“ประเทศไทย” มาถึงวันนี้แล้ว...เกิดอะไรขึ้น?

หนึ่ง...ติดเชื้อโควิดวันละมากกว่า 16,000 ตายมากกว่า 100 สอง...ประชาชนจากต่างจังหวัดเหมารถมาขอฉีดวัคซีนฝรั่งเพื่อกันตายที่กรุงเทพฯ คนแน่นมากที่ศูนย์ฉีดวัคซีนบางซื่อจนน่ากลัวจะเป็นแหล่งระบาดแห่งใหม่? สาม...ช่วงนี้มีคนตายที่บ้านและกลางถนนจากติดโควิดเกือบทุกวัน

สี่...คนไข้ติดไวรัสล้นโรงพยาบาลแทบทุกแห่งใน กทม.และปริมณฑล จนโรงพยาบาลต้องประกาศปิดรับตรวจคนไข้นอก ห้า...วัดหลายแห่งเผาศพผู้ติดโควิด มากจนเมรุระเบิดและเกิดไฟไหม้

หก...พระและสัปเหร่อจำนวนมากติดโควิดต้องกักตัวในวัดพร้อมร้องขอฉีดวัคซีน เจ็ด...ส่วนประชาชนหาเช้ากินค่ำไม่ต้องพูดถึงมีทั้งติดโควิดและฆ่าตัวตายรายวัน แปด...ประชาชนไม่เชื่อมั่นในวัคซีนที่รัฐจัดให้ฉีด แถมวัคซีนที่เชื่อมั่นมากกว่าดันมาถึงช้าและยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมาเมื่อไหร่

...

เก้า...ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาลของรัฐเมื่อพบว่าติดเชื้อค่อนข้างยาก จนตายคาบ้านหลายราย สิบ...หมอที่ปรึกษาภาครัฐและหมอวิชาการภาคเอกชนให้ความเห็นและคำแนะนำขัดแย้งกันจนประชาชนไม่รู้จะเชื่อใครเกิดความสับสนโดยเฉพาะการฉีดวัคซีนข้ามชนิดของจีนและของฝรั่ง

สิบเอ็ด...หมอและพยาบาลเรียกร้องขอฉีดวัคซีนเข็มที่สามกระตุ้นเป็นวัคซีนชั้นดีที่อเมริกาบริจาคให้แต่ข่าวช่วงแรกภาครัฐจะให้ไม่ครบจนหมอส่วนหนึ่งต้องไปยื่นหนังสือที่สถานทูตอเมริกาเรียกร้องให้ตรวจสอบด้วย สิบสอง...รัฐประกาศเคอร์ฟิวและล็อกดาวน์แต่ปล่อยให้ประชาชนเดินทางติดต่อข้ามจังหวัดได้ไม่ยาก รวมทั้งให้ผู้ติดเชื้อกลับไปกักตัวและรักษาตัวที่บ้านเกิด

...ทำให้เกิดการกระจายเชื้อและกระจายการรักษาพยาบาลไปต่างจังหวัด

สิบสาม...รัฐเยียวยาให้ประชาชนในช่วงล็อกดาวน์แต่ไม่ทั่วถึง เช่นคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในพื้นที่ไม่ใช่สีแดงแต่มาหากินในกรุงเทพฯไม่ได้รับการเยียวยาของกระทรวงแรงงาน เป็นต้น สิบสี่...การติดเชื้อแพร่กระจายลงไปถึงครอบครัวและชุมชนแล้ว ในหลักระบาดวิทยาถือว่าเป็น “worst case”...ยากที่จะป้องกัน

ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไปอย่างรวดเร็วทั้งในบ้านและชุมชน การแยกคนติดเชื้อออกมาต้องทำอย่างรวดเร็วแล้วนำไปรักษา แต่สภาพปัจจุบันบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขของเรากรอบจนแทบจะหมดสภาพแล้วเนื่องจากทำงานหนักมาตลอด

การไปเอกซเรย์เข้าถึงชุมชนให้ทั่วถึง เพื่อตรวจเจอก่อน กักก่อน รักษาก่อนและหายก่อน เป็นหลักการที่ต้องรีบทำ ไม่ใช่ให้คนป่วยเดินหาที่ตรวจและหาที่รักษาเองเหมือนปัจจุบัน อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้านจะต้องเป็นกลไกที่สำคัญตามหลักสาธารณสุขมูลฐานที่ต้องช่วยดูแลจัดการในชุมชนตนเองให้ปลอดภัยที่สุด

สิบห้า...กฎหมายต้องเข้มข้น ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มงวด ต้องจับผู้อยู่นอกบ้านโดยไม่ใส่แมสก์หรือเอาแมสก์ออก จับผู้รวมกลุ่มคุยกันเกิน 5 คน ตรวจเข้มผู้เดินทางข้ามจังหวัด

...เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้แน่นอนต้องมีเจ้าภาพรับผิดชอบ ควรโทษประชาชนที่ทำให้เกิดการแพร่เชื้อไปทั่วหรือควรจะโทษระบบบริหารจัดการของภาครัฐ การบริหารจัดการความเสี่ยงในช่วงวิกฤติของชาติแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำของผู้บริหารอย่างแท้จริง...

“Sonthi Kotchawat” 28 กรกฎาคม เวลา 11.50 น. บันทึกไว้ในเฟซบุ๊ก หากแต่อย่าได้หวาดกลัวเพราะเป็นข้อมูลความรู้เตือนใจให้ทุกคน “การ์ดอย่าตก ตื่นตัวเข้าไว้...แต่อย่าตื่นตูม”

...

