สาธารณสุขปรับใหม่อีกรอบ เกณฑ์คนที่จะได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ที่ได้รับบริจาคจากสหรัฐอเมริกา กระจายให้คน 5 กลุ่ม โดยบุคลากรด่านหน้าจะได้หมดทั้งเข็มแรก เข็ม 2 และเข็ม 3 แต่ยังมี 3 กลุ่มที่ไม่แนะนำให้ฉีดไฟเซอร์ พร้อมกระจายวัคซีนไปภูมิภาคมากขึ้น เน้นกลุ่มสูงวัย-7 โรคเรื้อรัง-สาวท้อง เหมือนเดิม หวังลดผู้ติดเชื้อ-ลดตาย ที่ยอดยังพุ่งไม่หยุด ติดเพิ่มกว่า 1.7 หมื่นคน ดับอีก 178 ศพ กทม.ครองแชมป์ โดยพบคนป่วยตายคาบ้านทุกวัน ล่าสุด “ตา-ยาย” สิ้นใจระหว่างรอเตียง อีกรายอดีต พนง.กฟผ.ปลิดชีพหลังรู้ตัวติดเชื้อ ด้าน “อนุทิน” ระบุ นายกฯสั่งเองให้จัดสรรวัคซีนใน กทม.ใหม่ ให้กรมควบคุมโรคส่งตรงไป 25 ศูนย์ฉีดนอก รพ. ขณะที่องค์การเภสัชกรรมมั่นใจยาไม่ขาด ยันผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้ ส.ค.ผลิต 2.5 ล้านเม็ด ส่วน ต.ค.เป็นต้นไปจะผลิตได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านเม็ดต่อเดือน

หลังจากที่ไทยได้รับบริจาควัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 “ยี่ห้อไฟเซอร์” จากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดสแล้ว ในเร็วๆนี้ยังจะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาจากสหราชอาณาจักรมาอีก 4.1 แสนโดส ท่ามกลางการแพร่ระบาดยังรุนแรงมีผู้ติดเชื้อหลักหมื่นคนและเสียชีวิตทะลุเกินร้อยศพต่อวันอย่างต่อเนื่อง

...

มะกัน–อังกฤษ บริจาควัคซีน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงสายวันที่ 2 ส.ค.ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานในพิธีรับมอบวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1,503,450 โดส ของบริษัทไฟเซอร์ ไบโอเอนเทค (Pfizer-BioNTech) จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา โดยมีนายไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เป็นผู้แทน โดยนายกฯ กล่าวขอบคุณรัฐบาลสหรัฐฯ และนางแทมมี่ ดักเวิร์ธ วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดที่ได้ผลักดันและสนับสนุนให้ไทยได้รับวัคซีนเพิ่มเติมอีก 1 ล้านโดส จากนั้นนายกฯเป็นประธานในพิธีรับมอบวัคซีนบริษัทแอสตราเซเนกา จำนวน 415,040 โดส จากรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่จะถึงไทยในวันที่ 3 ส.ค.โดยมีนายเอวาน โจนส์ อุปทูตรักษาราชการแทนเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย เป็นผู้แทนร่วมพิธี โดยนายกฯ กล่าวถวายพระพรแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในนามของรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทย ขอให้ทรงพระเกษมสำราญ พระพลานามัยแข็งแรง และขอบคุณความห่วงใยของรัฐบาลสหราชอาณาจักร โอกาสนี้ นายเอวานได้ถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ พร้อมกล่าวยินดีที่ได้มีส่วนช่วยเหลือประเทศไทยในสถานการณ์เช่นนี้

ติดเชื้อหนัก-ดับพุ่ง 178 ศพ

จากนั้น พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถาน การณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในไทย ประจำวันที่ 2 ส.ค.ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 17,970 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 17,784 คน มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 13,567 คน มาจากการค้นหาเชิงรุก 4,217 คน มาจากเรือนจำ 175 คน เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 11 คน ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 633,284 คน หายป่วยเพิ่มเติม 13,919 คน หายป่วยสะสม 419,241 คน อยู่ระหว่างรักษา 208,875 คน อาการหนัก 4,768 คน ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,028 คน และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 178 คน เป็นชาย 94 คน หญิง 84 คน อยู่ใน กทม.มากที่สุด 68 คน รองลงมา จ.สมุทรปราการ 23 คน และนครราชสีมา 10 คน

ปลอบใจไทยอัตราตายยังต่ำ

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.ระบุอีกว่า มีผู้เสียชีวิตที่บ้าน 5 คน อยู่ใน กทม. 2 คน ปทุมธานี ร้อยเอ็ด สุพรรณบุรี จังหวัดละ 1 คน ทำให้ขณะนี้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 5,168 คน ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทย ณ วันที่ 1 ส.ค.จำนวน 180,552 โดส ทำให้มียอดฉีดวัคซีนสะสม จำนวน 17,866,526 โดส ขณะที่สถานการณ์โลกไทยขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 42 หากดูจากข้อมูลจะพบว่าประเทศที่ฉีดวัคซีนไปจำนวนมาก แม้จะมีผู้ติดเชื้อมาก แต่อัตราการเสียชีวิตน้อย เช่น อังกฤษ วันนี้ติดเชื้อ 24,470 คน แต่มีผู้เสียชีวิต 65 คน นอกจากนี้หากดูอัตราการป่วยต่อประชากร 1 ล้านคน และอัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 1 ล้านคน ของไทยยังถือว่าน้อยกว่าประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย

