"แพทย์สถาบันโรคผิวหนัง" ชี้ "ภาวะผมร่วงเป็นหย่อม" เกิดขึ้นได้หลังการฉีดวัคซีน "โควิด-19" พร้อมแนะการดูแลรักษาที่ถูกวิธี

นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า โรคผมร่วงเป็นหย่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยในทุกช่วงอายุ ผู้ป่วยจะมีอาการผมร่วงเป็นหย่อมๆ ที่ศีรษะ โดยอาจจะมีขนร่วงที่บริเวณอื่นร่วมด้วย เช่น คิ้ว, หนวด, จอน หรือขนตามร่างกาย ในรายที่เป็นมาก อาจมีอาการผมร่วงทั่วศีรษะ หรือขนตามร่างกายร่วงจนหมด โดยปกติแล้วโรคนี้จะเกิดไม่มีสาเหตุแน่ชัด

จากข้อมูลทางวิชาการเชื่อว่า การสร้างภูมิคุ้มกันตนเองของร่างกายร่วมกับการเสียการควบคุมของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจมีปัจจัยทางกรรมพันธุ์เกี่ยวข้อง หรือร่างกายถูกกระตุ้นได้จากปัจจัยบางอย่าง เช่น ความเครียดจากภาวะการเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ ทำให้มีการสร้างเซลล์เม็ดเลือดขาวและสารสื่อประสาทที่บริเวณต่อมผม ส่งผลต่อการสร้างผมผิดปกติ และวงจรชีวิตของผมเปลี่ยนจากระยะเจริญเติบโตเป็นระยะหลุดร่วงได้เร็วขึ้น

สำหรับ "ภาวะผมร่วงเป็นหย่อม" ภายหลังการฉีดวัคซีนโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้เนื่องจากวัคซีนมีกระบวนการเลียนแบบการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันต้านตนเอง ทำให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบที่บริเวณต่อมผม และมีผลทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้

ทางด้าน แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ เผยว่า ภาวะผมร่วงเป็นหย่อมภายหลังการฉีดวัคซีนโควิดอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่ยังจำเป็นที่จะต้องรอผลการศึกษามากกว่านี้ในเรื่องอุบัติการณ์การเกิดหลังจากการฉีดวัคซีน ในปัจจุบันมีการศึกษาผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่กลับมาเป็นซ้ำหลังการฉีดวัคซีนโควิด และมีความเป็นไปได้ถึงการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมสามารถเกิดขึ้นใหม่ หรือผู้ป่วยโรคผมร่วงเป็นหย่อมที่เป็นอยู่แล้วและจะมีอาการมากขึ้นหลังฉีดวัคซีน โดยจะคล้ายคลึงกับผู้ป่วยที่มีภาวะผมร่วงหลังจากมีการติดเชื้อโควิด แต่ยังไม่มีรายงานการศึกษาผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวมากพอที่จะสรุปผลได้

...

นอกจากนี้ยังพบว่าโรคผมร่วงเป็นหย่อมอาจเกิดภายหลังจากการฉีดวัคซีนอื่นๆ ได้ด้วย เช่น วัคซีนงูสวัด, วัคซีนไวรัสตับอักเสบบีและวัคซีนโรคไข้สมองอักเสบเจอี รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคผมร่วงเป็นหย่อมร่วมด้วย เช่น ปัจจัยทางกรรมพันธุ์, ความเครียด, การเจ็บป่วย, โรคภูมิแพ้, โรคไทรอยด์, โรคลูปัส, ภาวะซีดจากการขาดธาตุเหล็ก และภาวะการขาดวิตามินดี

อย่างไรก็ตาม ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า ผู้ที่มีภาวะผมร่วงเป็นหย่อมเพียงเล็กน้อย อาการผมร่วงอาจหายได้เอง หรือสามารถรับการรักษากับแพทย์เฉพาะทางด้วยการทายาสเตียรอยด์ หรือฉีดยาสเตียรอยด์ที่ศีรษะร่วมกับการทายาไมน็อกซิดิล 2-5% วันละ 2 ครั้ง เพื่อกระตุ้นผมให้ขึ้นใหม่ ส่วนการรับประทานเหล็กและวิตามิน เช่น สังกะสี, ไบโอติน, วิตามินดี ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการชัดเจนว่าจะมีส่วนช่วยรักษา แต่อย่างไรก็ตามหากอาการผมร่วงไม่ดีขึ้น มีผมร่วงทั่วศีรษะ หรือมีขนตามร่างกายร่วงด้วย ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง.