอ คันคอ และเสียงแหบ พร้อมร้องไห้เพราะเป็นห่วงคุณแม่จะติดเชื้อเนื่องจากใกล้ชิดกันมาก

...