สาธารณสุขเคาะแล้ว ให้ปรับสูตรการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ใช้สลับชนิด เข็ม 1 และ 2 ยังเน้น “ซิโนแวค-แอสตราฯ” ส่วนคนฉีดซิโนแวค ครบ 2 เข็มให้กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตราฯเป็นหลัก คาดประเดิมกลุ่มบุคลากรด่านหน้าก่อน หวังสู้เชื้อ กลายพันธุ์เดลตาที่พบแนวโน้มระบาดทั่วประเทศในอีกไม่นาน พร้อมอนุมัติสถานพยาบาลใช้ชุดตรวจเชื้อแบบเร็วได้ ส่วนประชาชนรอแป๊บ คาดให้หาซื้อมาตรวจเองได้ในสัปดาห์หน้า หวังแก้ปัญหาคนรอตรวจเชื้อจนล้น โดยเฉพาะใน กทม.รวมถึงปรับเกณฑ์ผู้ติดเชื้อไม่มีอาการให้กักตัวที่บ้านแล้วจัดทีมเข้าไปดูแลแทน ขณะที่หลายจังหวัดยอดติดเชื้อใหม่ทุบสถิติทำนิวไฮ ส่วน “ผู้ว่าฯปู” รับเสียใจสูญเสียบุคลากรด่านหน้า “หมอหนึ่ง” หลังฉีดวัคซีน 2 เข็ม แต่ สสจ.สวนยันยังไม่ได้ฉีดสักเข็ม แต่เพราะทำงานหนัก พักผ่อนน้อย จนร่างกายสู้โรคไม่ไหว พบสายพันธุ์ผสมอัลฟา-เดลตาโผล่ กทม.

หลังไทยเริ่มพบผู้ได้รับวัคซีนซิโคแวคครบ 2 เข็มมาก่อนหน้านี้ ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และเสียชีวิตในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ คนทำงานด่านหน้า หลังเกิดการกลายพันธุ์ของเชื้อจากดั้งเดิม “สายพันธุ์อู่ฮั่น” ไปเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดได้เร็วขึ้น เช่น สายพันธุ์เดลตา ทำให้ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขประกาศปรับการฉีดวัคซีนเป็นแบบสลับชนิดกัน

...

ไฟเขียวฉีดสลับชนิด-บูสต์เข็ม 3

ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เวลา 12.30 น. วันที่ 12 ก.ค.นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข แถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติผ่านระบบออนไลน์ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบดังนี้ 1.การฉีดวัคซีนสลับชนิด เข็มแรกเป็นซิโนแวค เข็มสองเป็นแอสตราเซเนกา ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลตา 2.รับทราบการฉีดวัคซีนในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันหรือบูสเตอร์โดสเข็มสาม แต่ให้ห่างเข็มสองระยะ 3-4 สัปดาห์ บุคลากรด่านหน้าส่วนใหญ่รับวัคซีนครบ 2 เข็มมาเกิน 4 สัปดาห์ สามารถฉีดได้ทันที เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นและเร็วที่สุดกับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่เสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด จากการปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วย และการกลายพันธุ์จากอัลฟาเป็นเดลตา จำเป็นต้องฉีดกระตุ้นเพื่อลดความเสี่ยง เข็มบูสเตอร์โดสจะใช้แอสตราฯเป็นหลัก เนื่องจากมีข้อมูลทางวิชาการถึงการให้ต่างชนิด มีผลดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันในบุคคล

สถานพยาบาลใช้ชุดตรวจเร็วได้

3.แนวทางการใช้ชุดตรวจเร็วหรือ Rapid Antigen Test ในสถานพยาบาล เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการตรวจเชื้อโควิดของประชาชน ไม่ต้องมารอคิวตรวจด้วย RT-PCR ใช้เวลานาน ทั้งนี้ ชุดตรวจ Rapid Antigen Test ที่นำมาใช้ต้องผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มี 24 ยี่ห้อ จะอนุญาตให้ตรวจในสถานพยาบาลกว่า 300 แห่ง เร็วๆนี้จะอนุญาตให้ประชาชนตรวจได้เองที่บ้าน ซึ่งจะมอบหมายให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครดูแลให้ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ให้แยกกักตัวที่บ้าน/ชุมชน