ตจว.ยอดสูงกว่า กทม.-ปริมณฑล

พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 2 ส.ค. ได้แก่ กทม. 3,144 คน สมุทรสาคร 1,252 คน ชลบุรี 1,141 คน สมุทรปราการ 872 คน นนทบุรี 743 คน สระบุรี 486 คน ฉะเชิงเทรา 465 คน นครราชสีมา 457 คน ปทุมธานี 454 คน ระยอง 403 คน ดูสัดส่วนการติดเชื้อทั้งประเทศพบว่า กทม.และปริมณฑลอยู่ที่ร้อยละ 39 จังหวัด ที่เหลือรวมกันร้อยละ 61 กรมควบคุมโรคแยกแยะให้ชัดเจนพบว่าหลายพื้นที่ เช่น ภาคอีสาน เป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เดินทางกลับจาก กทม.และปริมณฑล ส่วน 16 จังหวัดที่ถูกปรับเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) บางจังหวัดมีผู้ติดเชื้อไม่มาก แต่ต้องประกาศเป็นพื้นที่สีแดงเข้มเพราะการระบาดกระจายเป็นกลุ่มก้อน ทำให้ต้องเข้มข้นมาตรการในพื้นที่ สำหรับคลัสเตอร์ใหม่ มี 7 แห่งคือที่ อ.เมืองสมุทรสาคร 2 แห่งคือ โรงงานแม่พิมพ์พลาสติก พบผู้ติดเชื้อ 15 คน บริษัทรถยก 10 คน แคมป์ก่อสร้าง อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี 26 คน บริษัทโลหะขึ้นรูป อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา 17 คน ตลาดโกลเดนท์เกต อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว 231 คน บริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี 16 คน แผงผลไม้ อ.หลังสวน จ.ชุมพร 18 คน

...

ยันได้ไฟเซอร์ 1,503,450 โดส

ส่วนการขยายเวลาล็อกดาวน์ที่ระบุไว้ถึงวันที่ 31 ส.ค. พญ.อภิสมัยอธิบายเพิ่มเติมว่า ข้อกำหนดฉบับที่ 30 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้วันที่ 3 ส.ค.ให้มีผลถึงวันที่ 31 ส.ค.เมื่อข้อกำหนดมีผลแล้ว ศบค.จะติดตามผล 2 สัปดาห์คือวันที่ 18 ส.ค. หากผลออกมาดีอาจผ่อนคลายได้ แต่ถ้าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ยืดไปถึง 31 ส.ค. 14 วันหลังจากนี้หากประชาชนจำเป็นต้องเดินทางข้ามเขตจังหวัดสีแดงเข้ม เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องดูหลักฐานอนุญาตการเดินทาง หากไม่จำเป็นขอให้งดเว้นการเดินทางไปก่อน ส่วนการรับมอบวัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐฯ ยืนยันไทยได้รับ 1,503,450 โดส ตรงกับทางสถานทูตสหรัฐฯรายงานมาจะนำไปจัดสรรนอกจากกระตุ้นภูมิเข็มสามให้บุคลากรทางการแพทย์แล้ว จะจัดสรรให้กลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค และหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์ รวมถึงชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในไทย เป็นกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ผู้มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคและหญิงตั้งครรภ์เกิน 12 สัปดาห์เช่นกัน อีกทั้งจะจัดสรรให้กลุ่มผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศด้วย

หมอย้ำ ATK ห้ามขายออนไลน์

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมแถลงถึงการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit ว่าเป็นเครื่องมือทางการแพทย์ ไม่อนุญาตให้ขายทางออนไลน์ ตามตลาดนัด ร้านสะดวกซื้อ แต่จะซื้อได้ในร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ ขณะนี้มีการขายทางออนไลน์ในราคาค่อนข้างสูง ขอความกรุณาอย่าซื้อ ที่สำคัญองค์การเภสัชกรรมได้แทรกแซง โดยนำมาจำหน่ายไม่เกิน 200 บาทต่อชุด ให้ซื้อได้คนละไม่เกิน 3 ชุด

