ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย “ทะลุหลักหมื่นตายหลักร้อย” ส่งผลให้การศึกษาในโรงเรียนหยุดชะงักคงปรับเรียนออนไลน์ต่อเนื่อง เพื่อสอดรับการป้องกันให้นักเรียนปลอดภัยสูงสุด
สิ่งนี้เป็น “เรื่องใหม่ในวงการศึกษาไทย” ทำให้มีเสียงสะท้อนอุปสรรคข้อจำกัด “ความไม่พร้อมของทุกฝ่าย” ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง โรงเรียน ระบบการศึกษาไทย โดยเฉพาะการขาดอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต อินเตอร์เน็ต ที่ใช่ว่าทุกครอบครัวมีกำลังทรัพย์ซื้อได้เท่ากัน ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยสูงขึ้น
ดร.วิสุทธิ์ เวียงสมุทร ผอ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาโปลีเทคนิคภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.อุบลราชธานี บอกว่า เดิมคุณภาพการศึกษาไทยตามหลังหลายประเทศในอาเซียนผลจาก “นักเรียนไม่ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ไม่รักการอ่าน คิดไม่เป็น” ส่วนใหญ่มีอยู่ใน “โรงเรียนขนาดเล็กชนบท” จากความเหลื่อมล้ำในกลุ่มเด็กยากจน ปัจจัยเท่าที่ทราบกันดีว่า “คุณภาพเด็กขึ้นอยู่กับการสอนของครูให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียน” แต่ว่า “ครู” กลับไม่สอนสอดคล้องยุคสมัยที่ยึดหลักความสามารถ และจัดเนื้อหาสาระ

...
สอดรับความถนัดสนใจของผู้เรียน ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ 2542 ความใน ม.22, 24 อย่างแท้จริงมาตั้งแต่ต้นนี้
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก “ตัวครูเชื่อมั่นการสอนแบบเดิม” เชื่อมโยงกับปัจจัยปัญหา “หน่วยงานรัฐส่วนกลาง” มักเป็นผู้กำหนดหลักสูตรแจกหนังสือเรียนให้ครูสอนตามเนื้อหานโยบายนั้น ทั้งใช้คะแนนสอบระดับชาติเป็นตัวบอกคุณภาพการศึกษาไทย ที่ไม่กระจายอำนาจให้ครูทำหน้าที่ออกแบบการสอนด้วยตนเอง
กระทั่งมี “การระบาดโควิด—19” บีบบังคับให้การศึกษาเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ “การเรียนการสอนแบบออนไลน์” กลายเป็นปัญหาให้ “นักเรียนและผู้ปกครองบางส่วน” ไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ทัน ทั้งไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์จนเกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาหนักเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ
หนำซ้ำ “ครู” กลับมุ่งสอนแบบเร่งรัดด้วยการยัดเยียดเนื้อหาให้จบหลักสูตรตามระดับนโยบายกำหนดให้ไว้ เพื่อให้ทันเวลาต่อการสอบระดับชาติ ในส่วน “นักเรียน” ถูกปลูกฝังการสอนสั่ง หรือป้อนความรู้มาตลอด ที่ไม่ให้เด็กแสวงหาความรู้เอง เมื่อถูกบังคับให้มานั่งเรียนอยู่หน้าจอทั้งวันแล้วยากที่มีสมาธิเรียนรู้ได้แบบนี้