4.แนวทางการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isola-tion) และแยกกักในชุมชน (Community Isolation) สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง สามารถแยกกักที่บ้าน หรือในส่วนของชุมชนนั้น จะเป็นการแยกกักในบ้านที่อยู่ในชุมชนจำนวนมาก ทั้งหมดจะมีระบบติดตาม มีปรอทวัดไข้ มีเครื่องมือวัดออกซิเจนในกระแสเลือด มียา และจัดส่งอาหารให้ผู้ป่วยทุกราย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะร่วมมือกับ รพ.ที่เป็นเจ้าภาพในการดูแลเรื่องนี้ นอกจากนี้ ยังรับทราบเรื่องหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ กทม. เพื่อเข้าดูแลผู้ป่วยถึงบ้าน ทั้งทางกายและจิตใจ หรือผู้ป่วยที่กลับมาจาก รพ.แล้ว และจะมีชุดคัดกรอง Rapid Antigen Test ไปให้บริการถึงชุมชนถึงบ้านที่ตัวเองอยู่ แต่เรื่องที่ยังต้องปฏิบัติคือ การดูแลป้องกันโรค สวม หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ไม่รับประทานอาหารร่วมกันทั้งในบ้านและนอกบ้าน ลดการเดินทาง ตามแนวทางที่ ศบค.กำหนดไว้

มั่นใจใช้ยาแรงงวดนี้จะเอาอยู่

นายอนุทินกล่าวด้วยว่า มั่นใจว่าจากมาตรการยาแรงที่ดำเนินการพร้อมกันในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกคนจะลดจำนวนผู้ป่วยโควิดได้ นอกจากนี้ มีการปรับแผนฉีดวัคซีน ระดมฉีดให้แก่ผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค และตั้งเป้าฉีดวัคซีนอายุ 60 ปีขึ้นไปให้ได้ 1 ล้านคนใน 2 สัปดาห์นี้ โดยเฉพาะพื้นที่ระบาดรุนแรงใน กทม.และปริมณฑล

เปิดให้ ปชช.ซื้อชุดตรวจเอง

ต่อมา นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวเพิ่มเติมกรณีการรอตรวจเชื้อโควิดจำนวนมาก ว่า สธ.พิจารณาให้ใช้ชุดตรวจที่เรียกว่า Antigen Test Kit หรือ ATK นำมาใช้ในวงกว้างมากขึ้น ระยะแรกจะใช้ในสถานพยาบาล คลินิกชุมชนอบอุ่น หรือคลินิกต่างๆที่ใกล้เคียง ประชาชนสามารถไปขอใช้บริการได้ เมื่อตรวจพบผลบวกหรือลบ สธ.ได้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และภาคีเครือข่าย จัดระบบมาดูแล หากป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย ให้ดูแลรักษาที่บ้านที่เรียกว่า Home Isolation (HI) และการแยกกักตัวในชุมชน กรณีชุมชนมีความเข้มแข็งจะจัดสถานที่ดูแลเรียกว่า Community Isolation (CI) ทั้งสองแบบจะมีระบบสาธารณสุขติดตามดูแล ในอนาคตจะขยายให้ทดสอบด้วยตัวเอง น่าจะเป็นสัปดาห์หน้าวาง จำหน่ายในร้านขายยา

...

จัด 188 ทีมดูแลชุมชนใน กทม.

นพ.เกียรติภูมิกล่าวด้วยว่า ระหว่างล็อกดาวน์ 2 สัปดาห์นี้ สธ.จะร่วมกับ กทม. ภาคีเครือข่ายและคลินิกชุมชนอบอุ่นจัดระบบบริการแบบปฐมภูมิหรือ CCR ทีมเบื้องต้นมี 188 ทีม ลงพื้นที่เข้าไปดูแลชุมชนใน กทม. เกือบ 200 พื้นที่ ทั้งให้ความรู้ การดูแลตัวเอง ทั้งมีเชื้อและไม่มีเชื้อ รวมถึงผู้ที่อยู่ในระบบแยกกัก Home Isolation และ Community Isolation มีระบบดูแลรักษาทั้งทางกายและใจ มียาเข้าไปทั้งฟ้าทะลายโจรและยาต้านไวรัส แล้วแต่กรณี หากพบคนสูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ทีมนี้จะเข้าไปฉีดวัคซีน จะเร่งฉีดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 80 ซึ่งรวมถึงหญิงตั้งครรภ์ด้วย รวมทั้งเชื่อมต่อระบบบริการหากพบประชาชนเจ็บป่วยจะรีบให้การดูแล หรือจะมีระบบเทเลเมดิซีนให้คำปรึกษา และหากมีอาการมากขึ้น ทีมนี้จะจัดการนำส่งเข้าสู่สถานพยาบาลทันที