โวดูแลคนกักตัวเองแล้ว 6 หมื่นคน

ส่วน นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงถึงมาตรการหลังตรวจหาเชื้อโควิคด้วยชุด ATK แล้วพบว่าติดเชื้อใน กทม.ว่า หากสงสัยอยากเดินเข้าโรงพยาบาลไปตรวจหาเชื้อไปได้ทุก รพ.ทั้งภาครัฐและเอกชนในกทม.ทั้ง 132 แห่ง ถ้าติดเชื้อ ไม่มีอาการหรืออาการน้อยมาก แยกกักตัวที่บ้านได้ จะได้รับกล่องอุปกรณ์ดูแลตนเองหรือหากจำเป็นต้องได้ยาฟาวิพิราเวียร์ก็จะได้รับ มีการติดตามครบ 14 วัน มีเจ้าหน้าที่ดูแล 226 หน่วย และจะมากขึ้นอีกตามระบบของโรงพยาบาล วันนี้ดูแลประชาชนได้เต็มรูปแบบแล้ว 60,000 คน ตั้งเป้าจะทำได้ถึง 100,000 คน และยังมีระบบคอมมูนิตี้ไอโซเลชัน หรือศูนย์พักคอยโดยของ กทม.ที่จะตั้ง 68 แห่ง รองรับประชาชนเข้าไปนอนได้ถึง 10,000 เตียง กระจายทุกเขต และมีศูนย์พักคอยโดยภาคประชาสังคมอีกกว่า 100 แห่ง ต้องให้ลงทะเบียนกับ กทม.เพื่อให้ได้รับการสนับสนุนอาหารและยา ถ้าเป็นผู้ป่วยระดับสีเหลืองสีแดงเข้า รพ.สนาม ฮอสพิเทล รพ.หลัก แต่ถ้ามีอาการเร่งด่วนฉุกเฉินที่คิดว่าเป็นอันตรายต่อชีวิตจากโควิด-19 สามารถร้องขอความช่วยเหลือด่วนที่ 1669

...

แจงยิบกลุ่มคนที่ได้ไฟเซอร์

ส่วนการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับบริจาคมานั้น เวลา 11.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขในฐานะประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด (ไฟเซอร์) แถลงข่าวเรื่องการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ว่าขอยืนยันว่า วัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับรอบนี้ จะฉีดให้กับผู้ปฏิบัติงานด่านหน้าที่เกี่ยวกับโควิดโดยตรง และผู้ที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิดทุกคนที่ประสงค์รับวัคซีนไฟเซอร์ รวมถึงผู้ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสนาม อาสาสมัครกู้ภัย พนักงานเก็บศพ สัปเหร่อ โดยคาดว่าวัคซีนที่จัดสรรให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 7 แสนโดสนั้น จะเพียงพอ กรณีเหลือ เพราะมีบุคลากรบางส่วนรับวัคซีนแอสตราเซเนกาไปแล้วนั้น จะมีการพิจารณาเกลี่ยให้กลุ่มอื่นๆต่อไป โดยดูความจำเป็นและลดการติดเชื้อให้มากที่สุด

กระจายให้คน 5 กลุ่ม

ส่วนการกระจายวัคซีนไฟเซอร์ นพ.สุระ กล่าวว่าที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข สธ.มีมติเห็นชอบจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส ออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 7 แสนโดส กลุ่มสอง คือ 13 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 645,000 โดส กลุ่มสาม จัดสรรให้กระทรวงการต่างประเทศ 150,000 โดส เพื่อฉีดให้คนต่างชาติหรือคนไทยที่จำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ โดยกระทรวงการต่างประเทศ จะจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่จะรับวัคซีนและส่งให้กระทรวงสาธารณสุข เพื่อแจ้งให้หน่วยบริการเตรียมวัคซีนกลุ่มสี่ เพื่อการศึกษาวิจัย 5,000 โดส กลุ่มห้า เก็บไว้เพื่อการควบคุมการระบาดของสายพันธุ์เบตา 3,450 โดส ยืนยันกระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงและจัดลำดับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในระยะนี้ หากมีวัคซีนเพิ่มเติมอีก จะจัดสรรเพิ่มเติมต่อไป

...

ปรับเกณฑ์คนได้ฉีดใหม่

ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงวัคซีนไฟเซอร์ที่ได้รับมาจากสหรัฐอเมริกาว่า กรมขอยืนยันตัวเลข 1,503,450 โดส ส่วนคำแนะนำการใช้วัคซีนที่มีความเข้มข้น ต้องใช้น้ำเกลือผสม ฉีดโดสละ 0.3 มิลลิลิตร 1 ขวดฉีดได้ 6 โดส โดยใช้ Low dead space syringe ฉีดเข้าชั้นกล้ามเนื้อ 2 ครั้ง ห่างกัน 3 สัปดาห์ และขึ้นทะเบียนฉีดให้กับผู้มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ส่วนหลักการให้วัคซีนจะมีดังนี้ บุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม ให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น 1 เข็ม บุคลากรที่ได้รับวัคซีนใดๆ มาแล้วเพียง 1 เข็ม ให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 โดยระยะห่างระหว่างโดสเป็นไปตามข้อกำหนดของเข็มที่ 1 เช่น เข็มแรก กำหนดให้ฉีดเข็มสองห่าง 3 สัปดาห์ ให้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ในสัปดาห์ที่ 3 บุคลากรที่ไม่เคยได้วัคซีนใดๆมาก่อน ให้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็มห่าง 3 สัปดาห์ คนที่เคยติดเชื้อโควิดและไม่เคยได้รับวัคซีน ให้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างจากวันที่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน

