ศิลปวัฒนธรรมฉบับตุลาคม 2564 ภาพปกจอมพลทหารหนุ่ม ในวงกลมซ้อนวงกลมแบบเป้าปืน ใต้คำพาดหัว เปิดบันทึกจอมพล ป.พิบูลสงคราม เมื่อนายกรัฐมนตรีถูกทหารเรือจี้เป็นตัวประกัน
นริศ จรัสจรรยาวงศ์ เกริ่นนำเปิดเรื่องว่า ประวัติศาสตร์ไทยสมัยประชาธิปไตย ไม่มีเหตุการณ์ระทึกขวัญครั้งใด เทียบเคียงได้กับการจี้จับนายกรัฐมนตรีเป็นตัวประกัน ในชื่อที่คุ้นเคยกันดี กบฏแมนฮัตตัน 29 มิ.ย.2494
นับจากบ่ายสี่โมง 29 มิ.ย.ถึงเที่ยงคืน 30 มิ.ย. รวมสามสิบชั่วโมง กลับวังปารุสกวันได้โดยสวัสดิภาพ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนว่า จอมพล ป. มี “พระหลวงตาแปลก” คุ้มตัว
บันทึกจอมพล ป. ฉบับนี้ มีมุมมองแตกต่างจากมุมของ น.ต.มนัส จารุภา ที่เขียนเรื่อง เมื่อข้าพเจ้าจี้จอมพล แตกต่างจากมุมของ น.อ.อานนท์ บุณฑริกาภา ผู้การ ร.ล.ศรีอยุธยา หรือมุมมองของใครๆ หลายคน
ผมเอง อ่านมาแล้วพอควร ทั้งฉบับย่อ ฉบับขยาย...ตั้งใจอ่านบันทึกจอมพล ป.นับแต่ระเบิดลูกแรกจากเครื่องถล่ม กลั้นใจอ่านตอน จอมพล ป.กระโดดลงน้ำ หนีไปขึ้นฝั่งกองทัพเรือ
พื้นที่ที่จอมพลระหกระเหินหนี...ทุกตารางนิ้ว ผมหลับตานึกภาพ... เพราะเคยเป็นทหารเรืออยู่กรมอุทกศาสตร์ หน้ากองทัพเรือสองปี...
เรื่องที่เพิ่งอ่าน ขยายภาพจำ ทหารเกณฑ์ทุกคน ได้ฟังจากนายตอนอบรมให้ฟัง ที่โรงเรียนพลทหารเกล็ดแก้ว...พวกเราถูกยิงตายเหมือนใบไม้ร่วง...
ใบไม้ร่วง ถูกขยายให้ลึกซึ้ง เป็น “ดอกประดู่” “พวกเราทุกลำจำเช่นดอกประดู่ วันไหนร่วงโรยดอกโปรยตกพรู ทหารเรือ เราจงดูตายเป็นหมู่ให้ชาติไทย” เพลงพระนิพนธ์ ของกรมหลวงชุมพรฯ
บันทึกจอมพลครั้งนี้ใบไม้ที่ร่วงไม่พร้อมกัน ทหารหนุ่มไปทาง ทหารแก่ไปอีกทาง แต่จบลงตรงทหารเรือหนุ่มแก่ เจอข้อหากบฏไปด้วยกัน
...
ชีวิตนายกฯรอดไปถึงกองทัพเรือ ช่วยให้มีการเจรจาผ่อนปรน ไปจนถึงการหยุดยิง
ฉากระทึกที่สุด สำหรับคนอ่านรุ่นผม ทหารเรือกับทหารฝ่ายรัฐบาลรบกัน ธรรมดา...แต่อยู่ที่เมื่อ ท่านผู้นำ กลับถึงทำเนียบ...
มีขุนศึกใหญ่ฝ่ายรัฐบาล ทยอยกันเข้ามาแสดงความยินดี
อย่าลืม แต่ละนายพล ที่แสดงความยินดี...ล้วนแต่มีส่วนตัดสินใจ ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดจมเรือรบหลวงศรีอยุธยา ทั้งๆที่รู้ท่านผู้นำของฝ่ายตัวเอง เป็นตัวประกันอยู่ในเรือ
จอมพล ป.เขียนบันทึกว่า เขาก็แสดงความดีใจ ที่เห็นท่านรอดมาได้ เหมือนกันทุกคน
ข้อความในบันทึก บอกให้รู้ว่า ก่อนตัดสินใจจมเรือรบหลวงศรีอยุธยา...มีบางเสียงคัดค้านกลัวจอมพลตาย แต่อีกฝ่ายแกนนำ
ทั้งทัพบกอากาศและตำรวจหนักแน่นในแผนปฏิบัติการ
ชีวิตขาด ชาติรอด ซึ่งตีความได้ตรงๆ ถึงนายกฯจะตาย ก็ให้ตายไป แต่ให้ชาติอยู่
ไม่มีการเขียนถึงประเด็นที่ซ่อนเร้น แม่ทัพนายกองฝ่ายรัฐบาล เมื่อผู้นำเบอร์ 1 ไม่อยู่ โอกาสเบอร์ต่อไปจะได้คิว ก็ใกล้ขึ้น...แน่ละ ใครเล่า จะกล้าเอามาเปิดไต๋ เพราะหลายคนก็อยากได้คิวนั้น
ผมเล่ารวบรัดตอนแบบยั่วใจ ให้ท่านผู้อ่าน ไปหาเรื่องละเอียด ในศิลปวัฒนธรรม อ่านเอาเอง
อ่านจบแล้ว หากอยากจะคิดต่อ ถ้าสมมติเป็นจอมพล ป.เวลานั้น ถามท่าน โกรธทหารเรือกบฏหรือไม่ คำตอบก็คงโกรธ แต่โกรธพวกเดียวกัน ลูกน้องตัวเอง สั่งปฏิบัติการฆ่าตัวท่านเองมากกว่า
เอ้อ!ใครที่คุยว่า ใกล้ชิดนายกฯประยุทธ์ น่าจะหาหนังสือเล่มนี้ไปให้ท่านอ่านบ้าง...ผมเชื่อว่า เรื่องกบฏแมนฮัตตัน นายทหารรุ่นไหนๆ กองทัพไหนๆก็คงได้เรียนรู้กันมาแล้ว
แต่สถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ ใช้ปฏิบัติการ ชีวิตขาดชาติรอด ฆ่านายกฯได้เมื่อจำเป็น สถานการณ์นี้ ผมเชื่อว่ายังไม่มีในบทเรียนบทไหน?
กิเลน ประลองเชิง