กลายเป็นภาระให้ “ผู้ปกครอง” ในการดูแลลูกหนักมากกว่าปกติ ที่ต้องแบ่งเวลาจากการทำงานหารายได้กลับมาคอยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยครูแนะนำเรื่องที่ลูกไม่เข้าใจในบทเรียนออนไลน์ ทั้งยังมีผู้ปกครองหลายคนไม่เข้าใจเนื้อหาการเรียน และไม่ทราบวิธีการสอนบุตรหลาน จนมีความเครียดสะสมเกิดขึ้นตามมา
เมื่อได้เห็นปัญหา “นักเรียนเผชิญสภาวะการเรียนรู้ถดถอย” ในช่วงการระบาดโควิดที่ไม่อาจเรียนรู้เข้าใจด้วยตัวเองเต็มประสิทธิภาพ เพราะไม่สามารถถามครูได้เหมือนเรียนที่โรงเรียน ทำให้มีแนวคิดทำ “หลักสูตรจัดการเรียนการสอนแบบรายบุคคล” ตามแต่ศักยภาพความสามารถของนักเรียนอย่างเหมาะสม
เน้นเรียนรู้รายวิชาพัฒนาความสามารถให้รู้จักวิธีใช้ความรู้ทักษะสู่สถานการณ์ใหม่ ตั้งแต่การวิเคราะห์ข้อมูล ทำความเข้าใจแก้ปัญหา ด้วยการเรียนรู้แบบผสมผสานข้อมูล และเทคโนโลยีเข้ามาเสริมสร้างประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้เรียนเชื่อมต่อกับสิ่งแวดล้อมท้องถิ่นมากกว่าความรู้ในชั้นเรียน
ลักษณะการส่งเสริมให้เรียนรู้ตามธรรมชาติได้เต็มศักยภาพให้ได้ เพื่อไม่ให้นักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษาในสภาวะโรคระบาดอยู่นี้ที่แตกต่างจาก “การเรียนออนไลน์” มักมีปัจจัยความไม่พร้อมของอุปกรณ์ และข้อจำกัดของนักเรียนแล้วส่งผลให้เด็กมีโอกาสหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ง่ายด้วยซ้ำ

...
ตามหลักสูตร “นักเรียนต้องมีแฟ้มบันทึกประเมินการเรียนรู้” ที่เกี่ยวกับกระบวนการรวบรวมข้อมูลการสังเกต สอบถาม ตรวจผลงานความรู้ ความสามารถทักษะ เพื่อนำผลการประเมินความก้าวหน้ามาใช้ส่งเสริมการเรียนรู้ต่อผู้เรียน ตลอดจนพิจารณาตัดสินผลการเรียนระดับเกรด หรือจัดแผนการเรียนการสอนต่อไป
เบื้องต้นอยู่ระหว่างทดสอบพัฒนาหลักสูตรในโรงเรียน จ.อุบลราชธานี ที่เตรียมนำเสนอเผยแพร่ให้โรงเรียนที่สนใจสามารถนำไปใช้ต่อการเรียนการสอนในช่วงโควิดได้เร็วๆนี้
ย้ำว่าหลักสูตรนี้ถูกใช้ในหลายประเทศแล้ว เช่นก่อนนี้เคยศึกษาดูงานโรงเรียนติด 1 ใน 3 แข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิกสากล กรุงปักกิ่งของจีน
ที่ใช้การวัดผลการเรียนด้วย “ทำโครงงาน” ตั้งแต่ชั้นประถมจนถึงมหาวิทยาลัย ทำให้เด็กไม่วิ่งหาเรียนพิเศษสอบแข่งขัน แต่มุ่งทำโครงงานเรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเองเป็นหลัก
จริงๆแล้ว...“ประเทศไทย” เคยนำหลักสูตรนี้มาใช้เช่นกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จเป็นที่แพร่หลาย เพราะการศึกษาไทยมุ่งเน้นสอบประเมินชี้วัดคุณภาพความรู้คน ทั้งที่จริงผู้มีคะแนนสูงไม่ใช่สิ่งการันตีความสำเร็จในการใช้ชีวิตได้ ดังนั้นการประเมินความรู้ต้องมีองค์ประกอบอื่นเข้ามาด้วย เช่น ทักษะความถนัดอื่นๆ
“ในช่วงโควิด-19 การเรียนการสอนลักษณะแบบตัวต่อตัว ด้วยหลักการประเมินความก้าวหน้านี้ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการให้นักเรียนปฏิบัติ นำเสนอผลงานตามสภาพความรู้จริง ทำให้ครูผู้สอนเห็นความก้าวหน้าของผู้เรียน ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด เพื่อช่วยให้นักเรียนเข้าใจการเรียนอย่างถ่องแท้ได้ดี”
ย้อนกลับมามองปัญหาการศึกษาไทย มาจาก “ภาครัฐ” หลงประเด็นมัวแต่ไปยุ่งยากอยู่กับ “ปรับหลักสูตรให้ทันสมัย” หารู้ไม่ว่า “หลักสูตรโลกยุคดิจิทัล” เปลี่ยนทุกวันอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะ “ครู” กลับไม่ยอมเปลี่ยนแปลงบทบาทการเรียนการสอน มักให้นักเรียนต้องฟัง เชื่อตามคำสอนห้ามเถียงห้ามโต้แย้งมาตลอด
...