3 กลุ่มไม่แนะนำฉีดไฟเซอร์

นพ.โอภาสกล่าวอีกว่าบุคลากรที่ได้รับวัคซีนมาก่อน ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับวัคซีนสูตรใหม่หรือสูตรสลับไขว้ คือ ซิโนแวคและแอสตราเซเนกา กลุ่มที่ได้รับวัคซีนแอสตราฯ 2 เข็ม และกลุ่มที่ได้รับซิโนแวค 2 เข็มและได้รับการกระตุ้นด้วยวัคซีนแอสตราฯ 1 เข็ม ใน 3 กลุ่มนี้ คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ในคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่าขณะนี้ยังไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น เพราะบุคลากรดังกล่าวยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอ และยังไม่มีข้อมูลวิชาการว่าจะฉีดวัคซีนกระตุ้นอีกครั้งเมื่อไร แต่จะให้บุคลากรทั้ง 3 กลุ่มข้างต้นขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้และจะมีการติดตามและจะพิจารณาตามข้อมูลวิชาการ ซึ่งจะได้มีการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้ตามจำนวนวัคซีนที่จะเข้ามาในระยะต่อไป เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้ามีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมั่นใจ ส่วนกรณีมีข่าววีไอพีได้รับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์แล้วนั้น ขอยืนยันว่าไม่ใช่วัคซีนของกระทรวงสาธารณสุขที่มีการจัดสรรในรอบนี้

นายกฯ สั่งจัดระบบวัคซีน กทม.ใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 1 ส.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอิศราถึงกรณีศูนย์ฉีดวัคซีนเอกชน 25 แห่ง ใน กทม. ประกาศปิดชั่วคราว เนื่องจาก ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนว่า กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรวัคซีนให้ กทม. ตามที่ตกลงกันไว้ แต่ไม่ทราบว่าทำไมทาง กทม.จึงไม่จัดสรรวัคซีนให้กับศูนย์ฉีดวัคซีน 25 แห่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จึงโทรศัพท์มาสั่งการด่วนให้ตนจัดสรรวัคซีนให้ศูนย์ฉีด 25 แห่ง ตนได้หารือกับ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ศปก.ศบค. เห็นตรงกันให้กรมควบคุมโรค จัดส่งวัคซีนโดยตรง ไม่ต้องผ่าน กทม.ให้กับศูนย์ฉีด 25 แห่ง แห่งละ 1,000 โดสต่อวัน เดือน ส.ค.จะได้ ทั้งหมด 750,000 โดส จากเดิมในเดือน ส.ค. กรมควบคุมโรคจะจัดสรรจัดให้ กทม. 1,000,000 โดส แต่ด้วยความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ที่อยาก ให้ส่งวัคซีนตรงไปยังศูนย์ทั้ง 25 แห่ง จะทำให้ กทม. มีวัคซีนบริหารเองกับ รพ.ในสังกัดเพียง 250,000 โดส จึงสั่งการให้อธิบดีกรมควบคุมโรคจัดส่งเพิ่มให้ กทม.อีก 250,000 โดส รวมเป็น 500,000 โดส เชื่อว่าน่าจะเพียงพอกับความต้องการ เท่ากับว่าในเดือน ส.ค.พื้นที่ กทม.จะได้รับวัคซีนรวมทั้งสิ้นจำนวน 1,250,000 โดส

เพิ่มล็อกดาวน์ช่วยลดแพร่เชื้อ

ต่อมา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงเพิ่มเติมถึงสถานการณ์โควิดในขณะนี้ว่าสัดส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มมากกว่าผู้หายป่วย ประเมินมาตรการล็อกดาวน์ช่วงที่ผ่านมา ลดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตได้ประมาณร้อยละ 20 หากทุกภาคส่วนช่วยกันเพิ่มมาตรการล็อกดาวน์อีกร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 25 รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงจะช่วยลดการติดเชื้อรายใหม่ และผู้เสียชีวิตได้อีกไม่น้อย โดยเฉพาะมาตรการส่วนบุคคลเป็นวิธีการดีสุด อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อทุกคนไม่ติดโรค ไม่แพร่กระจายโรคต่อ ขออีก 2 สัปดาห์ หลังขยายล็อกดาวน์จาก 13 จังหวัดเป็น 29 จังหวัด ถ้าสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการล็อกดาวน์อีกร้อยละ 5 การติดเชื้อ การป่วยหนัก และเสียชีวิตจะลงมาในระดับควบคุมได้

ส.ค.เน้นกระจายวัคซีนไปต่างจังหวัด

ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการกระจายวัคซีนในเดือน ส.ค. ว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-1 ส.ค. ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล มีการฉีดวัคซีนในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่ม 7 โรคเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะมีการเร่งรัดการฉีดในเดือน ก.ค. ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุได้ตามเป้าหมายคือ ร้อยละ 80 ดังนั้นในเดือน ส.ค.จะกระจายวัคซีนไปพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเดือน ส.ค.นี้ มีวัคซีนมากกว่า 10 ล้านโดส ทั้งวัคซีนซิโนแวค วัคซีนแอสตราเซเนกา และวัคซีนไฟเซอร์ โดยเฉพาะจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งมีการแพร่ระบาดมากขึ้น ได้แก่ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม สมุทรสาคร ฉะเชิงเทรา ชลบุรี สมุทรปราการ รวมทั้งพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา พังงา ระนอง ส่วน กทม.ลดลง ประมาณ 1 ล้านกว่าโดส

