นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวเปิดนิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน” ว่า เนื่องในโอกาสครบรอบ 4 ปีที่องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรับรองให้โขนเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมวลมนุษยชาติ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรมศิลปากร และสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ร่วมกับ สถาบันไทยคดีศึกษา และคณะศิลปกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จัดนิทรรศการ “วิจิตราภรณ์และงานประณีตศิลป์แห่งโขน” ตั้งแต่วันนี้-25 มี.ค. ที่หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน ให้ประชาชนได้ชมศิลปกรรมอันทรงคุณค่าโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นายปรเมศวร์กล่าวอีกว่า ผลงานที่น่าสนใจ ภายในงานมีการแสดงเครื่องโขนโบราณในส่วนของศีรษะโขนที่เก่าแก่ที่สุด ได้แก่ ศีรษะกุมภกรรณหน้าทองแดงซึ่งยืมมาจากพิพิธภัณฑ์วัดพระแก้ว จ.เชียงราย อายุ 135 ปี, เศียรพระคเณศ ผลงานของครูชิต แก้วดวงใหญ่, ศีรษะทศกัณฐ์หน้าทองเขี้ยวแก้ว และ “ศีรษะหนุมานหน้ามุก” สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 6, ชุดห้อยหน้ารูปหัวกะโหลกพระคเณศและเครื่องแต่งกายโขนโบราณชุดของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเครื่องโขนโบราณงานฝีมือชั้นครูอายุไม่ต่ำกว่า 100 ปี นอกจากนี้ ยังมีงานร่วมสมัย อาทิ งานออกแบบเครื่องโขนต้นแบบของนายจักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินแห่งชาติ, ผ้าห่มนางกรองทองของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ซึ่งเป็นการฟื้นฟูงานช่างโบราณด้วยวิธีถัก ปัก และสอดปีกแมลงทับ ตลอดจนผลงานของครูและศิษย์ จากวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตรัตนโกสินทร์ โรงเรียนช่างฝีมือในวัง (ชาย) ร่วมจัดแสดงรวมทั้งหมดกว่า 100 ผลงาน.