เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มหันตภัยร้ายที่คร่าชีวิตมวลมนุษยชาติทั่วโลกไปแล้วเป็นจำนวนมาก และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถหยุดยั้ง หรือสกัดกั้นความร้ายกาจของเชื้อมฤตยูนี้ลงได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด สร้างความเสียหายให้กับทุกแวดวง ทั้งเศรษฐกิจและสังคม ไม่เว้นแม้กระทั่งเรื่องการศึกษา

ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ถึงกับต้องเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 ออกไปแล้วออกไปแบบเลื่อนแล้วเลื่อนอีกหลายรอบ จนท้ายที่สุดก็ต้องตัดสินใจประกาศเปิดภาคเรียนในวันที่ 14 มิถุนายน 2564

โดยให้โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จัดการเรียนการสอนเฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกล (On Air, Online, On Demand, On Hand ผ่านทางไปรษณีย์) เท่านั้น ส่วนโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือพื้นที่ควบคุม (สีส้ม) สามารถจัดการเรียนการสอนได้ทั้ง 5 รูปแบบ (On Site, On Air, Online, On Hand, On Demand) โดยรูปแบบ On Site นั้น โรงเรียนต้องผ่านเกณฑ์การประเมินความพร้อมของระบบ Thai Stop Covid+ (TSC+) และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน

...

แต่ล่าสุดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่นับวันรุนแรงขึ้นทุกจังหวัด ส่งผลให้โรงเรียนหรือสถานศึกษาทุกแห่งต้องปรับเปลี่ยนไปเรียนในรูปแบบทางไกลทั้งหมดอย่างไม่มีกำหนด

ไม่เพียงแค่นั้น ผลกระทบที่เกิดจากมฤตยูร้ายโควิด-19 ยังลามไปถึงนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน หรือสถานศึกษา เช่น จากการที่นักเรียนต้องปรับรูปแบบการเรียนในรูปแบบทางไกล บางคนขาดอุปกรณ์ที่จะใช้ในการเรียน เป็นภาระผู้ปกครองต้องจัดหาให้ ทั้งที่ปกติก็มีความยากลำบากในการใช้จ่ายในแต่ละวันอยู่แล้ว ขณะที่ครูผู้สอนเองก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของนักเรียนแต่ละคน ต้องเหนื่อยกว่าการสอนแบบปกติหลายเท่าหรือบางคนต้องออกไปส่งใบงานให้นักเรียนทั้งส่งทางไปรษณีย์ หรือส่งด้วยตัวเอง ซึ่งล้วนเป็นภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น

นี่เป็นเพียงผลกระทบบางเสี้ยวบางส่วนที่เกิดขึ้นจริง ณ ขณะนี้ และนั่นทำให้ ศธ.ที่นำโดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว. ศึกษาธิการ เร่งระดมความคิดกับผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ.เพื่อคลอดมาตรการเยียวยาช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษา ผู้ปกครอง รวมถึงคุณครู และสถานศึกษานำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้พิจารณาช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา ในการประชุม ครม. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้ไฟเขียว 3 มาตรการช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่ ศธ.เสนอ

มาตรการที่ 1 ลดภาระค่าใช้จ่ายในการเรียนรู้ โดยให้ความช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาสังกัด ศธ.ทั้งภาครัฐและเอกชน และสถานศึกษานอกสังกัด ศธ.ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ชั้นอนุบาล-ม.6 และระดับอาชีวศึกษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน โดยจ่ายผ่านสถานศึกษา และให้สถานศึกษาจ่ายตรงให้แก่นักเรียน นักศึกษา หรือผู้ปกครองแล้วแต่กรณี ในรูปแบบของเงินสด หรือนำเข้าบัญชีธนาคาร รวมแล้วประมาณ 11 ล้านคน วงเงินรวมประมาณ 21,600 ล้านบาท

...

มาตรการที่ 2 ขอความร่วมมือให้กลุ่มโรงเรียนเอกชนที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐ และกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ ลดหรือตรึงค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บจากผู้ปกครอง ให้เท่ากับปีการศึกษา 2563 เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มภาระแก่ประชาชนเกินสมควร และจัดตั้งศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในโรงเรียน เอกชนกลุ่มโรงเรียนเอกชนที่ไม่รับการอุดหนุนจากรัฐและกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ เพื่อใช้มาตรการตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 และ 34 ของพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 เป็นรายกรณี

และมาตรการที่ 3 ลดช่องว่างการเรียนรู้ (Learning Gaps) และลดผลกระทบด้านความรู้ ที่ขาดหายไป (Learning Loss) โดยให้สถานศึกษาสามารถถัวจ่ายเงินที่ได้รับจัดสรรตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี ใน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน หนังสือเรียน อุปกรณ์การเรียน เครื่องแบบนักเรียน และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เพื่อใช้ในการจัดการเรียนรู้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีการศึกษา 2564 ได้ พร้อมกันนี้จะมีโรงเรียนในสังกัด ศธ.จำนวน 34,887 แห่ง ได้รับการสนับสนุนงบฯเพิ่มเติมเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการเรียนรู้และแก้ปัญหาความปลอดภัยจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจัดทำสื่ออุปกรณ์การเรียนรู้ วงเงินรวมประมาณ 400 ล้านบาท

...

“การกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนยึดหลักการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้เรียน ทั้งในสถานศึกษาทั่วไป ด้อยโอกาส ยากจน และกลุ่มเด็กพิการ และจากมติ ครม.ในครั้งนี้จะทำให้ผู้เรียนทุกกลุ่มได้รับความช่วยเหลือและสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการเรียนและการดำรงชีวิต ทำให้มีความพร้อมในการเรียน ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19” น.ส.ตรีนุช กล่าวถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนที่ ศธ.ได้ดำเนินการ

ทีมการศึกษา มองว่าอย่างน้อยทั้ง 3 มาตรการนี้ ก็ถือเป็นความพยายามของ ศธ.ที่ต้องการผลักดันความช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระความเดือดร้อนของสังคมไทย ณ วันนี้

เพื่อให้การขับเคลื่อนการจัดการเรียนการสอน และการใช้ชีวิตสามารถก้าวเดินหน้าต่อไปได้บ้าง “ไม่มากก็น้อย”

ช่วยต่อลมหายใจและผ่อนภาระคนเป็นพ่อแม่ผู้ปกครองในยามต้องเผชิญกับมหันตภัยร้ายโควิด-19 ไปได้บ้าง...!!!

...

ทีมการศึกษา