ต.ค.ถึงคิวคนทั่วไปได้ฉีด

ส่วนประชาชนทั่วไปที่มีร่างกายแข็งแรงจะได้รับวัคซีนเมื่อใดนั้น นพ.โสภณกล่าวว่า ที่ผ่านมาไทยให้วัคซีนเพื่อป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต จึงมุ่งเน้นที่ผู้สูงอายุและกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาจะเห็นว่าหน่วยงาน บริษัท องค์กรหลายแห่ง มีการจัดหาวัคซีนทางเลือก เช่น ซิโนฟาร์มไปฉีดให้กับพนักงาน และภาพรวมของการฉีดวัคซีนในประเทศไทย จะเห็นว่าประชาชนทั่วไปมีเปอร์เซ็นต์รับวัคซีนแล้วสูงที่สุด ดังนั้น ในช่วง ส.ค.-ก.ย .ยังคงฉีดให้ผู้สูงอายุและกลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง คาดว่าเดือน ต.ค.จะถึงคิวประชาชนทั่วไป ส่วนคนต่างชาติ ขณะนี้ไทยให้วัคซีนไปแล้ว 280,075 คน คิดเป็นร้อยละ 5.72 ของคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศ รวมทั้งควบคุมพื้นที่ระบาด โดยต่างชาติที่รับวัคซีนสูงสุดคือ แรงงานเมียนมา 140,577 คน รองลงมาคือ จีน 37,192 คน เพราะได้รับวัคซีนบริจาคจากจีน กัมพูชา 25,414 คน นอกนั้นคือ ลาว ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย อินเดีย อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา ตามลำดับ

อภ.เล็งขยายผลิตยาฟาวิพิราเวียร์

ขณะที่ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวถึงข้อกังวลเรื่องยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ ไม่เพียงพอว่า องค์การฯได้เริ่มผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ที่มาจากการวิจัย พัฒนา และผลิตเอง ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) วันที่ 13 ก.ค.64 ภายใต้ชื่อ ฟาเวียร์ (200 มิลลิกรัมต่อเม็ด) และปรับแผนขยายการผลิตเพิ่มเพื่อลดการจัดหาจากต่างประเทศ โดยในเดือน ส.ค.จะผลิตแบบบรรจุแผงจำนวน 2.5 ล้านเม็ด และเพิ่มการผลิตแบบบรรจุใส่ขวด คาดว่าจะได้รับอนุมัติแบบบรรจุขวด จาก อย.ภายในเดือน ส.ค. และในเดือน ก.ย. จะผลิตยาได้ 23 ล้านเม็ด และตั้งแต่เดือน ต.ค.เป็นต้นไป จะผลิตได้ไม่น้อยกว่า 40 ล้านเม็ดต่อเดือน โดยมีแผนการผลิตยาที่โรงงานทั้ง 2 แห่ง คือที่ถนนพระรามที่ 6 และที่คลอง 10 อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี

เปิดจองซิโนฟาร์มรอบสอง

วันเดียวกัน ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์เฟซบุ๊กว่า ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แจ้งกำหนดการเปิดลงทะเบียนขอรับการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มสำหรับบุคคลธรรมดารอบ 2 จำนวน 75,000 ราย ในวันที่ 4 ส.ค. โดยระบุเปิด ระบบลงทะเบียนเวลา 10.10 น. และโอนเงินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 6 ส.ค. เวลา 18.00 น. โดยบุคคลธรรมดาลงทะเบียนจองวัคซีนซิโนฟาร์มทุกวันพุธ ได้ 2 ช่องทางคือ 1.เว็บไซต์ https://sinopharm.cra.ac.th และ 2.แอปพลิเคชัน CRA SINOP ทั้งระบบ iOS และ Android อัตราค่าวัคซีนซิโนฟาร์ม 2 โดสต่อคน 1,554 บาท (โดสละ 777 บาท) โดยทุกๆ 2 โดส ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จะบริจาคสมทบครึ่งโดสให้กับผู้ด้อยโอกาส นอกจากนี้ ศ.นพ.นิธิยังแจ้งไทม์ไลน์วัคซีนซิโนฟาร์ม 10 ล้านโดส ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ติดต่อนำเข้าระหว่างเดือน มิ.ย.-ส.ค.2564 ดังนี้ วันที่ 20 มิ.ย. 1 ล้านโดส วันที่ 4 ก.ค. 1 ล้านโดส วันที่ 18 ก.ค. 1 ล้านโดส วันที่ 25 ก.ค. 1 ล้านโดส ส่วนเดือน ส.ค. มีเข้ามาตั้งแต่วันที่ 1 จำนวน 1 ล้านโดส วันที่ 15 ส.ค. จำนวน 1 ล้านโดส วันที่ 22 ส.ค. 2 ล้านโดส และวันที่ 29 ส.ค. จะมาอีก 2 ล้านโดส ซึ่งมีการจัดสรรและกระจายให้กลุ่มต่างๆไปแล้ว 8.9 ล้านโดส

