เพราะศูนย์ฉีดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ น่าจะกลายเป็นจุดฉีดวัคซีนเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ที่สามารถจัดหาวัคซีนมาให้บริการได้อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง จากการผสานความแข็งแกร่งระหว่าง 2 รมต.แห่งพรรคภูมิใจไทย อันได้แก่ อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และ ศักด์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ในฐานะเจ้าของพื้นที่

ถนนทุกสายจึงมุ่งหน้าสู่สถานีกลางแห่งนี้ เพื่อไขว่คว้าหาโอกาสในการเข้าถึงวัคซีน โดยเฉพาะแอสตราเซเนกา ซึ่งถือเป็นของหายาก เนื่องจากมีจำนวนจำกัด

สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อกรมการแพทย์ประกาศให้บุคคลกลุ่มเสี่ยงสามารถวอล์กอินเข้ามาฉีดวัคซีนได้ ผู้คนจากทั่วสารทิศ รวมผู้พักอาศัยในจังหวัดใกล้เคียง จึงหลั่งไหลมารอยังหน้าสถานีกลางบางซื่อ หวังคว้าโอกาสทอง

ภาพประชาชนที่แออัด เข้าคิวอยู่หน้าสถานีกลาง โดยปราศจากการเว้นระยะห่าง สร้างความไม่สบายใจให้คนในสังคมทันที จนนายอนุทิน ชาญวีรกูล ต้องออกมาชี้แจงว่า คนเยอะเฉพาะช่วงเช้า และภาพที่เห็นแออัดนั้น น่าจะเป็นที่มุมกล้อง และในที่สุดนโยบายให้วอล์กอินเข้ามาฉีดวัคซีนก็ถูกยกเลิกไป

...

ไม่กี่วันต่อมา ก็เกิดกรณีอื้อฉาวขึ้นอีก ครั้งนี้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบได้ออกมาเปิดเผยกับสื่อมวลชนเองว่า พบกรณีสวมสิทธิ์เข้าฉีดวัคซีนในสัดส่วนของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยเจ้าหน้าที่ได้สอบถามผู้ที่ซื้อสิทธิ์มาและมาใช้สิทธิ์ฉีดวัคซีน สารภาพว่ามีการจ่ายค่าหัวสิทธิ์ในการมาฉีดวัคซีนหัวละ 300-1,000 บาท นายศักดิ์สยาม ซึ่งย้ำนักย้ำหนาว่าการฉีดวัคซีนที่บางซื่อเป็นการให้บริการฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย จึงสั่งการให้ดำเนินคดีผู้กระทำผิดให้ถึงที่สุด เนื่อง จากถือเป็นคดีฉ้อโกง

ส่วนจะโกงกันอีท่าไหนนั้น แถลงการณ์จากทรู คอร์ปอเรชั่น เมื่อวันที่ 30 ก.ค. ที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าจะเปิดเผยไว้อย่างละเอียดและชัดเจน ทรูระบุ ได้แจ้งความดำเนินคดีต่อกรณีที่มีรายชื่อผู้มาฉีดวัคซีนกลุ่มหนึ่งไม่ตรงกับรายชื่อลูกค้าที่ลงทะเบียนจองไว้กับทรู ในวันที่ 27 ก.ค.ที่ผ่านมา รวมทั้งได้แจ้งความผิดปกติดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่ของกรมการแพทย์ ซึ่งเป็นผู้จัดสรรการฉีดวัคซีนให้ตรวจสอบในทันที

ทรูยืนยันว่า ระบบของทรูไม่ได้ถูกแฮ็กหรือเจาะเข้าระบบ จากการตรวจสอบพบกระบวนการผิดปกติที่ปรากฏชื่อเพิ่มขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากการมีชื่อเพิ่มเติมในระบบส่วนกลางของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อมูลการลงทะเบียนผ่านค่ายมือถือแต่อย่างใด ซึ่งข้อมูลจากระบบทรู ที่ส่งให้กรมการแพทย์รายวันล่วงหน้านั้น ถูกต้องตามโควตาที่ได้รับ และเป็นการนำส่งข้อมูลทางเมลไปให้กรมการแพทย์เป็นผู้ตรวจสอบและนำไปลงระบบเอง

สำหรับกรณีนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการสอบสวนผู้ต้องสงสัยว่า มีการนำข้อมูลเพิ่มเติมเข้าสู่ระบบส่วนกลางได้อย่างไร เพราะจากการตรวจสอบมีรายชื่อถูกเพิ่มเข้าระบบช่วง 4 ทุ่ม ซึ่งนำไปเพิ่มในโควตาทรูในระบบดาต้าเบสของส่วนกลาง ไม่ได้เจาะผ่านระบบของทรู โดยทรูพบความผิดปกติหน้างาน เนื่องจากไม่มีหลักฐาน QR Code เพื่อยืนยันว่าจองวัคซีนผ่านทรู และเมื่อตรวจสอบในระบบของทรูอีกครั้งก็ไม่มีรายชื่อ แต่มีรายชื่อในระบบกลาง ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมการแพทย์ จึงได้ตั้งข้อสังเกตและส่งเรื่องให้กรมการแพทย์ตรวจสอบและเข้าแจ้งความ ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาผู้กระทำผิดดำเนินคดี

แถลงการณ์ของทรูระบุอีกว่า ทรูได้สนับสนุนว่าจ้างบุคลากรวันละ 100 คน เพื่อไปช่วยอำนวยความสะดวกกับผู้เข้ามาฉีดวัคซีนที่สถานีกลางบางซื่อในแต่ละวัน โดยว่าจ้างจัดหาเจ้าหน้าที่ Outsource เพื่อไปช่วยงานกรมการแพทย์จำนวน 100 คน ตามที่มีการขอสนับสนุน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 1. การปฏิบัติหน้าที่หน้างานภายนอก 30 คน (จุดรับรายงานตัวจุดที่ 1 ทรูเป็นผู้ดูแล) 2.การปฏิบัติงานภายในส่วนงานของกรมการแพทย์อีก 70 คน ซึ่ง 70 คนนี้อยู่ภายใต้การบริหารจัดการของกรมการแพทย์เอง ซึ่งทรูได้ว่าจ้างและรับผิดชอบค่าใช้จ่าย 100% แต่ไม่ได้บริหารคนกลุ่มนี้ โดยได้ส่งมอบให้กรมการแพทย์ดูแลตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค. 2564 ซึ่งในส่วนของการทำงานของคนที่สามารถลงระบบภายในนั้น กรมการแพทย์จะเป็นผู้กำหนด Username และ Password ให้สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ด้านในกับกรมการแพทย์ ซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่ Outsource ที่ทรูส่งมอบไปแล้ว

...

ทรู ระบุในแถลงการณ์ปิดท้ายว่า เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีก และเป็นการป้องกันเชิงรุก จึงขอให้กรมการแพทย์เพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบการมอบหมายสิทธิ์ในการเข้าถึงข้อมูลส่วนกลาง รวมทั้งควรมีกระบวนการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

ด้าน พล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ผู้บังคับการตำรวจรถไฟ (ผบก.รฟ.) กล่าวว่า ตรวจสอบพบมีการลักลอบคีย์ข้อมูลนอกเวลาทำการ โดยคาดว่าจะมียอดผู้สวมสิทธิ์มากกว่า 5,000-6,000 ราย ค่าเสียหายหลายล้านบาท

และล่าสุดข้อมูลเบื้องลึกชี้ชัดว่า มีเจ้าหน้าที่ 19 คน ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากเป็นเจ้าของ Username และ Password ที่ถูกใช้กรอกรายชื่อผู้สวมสิทธิ์ใส่เข้าไปในระบบกลาง แต่ยังไม่แน่ชัดว่าทั้งหมดเข้าข่ายมีความผิดหรือไม่ หรือแค่ถูกขโมยใช้ Username และ Password โดยในจำนวนนั้น 11 คน เป็นเจ้าหน้าที่ Outsource ที่ทรูจ่ายเงินจ้าง ที่เหลือเป็นเจ้าหน้าที่ Outsource ที่ค่ายมือถืออื่นจ่ายเงินสนับสนุน ภายใต้การบริหารจัดการของกรมการแพทย์.


ศุภิกา ยิ้มละมัย