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เสริมว่า ใน “ประเทศสหรัฐอเมริกา” ก่อนจะรับคนไข้เข้านอนในโรงพยาบาล ทุกคนไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตาม จะได้รับการตรวจว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ และตรวจซ้ำภายใน 72 ชั่วโมงหลังเข้านอนในโรงพยาบาล

เพื่อป้องกันการ “แพร่เชื้อ” ใน “โรงพยาบาล”

...มีการศึกษาในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองบอสตัน ระหว่างเดือนกันยายน 2020-เมษายน 2021 โรงพยาบาลนี้มีเตียงทั้งหมด 803 เตียง 28% เป็นห้องคู่ มีคนไข้เข้านอนในห้องคู่ทั้งหมด 11,290 คน คนที่เข้านอนในห้องคู่ต้องไม่มีอาการของโรคโควิด ในจำนวนนี้ 25 คนตรวจวันแรกให้ผลลบ...

ตรวจซ้ำใน 3 วัน ให้ผลบวก หมายความว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากนอกโรงพยาบาล มีคนไข้ที่นอนในห้องคู่กับผู้ติดเชื้อทั้งหมด 31 คน อายุเฉลี่ย 64 ปี ปรากฏว่า 12 จาก 31 คนติดเชื้อจากคนไข้ที่นอนในห้องเดียวกัน คิดเป็น 39% ส่วนใหญ่ติดเชื้อภายใน 5 วัน

ความเสี่ยงในการติดเชื้อสัมพันธ์กับปริมาณเชื้อไวรัสโควิด-19 (cycle threshold value < 21) ของคนแพร่เชื้อ เชื้อยิ่งมาก...โอกาสแพร่เชื้อยิ่งมาก

“เวลานอนในห้องเดียวกันทั้งคนแพร่เชื้อและคนรับเชื้อไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย เตียงห่างกันประมาณสองเมตร มีผ้าม่านกั้นระหว่างเตียงตลอดเวลา คนที่รับเชื้อไม่ได้สัมผัสตัว ไม่ได้พูดคุย หรือใกล้ชิดกับคนที่แพร่เชื้อ แต่ใช้ห้องน้ำเดียวกัน มีการทำความสะอาดพื้นผิวพื้นที่ในห้องผู้ป่วยทุกวัน”

...

การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า “เชื้อโควิด” แพร่กระจาย “ทางอากาศ” โดยเชื้อโรคออกมากับลมหายใจของคนแพร่เชื้อ แล้วคนรับเชื้อหายใจรับเชื้อที่ลอยอยู่ในอากาศ ไม่ได้เกิดจากหายใจหยดละอองขนาดใหญ่จากการอยู่ใกล้ชิดในระยะ 1-2 เมตร หรือติดทางการสัมผัสกับคนที่แพร่เชื้อ

ช่วงที่ทำการศึกษายังไม่มีการระบาดของสายพันธุ์เดลตา ถ้าเป็นสายพันธุ์เดลตา เปอร์เซ็นต์ของคนติดเชื้อคงมากกว่า 39% แน่นอน... เชื้อสายพันธุ์เดลตาติดต่อกันได้ง่ายมาก เนื่องจากปริมาณเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาในทางเดินหายใจมากกว่าสายพันธุ์เดิม 1,000 เท่า

ถึงตรงนี้ต้องยอมรับความจริงที่ว่าการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิดทำได้ยาก ขนาดโรงพยาบาลนี้มีการคัดกรองก่อนจะอนุญาตให้เข้านอนในห้องคู่ วันแรกต้องไม่มีอาการและตรวจแยงจมูกโควิดต้องมีผลลบ ยังพบว่าหลังจากนั้น 3 วัน ตรวจโควิดซ้ำเปลี่ยนเป็นบวก

ทำให้คนที่นอนห้องเดียวกันร้อยละ 39 ติดเชื้อแม้จะเว้นระยะห่าง ไม่กินอาหารร่วมกัน ไม่อยู่ใกล้ชิดกัน เพียงแต่นอนในห้องเดียวกัน หายใจอากาศในห้องเดียวกัน โดยไม่ใส่หน้ากากอนามัย

...

ย้อนกลับมามองการระบาดใน “ประเทศไทย” รอบนี้ ติดกันในบ้านครัวเรือนเดียวกันมากที่สุด ทำให้การล็อกดาวน์ได้ผลน้อย คุณหมอมนูญ ย้ำว่า การป้องกันการติดเชื้อในบ้านเดียวกันเป็นเรื่องยากมากๆ สมาชิกในบ้านสามารถติดเชื้อนอกบ้านและนำเชื้อเข้าบ้านถึงแม้ไม่มีอาการ

ยิ่งเป็นเชื้อสายพันธุ์เดลตาติดเกือบยกครัวเรือน ถึงเวลาแล้วที่คนในบ้านคงต้องใส่หน้ากากอนามัยเหมือนเวลาออกนอกบ้าน เริ่มจากคนที่ออกนอกบ้านทุกวัน

เช่น...คนที่ต้องออกไปทำงานข้างนอก คนที่ไปจับจ่ายซื้อของ ซื้ออาหาร ไปทำธุระธนาคารไปรษณีย์ ควรล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล ก่อนและทันทีที่เข้าบ้าน ควรใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาระหว่างอยู่ในบ้าน เผื่อเป็นโรคโควิดจะได้ไม่แพร่เชื้อให้คนในบ้านที่ไม่ได้ออกไปไหนเลย

ตื่นตัว...แต่อย่าตื่นตูม “ป้องกันตัว การ์ดอย่าตก ทุกที่...ทุกเวลา”.