บขส.หยุดเดินรถทุกเส้นทาง

วันเดียวกัน นายสัญลักข์ ปัญวัฒนลิขิต กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เปิดเผยว่า เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งของ ศบค.ที่ขยายเวลาบังคับใช้มาตรการสำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจนถึงวันที่ 31 ส.ค.2564 รวมถึงปรับพื้นที่สีแดงเข้มเพิ่มอีก 16 จังหวัด รวมเป็น 29 จังหวัด บขส.จึงขอแจ้งหยุดให้บริการเดินรถเส้นทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ทุกเส้นทางชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.2564 หรือจนกว่าจะมีประกาศคำสั่งเปลี่ยนแปลง ผู้โดยสาร บขส.ที่ซื้อตั๋วล่วงหน้าเดินทางในช่วงเวลาที่ บขส.หยุดเดินรถสามารถติดต่อขอคืนตั๋ว หรือเลื่อนการเดินทางได้จนถึงสิ้นปีนี้ ณ ช่องจำหน่ายตั๋วของ บขส.ทั่วประเทศ เว้นผู้ที่ใช้สิทธิบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ไม่สามารถขอคืนเงินค่าตั๋วได้ แต่แจ้งเลื่อนการเดินทางได้

เตือนอย่าเชื่อตุ๋นขายยาฟาวิพิราเวียร์

นอกจากนี้ มีคำเตือนจากหน่วยงานรัฐให้ประชาชนระวังการสั่งซื้อยาและเวชภัณฑ์เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ผ่านออนไลน์ โดย น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อโซเชียลมีเดียที่มีการเผยแพร่ว่าขายยาฟาวิพิราเวียร์ และอย่าซื้อมารับประทานเอง เพราะปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์เป็นยาที่ใช้เฉพาะในสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่มีการวางขายตามร้านขายยาหรือท้องตลาดทั่วไป ขณะที่ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็เตือนกรณีการแชร์ข้อมูลข่าวปลอมในหัวข้อยา 6 ชนิด ที่เตรียมไว้ใช้รักษาโควิด-19 ด้วยตนเองที่บ้าน ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทยยืนยันว่าเป็นข่าวปลอม เนื่องจากในการจ่ายยาให้ผู้ป่วยโควิด-19 ต้องได้รับการประเมินจากแพทย์เป็นรายบุคคล หากเลือกรับประทานยาเองอาจทำให้เกิดอันตรายจากภาวะแทรกซ้อนของยาได้ และขอความร่วมมือไม่ส่งต่อหรือแชร์ข้อมูล เพื่อมิให้เกิดความสับสนและตื่นตระหนกในสังคม

ป่วยโควิดเครียดยิงตัวดับ

ส่วนวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานตลอดวัน ใน กทม. เกิดเหตุสลดผู้ติดเชื้อโควิดเสียชีวิตคาบ้านหลายราย โดยรายแรกเหตุเกิดในบ้านย่านซอยนวมินทร์ 81 แยก 3-8 แขวงนวมินทร์ เขตบึงกุ่ม กทม. ตร.พร้อมแพทย์นิติเวช รพ.ภูมิพล และเจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูชุดปฏิบัติการพิเศษโควิด-19 เข้าเก็บศพชาย อายุ 70 ปี ใช้ปืนลูกโม่ขนาด .38 มม. ยิงตัวเองเสียชีวิต ที่ชั้นล่างของบ้าน นางเอ (นามสมมติ) ภรรยาผู้ตายระบุว่าสามีเกษียณจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ต่อมาพบว่ามีความเสี่ยงจากการติดเชื้อที่ตลาดแถวบ้านพัก จึงซื้อชุดตรวจ ATK มาตรวจเองเมื่อวันที่ 31 ก.ค. ผลเป็นบวก จึงนัดตรวจอีกครั้งที่โรงพยาบาลในวันที่ 3 ส.ค.นี้ แต่เมื่อช่วงเช้าสามีใช้อาวุธปืนยิงตัวเองเสียชีวิตแล้ว คาดว่าอาจเกิดความเครียด ซึ่งครอบครัวไม่ติดใจสาเหตุการเสียชีวิตแต่อย่างใด

