การลงพื้นที่ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดสินค้าอ้อยโรงงาน ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคเหนือ กำแพงเพชร นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ซึ่งมีพื้นที่เก็บเกี่ยวอ้อยมากเป็นอันดับที่ 1-3 ของภาคเหนือ

ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ทั้ง 3 จังหวัด มีเนื้อที่เพาะปลูกรวม 1.95 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 19.70 ของเนื้อที่เพาะปลูกทั้งประเทศ ได้ผลผลิตรวม 7.40 ล้านตัน คิดเป็นร้อยละ 9.52 ของผลผลิตทั้งประเทศ

จำแนกเป็นรายจังหวัด กำแพงเพชรมีเนื้อที่เพาะปลูก 0.75 ล้านไร่ ผลผลิต 3.38 ล้านตัน เพชรบูรณ์มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.50 ล้านไร่ ผลผลิต 1.50 ล้านตัน และนครสวรรค์มีเนื้อที่เพาะปลูก 0.70 ล้านไร่ ผลผลิต 2.52 ล้านตัน

พันธุ์ที่เกษตรกรนิยมปลูกคือ พันธุ์ขอนแก่น 3 เนื่องจากให้ผลผลิต ประมาณไร่ละ 18-20 ตัน ทนแล้ง ลำใหญ่ แตกกอดี ให้ค่าความหวาน 11-13 ซีซีเอส

ขณะที่โรงงานน้ำตาลรับซื้ออ้อยตามราคาอ้อยขั้นต้นที่ตันละ 1,070 บาท ณ ระดับความหวานที่ 10 ซีซีเอส และผลผลิตอ้อยฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีน้อยกว่าความต้องการของโรงงานน้ำตาล ทำให้เกิดการแย่งซื้ออ้อยในบางพื้นที่

จะส่งผลดีต่อเกษตรกรที่สามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว ที่มติรัฐมนตรีกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นที่ตันละ 920 บาท

และโรงงานจะให้ราคาอ้อยสดสูงกว่าอ้อยไฟไหม้ และจะจ่ายเงินเพิ่มให้กับเกษตรกรที่ตัดอ้อยสด สะอาด และมีคุณภาพ ในส่วนของลานรับซื้อจะให้ราคาอ้อยสูงกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่กำหนดไว้

แม้ราคาอ้อยโรงงานจะสูงกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เกษตรกรพึงพอใจกับราคาที่ได้รับ แต่อย่างไรก็ตาม การลงพื้นที่ของสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร พบว่า ปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยากำจัดวัชพืช และยาปราบศัตรูพืช มีการปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการขาดแคลนแรงงานตัดอ้อย เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้เกษตรกรที่จะลงทุนปลูกอ้อยใหม่ในฤดูการผลิตนี้ มีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามไปด้วย.

...

สะ–เล–เต