สวนทางกับนักเรียนมีทักษะท่องโลกโซเชียลฯ สะสมข้อสงสัยไว้ให้ครูช่วยชี้แนะดับข้อสงสัยมากมาย...หนำซ้ำกลับมุ่งสรรหา “คนเก่งคนดีมาเรียนเข้ามารับตำแหน่งครู” กลับไม่พัฒนาครูที่มีอยู่เป็นคนเก่งคนดี ดังนั้นแม้ได้ “ครูตรงสเปก” แต่ระบบการศึกษามุ่งพัฒนาหลักสูตรดังที่ผ่านมานั้นย่อมไม่อาจทำให้คุณภาพการศึกษาก้าวข้ามนำไปสู่การพัฒนาให้ดีขึ้น ทั้งยังส่งผลให้การเรียนการสอนล้มเหลวเหมือนเช่นเดิมต่อไปอีก
สาเหตุเพราะหลงทางมุ่งทำกิจกรรมอื่นไม่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาแท้จริง เช่น ส่งเสริมครูมีผลงานวิชาการเลื่อนวิทยฐานะให้ค่าตำแหน่งดีที่หวังว่าคุณภาพการสอนจะสูงขึ้นตาม ทำให้ภาครัฐจ่ายค่าตำแหน่งผู้ผ่านประเมินนี้หลายพันล้านบาทต่อปี แต่คุณภาพผู้เรียนกลับไม่ได้สูงตามเงินที่ครูได้รับด้วยซ้ำ
“ประเทศไทย” ต้องการพัฒนาคุณภาพผู้เรียนให้สูงขึ้น “ภาครัฐ” ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทการบริหารจัดการในระดับนโยบาย และพัฒนาครูในเขตพื้นที่ให้เปลี่ยนพฤติกรรมการสอนไปพร้อมกัน ด้วยการยึดหลัก New product New process หมายถึงว่าถ้าต้องการผลผลิตใหม่ควรทลายกระบวนการเก่าทำมาให้หมดไป
...

นำกระบวนการใหม่มาแทน ขอเสนอ 6 ข้อคือ 1.ภาครัฐกำหนดนโยบายหลักการพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ชัดเจน 2.ทำหลักสูตรแนวคิดต่างๆให้อยู่ในระบบออนไลน์ 3.ส่งเสริมการเรียนออนไลน์ ติดตั้งอินเตอร์เน็ตให้โรงเรียนแล้วเลิกแจกหนังสือเรียน เพราะทำให้ “ครูสอน” ยึดเนื้อหาตามหนังสือตามหลักสูตรเหมือนเดิมๆ
4.กระจายอำนาจให้เขตการศึกษา...โรงเรียนพัฒนาคุณภาพผู้เรียนอย่างอิสระในการสร้างหลักสูตรเฉพาะบุคคลขึ้นเองได้ 5.ภาครัฐปรับเปลี่ยนวิธีประเมินคุณภาพผู้เรียน ทั้งประเมินวิทยฐานะครูตามสภาพจริงด้วยอิงพัฒนาจากผู้เรียน 6.ภาครัฐต้องเปลี่ยนบทบาทจากเดิมในการทำหน้าที่เป็นผู้สั่งการคอยติดตามประเมินว่า

เขตการศึกษาใด โรงเรียนใด ได้ดำเนินการเป็นไปตามนโยบายที่กำหนดหรือไม่ ถ้าทำได้ดังที่กล่าวเสนอมานี้แล้ว เชื่อว่าคุณภาพการศึกษาไทยตามมาได้ดีขึ้นอย่างแน่นอน
สุดท้าย...“ระบบการศึกษาไทย” ต้องปรับตัวแบบคนศตวรรษที่ 21 ในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง รู้จักบริโภคข้อมูลใช้ประโยชน์จากดิจิทัลทำมาหากินได้ ครูต้องเปลี่ยนบทบาทจาก “ผู้สอน เป็นโค้ช” ที่ให้คำแนะนำฝึกกระตุ้นให้มีทักษะคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง อันจะมีผู้ปกครองคอยช่วยพัฒนาคุณภาพบุตรหลานไปด้วยกัน
เช่นนี้อนาคต...นักเรียนไม่จำเป็นต้องรอครู ไม่ต้องรอเวลาเรียน ไม่รอเนื้อหาจากห้องเรียน ถ้าครูไม่อยู่ครูไม่มาสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง “โรคระบาดจะอยู่หรือจะไป” การศึกษาไทยก็เดินหน้าได้.