สลดโควิดพราก 2 ตายาย

รายต่อมา เหตุเกิดที่แสนสุขอพาร์ตเมนต์ ซอยลาดพร้าว 64 ช่วงเที่ยง ตร.สน.วังทองหลาง รับแจ้งมีผู้เสียชีวิตเข้าข่ายลักษณะสุ่มเสี่ยงติดโควิด จึงนำกำลังกองพิสูจน์หลักฐาน แพทย์เวรสถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ และอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญูพร้อมชุดปฏิบัติการพิเศษโควิด ไปในที่เกิดเหตุในห้องพักไม่มีเลขที่ ชั้น 1 พบศพนายติ๋ง นครชัย อายุ 57 ปี ผู้ป่วยติดเตียง จากการสอบสวนทราบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ป่วยติดเตียงมานานแล้ว ลูกสาวเช่าให้อยู่อาศัย ส่วนลูกสาวกับสามีเช่าอยู่ที่เดียวกัน แต่คนละห้องไปมาดูแลกันตลอด ก่อนหน้านี้ประมาณ 1 สัปดาห์ ลูกสาวติดโควิดอยู่ระหว่างรักษาที่โรงพยาบาล เบื้องต้นคาดว่าผู้เสียชีวิตติดโควิดเช่นกัน จากนั้นช่วงบ่าย เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญูชุดปฏิบัติการพิเศษโควิด-19 เดินทางไปบรรจุร่างผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ที่ซอยอ่อนนุช 66 (ซอยโมราวรรณะ2) แขวงสวนหลวง เขตประเวศ โดยนายอัญวุฒิ โพธิ์อำไพ เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู เปิดเผยว่า ที่เกิดเหตุเป็นบ้านเดี่ยว อยู่ในรั้วเดียวกัน 2 ครอบครัว รวม 9 คน ครอบครัวแรกติดเชื้อ 5 คน ครอบครัวที่สองติดเชื้อ 4 คน เดินทางไปรักษาแล้ว 3 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน เมื่อวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมาได้รับแจ้งจากครอบครัวดังกล่าวให้เข้ามารับศพคุณตา อายุ 82 ปี เสียชีวิตจากเชื้อโควิด-19 ทางเจ้าหน้าที่จึงระบุว่าจะมารับร่างในวันนี้ แต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ทางครอบครัวได้โทรศัพท์มาแจ้งว่าคุณยาย อายุ 80 ปี ได้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 เช่นเดียวกัน ซึ่งตากับยายยังรอเตียงรักษาอยู่ที่บ้านแต่ไม่ทันการณ์ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่บรรจุร่างผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ใส่โลงและนำไปประกอบพิธีฌาปนกิจคู่กันที่วัดกระทุ่มเสือปลา

โควิดคร่าอดีต ส.ส.ดัง

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ทั่วประเทศ หลังรัฐบาล โดย ศบค.ประกาศขยายเวลาการล็อกดาวน์และเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มจาก 13 จังหวัด เป็น 29 จังหวัด ปรากฏว่าตลอดวันที่ 2 ส.ค.ยังมีรายงานผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตต่อเนื่อง รวมถึงหลายจังหวัดคนป่วยล้น รพ.และ รพ.สนาม โดยที่ จ.ยะลา ผู้ป่วยใหม่ยังสูงต่ออีกวันคือ 177 คน เสียชีวิตเพิ่ม 4 ศพ ขณะที่ จ.ปัตตานี ติดเชื้อรายวัน 308 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 5 ศพ ส่วน จ.พังงา มีการเฝ้าระวังโรงงานปาล์มน้ำมันแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.คุระบุรี หลังมีพนักงานเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในคลัสเตอร์ ซอยสุเหร่า ต.คุระบุรี เจ้าหน้าที่ขอให้โรงงานดังกล่าวปิดชั่วคราวก่อน ขณะที่ จ.พัทลุง เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ศพ เป็นชาย อายุ 61 ปี คาดติดเชื้อจากลูกสาว ส่วนวันเดียวกัน นายไกรศร วิศิษฎ์วงศ์ ผวจ.นครศรีธรรมราช เผยว่าจังหวัดมีผู้ป่วยใหม่จำนวน 77 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 3 คน โดย 1 ในนี้คือนายศักดิ์ดา หรือเดชา สามารถ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังธรรม ปี 2535 เสียชีวิตที่ รพ.มอ.สงขลา เมื่อคืนที่ผ่านมา และญาตินำศพนายศักดิ์ดามาทำพิธีฌาปนกิจศพที่บ้านเกิดวัดเสนาราม อ.ท่าศาลา

คนโคราชแห่ฉีดวัคซีนทะลัก

ขณะที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งถูกจัดเป็นจังหวัดสีแดงเข้มด้วย เมื่อวันที่ 2 ส.ค.ผู้ติดเชื้อรายใหม่ยังทุบสถิติรายวันอยู่ที่ 407 คน พบติดเชื้อสูงสุดที่ อ.ปากช่อง 151 คน ผู้ป่วยเสียชีวิตรวดถึง 4 ศพ ส่วนการจัดฉีดวัคซีนทั้งที่ ศูนย์ฉีดวัคซีนที่ห้อง MCC HALL ชั้น 4 ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ โดย รพ.เทพรัตน์ มีศักยภาพฉีดได้วันละ 3-4 พันคน และศูนย์ฉีดวัคซีนที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา โดย รพ.มหาราชนครราชสีมา ที่มีศักยภาพในการฉีดต่อวัน 6-7 พันคนต่อวัน ต่างแน่นขนัด เพราะเปิดให้กลุ่มผู้สูงวัย คน 7 โรคเรื้อรัง กลุ่มน้ำหนักตัวเกิน 100 กก. และคนท้องมากกว่า 3 เดือน ที่มีที่อยู่ในนครราชสีมา วอล์กอินเข้าไปฉีดวัคซีนได้เลยไม่ต้องลงทะเบียน เป็นการฉีดซิโนแวค เข็มที่ 1 และแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่ 2 ขณะที่ จ.บุรีรัมย์ ยอดติดเชื้อใหม่วันเดียวพุ่งไปที่ 421 คน แต่เป็นผู้มาจากนอกพื้นที่ถึง 415 คน เช่นเดียวกับ จ.อุบลราชธานี มีผู้ติดเชื้อทำลายสถิติถึง 486 คน แต่มาจาก กทม.และต่างจังหวัด 426 คน ติดเชื้อในพื้นที่แค่ 60 คน

เศร้า!พยาบาลตายอีกราย

ส่วน จ.สมุทรสาคร ที่พบผู้ติดเชื้อทะลุพันคนเป็นวันที่ห้า อยู่ที่ 1,252 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 8 ศพ 1 ในนี้คือ น.ส.อุไรวรรณ จันทรปลิน อายุ 45 ปี พยาบาลวิชาชีพ ปฏิบัติงานอยู่ที่หอผู้ป่วยอายุรกรรมชาย 1 รพ.สมุทรสาคร ที่ติดเชื้อโควิดจากการปฏิบัติหน้าที่ และมีพิธีฌาปนกิจเป็นที่เรียบร้อยที่วัดศรีเมือง อ.เมือง เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 2 ส.ค.ท่ามกลางความโศกเศร้าของญาติพี่น้องและเพื่อนร่วมวิชาชีพ ด้าน นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผอ.รพ.สมุทรสาคร เปิดเผยว่า น.ส.อุไรวรรณ ทราบผลว่าติดเชื้อเมื่อวันที่ 26 ก.ค. เข้า รพ.ตั้งแต่วันที่ 27 ก.ค.และสุดท้ายเข้าห้องไอซียู ต่อมาอธิบดีกรมการแพทย์ช่วยรับตัวไปดูแลที่ รพ.ราชวิถีและเสียชีวิตลงอย่างสงบเมื่อเวลา 21.00 น. ของวันที่ 1 ส.ค. ทั้งนี้ พยาบาลท่านนี้เพิ่งฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกไปเมื่อวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมาและทาง รพ.จะดูแลช่วยเหลือตามสิทธิต่างๆทั้งหมดต่อไป

ลำเลียงเขมรติดเชื้อส่ง รพ.สนาม

ด้าน จ.สระแก้ว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ชาญ ว่องไวเมธี ผบ.ร้อย ทพ.1201 (ผู้บังคับกองร้อยทหารพรานที่ 1201) ได้นำกำลังพลจิตอาสา ร้อย ทพ.1201 ที่พูดภาษากัมพูชาได้พร้อมโทรโข่งกระจายเสียง ที่บริเวณจุดตรวจหน้าตลาดสดสายันต์ หลังตลาดโรงเกลือ และตลาดโกลเด้นเกต ติดกับตลาดโรงเกลือ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวกัมพูชา ที่ติดเชื้อโควิด-19 กว่า 200 คน ในตลาดสดสายันต์และตลาดโกลเด้นเกต มาขึ้นรถบัสของร้อย ตชด.126 ที่ กก.ตชด.12 ส่งมาอำนวยความสะดวกรับส่งผู้ติดเชื้อชาวกัมพูชาจากตลาดโรงเกลือ ไปส่งที่ รพ.สนามสุขเจริญไกรศรี รพ.สนามแห่งใหม่ของ อ.อรัญประเทศ โดยมี พ.ต.อ.ชนณพัฒน์ ศิริเลิศ ผกก.สภ.คลองลึก นำกำลัง ตร.มาอำนวยความสะดวกในการเดินทางตลอดเส้นทาง ขณะที่ภาพรวมของจังหวัด พบคนติดเชื้อเพิ่มอีก 385 คน จำนวนนี้เป็นชาวกัมพูชาในตลาดโรงเกลือถึง 245 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ศพ เป็นชายวัย 81 ปี จาก กทม.

สิงคโปร์สลับโดส-mRNA ขึ้นราคา

สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยอดติดเชื้อสะสมพุ่งเป็น 199,070,404 คน เสียชีวิตรวม 4,241,322 คน เป็นการติดเชื้อในวันเดียว 465,850 คน เสียชีวิตในวันเดียว 7,348 คน โดยที่สิงคโปร์ กระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนประเภท mRNA ไม่ว่าของไฟเซอร์หรือโมเดอร์นา แล้วเกิดอาการแพ้รุนแรง สามารถฉีดเข็มที่สองด้วยวัคซีนซิโนแวคของจีนแทน และจะถือเป็นการฉีดวัคซีนครบโดสอย่างเป็นทางการเช่นกัน ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี อนุมัติการใช้ฉีดวัคซีนซิโนฟาร์มของจีนแก่เด็กอายุ 3 ขวบ ถึง 17 ปี ส่วนสื่อไฟแนนเชียล ไทมส์ ของอังกฤษ รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า การทำสัญญาสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นารอบล่าสุดของสหภาพยุโรปนั้น ทางไฟเซอร์ได้ขึ้นราคาวัคซีนจากโดสละ 18.42 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 23.17 ดอลลาร์ (กว่า 590 บาท เป็น 741 บาท) โมเดอร์นาขึ้นราคาวัคซีนจากโดสละ 22.50 ดอลลาร์ เป็น 25.50 ดอลลาร์ (กว่า 720 บาท เป็น 816 บาท) ไฟเซอร์ปฏิเสธที่จะชี้แจงเรื่องนี้ โมเดอร์นาระบุเพียงว่า ยังไม่สามารถเปิดเผยเรื่องนี้ได้