เผยวิธีใช้ชุดตรวจด้วยตัวเอง

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า การใช้ชุดตรวจแอนติเจนเทสต์ คิต ที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศให้ใช้นั้น จะให้ใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์ แต่ในอนาคตจะปลดล็อกเมื่อมีการวางจำหน่ายในร้านขายยาทั่วไป สำหรับชุดตรวจแอนติเจน เป็นการตรวจหาเชื้อ เก็บตัวอย่างจากการแหย่จมูก ลำคอ แล้วแต่ชุดตรวจ โดยเป็นการตรวจคัดกรองเบื้องต้น เพื่อลดความแออัดของคนรอตรวจ กรณีเมื่อตรวจแล้วผลบวกให้รีบแจ้งสถานพยาบาลใกล้บ้าน เช่น คลินิก สำนักงานสาธารณสุข กทม. คลินิกชุมชนอบอุ่น เพื่อเข้าสู่กระบวนการแยกกักตัวที่บ้าน กรณีผลเป็นบวกและมีอาการ ระหว่างรอไปสถานพยาบาลต้องป้องกันตัวไม่ให้แพร่เชื้อ กรณีผลเป็นลบ แต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงและยังไม่มีอาการ ให้ตรวจซ้ำภายหลัง 3-5 วัน แต่ถ้ามีอาการ เช่น ไอ เจ็บคอ ให้ตรวจซ้ำได้เลย

...

รอเคาะเกณฑ์ตรวจฟรี

นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า สำหรับการร้องขอชุดตรวจโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ขณะนี้ สปสช.กำลังกำหนดเกณฑ์ ส่วนในอนาคตเมื่อมีชุดตรวจเข้าสู่ตลาดจำนวนมากขึ้น เกิดการแข่งขันทางการตลาด คาดว่าราคาชุดตรวจจะลดลง ทำให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ ชุดตรวจที่ตรวจด้วยตนเอง ประชาชนต้องเก็บตัวอย่างเชื้อให้ถูกต้องตามวิธีที่กำหนด การเก็บอุปกรณ์หลังตรวจต้องมิดชิด ใส่น้ำยาฆ่าเชื้อและต้องล้างมือให้สะอาด

อีกไม่นาน “เดลตา” ครองทั่วไทย

นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจกล่าวยังถึงการติดตามสายพันธุ์โควิดในประเทศไทยว่า ตั้งแต่เดือน เม.ย.กรมวิทย์ฯตรวจหาสายพันธุ์แล้ว 15,000 ตัวอย่าง ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) คิดเป็นร้อยละ 74 สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ร้อยละ 24 สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ร้อยละ 1.7 แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาพบสายพันธุ์เดลตาเพิ่มขึ้น โดย กทม.เพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 60 ภูมิภาคร้อยละ 23 ภาพรวมทั้งประเทศสายพันธุ์เดลตาเฉลี่ยร้อยละ 46 พบแล้ว 60 จังหวัดทั่วประเทศ คาดว่าอีกไม่นานสายพันธุ์เดลตาจะครอบคลุมทั้งหมดของประเทศ ทำให้ต้องปรับแนวทางการฉีดวัคซีนให้สอดคล้องกับการกลายพันธุ์

...

กทม.พบเชื้อผสม “อัลฟา-เดลตา”

นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่า ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ส่วนใหญ่ยังพบในพื้นที่ภาคใต้ แต่ที่น่าแปลกใจว่า พบรายหนึ่งที่ จ.บึงกาฬ เป็นแรงงานกลับจากไต้หวัน ขณะที่อยู่ในสถานที่กักตัวของรัฐ 14 วัน ตรวจไม่พบเชื้อ แต่เมื่อกลับบ้านกลับพบว่าป่วย และเมื่อตรวจพบเป็นสายพันธุ์เบตา กรมวิทย์ฯได้ถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว เทียบกับสายพันธุ์เบตาที่ภาคใต้กับไต้หวัน ปรากฏว่าไม่ได้มาจากทั้ง 2 แหล่ง โดยแจ้งเรื่องนี้ให้กรมควบคุมโรคทราบแล้ว เพื่อสอบสวนโรคอย่างละเอียดอีกครั้ง และนำผู้ใกล้ชิดมาตรวจหาเชื้อ ยืนยันว่าสายพันธุ์เบตายังแพร่ไม่เร็ว ส่วนใหญ่ยังอยู่ภาคใต้ นอกจากนี้ยังได้ลงไปตรวจในแคมป์คนงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ จำนวน 200 กว่าคน พบการติดเชื้อในลักษณะ Mix infection หรือติดเชื้อแบบผสมทั้งอัลฟาและเดลตา จำนวน 7 คน ดังนั้น หากปล่อยให้เกิดการติดเชื้อแบบผสมเช่นนี้ อาจเกิดการกลายพันธุ์ขึ้นมาได้ เราไม่ต้องการให้เกิด ทำให้รัฐบาลต้องล็อกดาวน์ เพื่อลดโอกาสการเกิดการติดเชื้อแบบผสม ซึ่งลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นในต่างประเทศ ไม่ใช่ประเทศไทยที่เดียว สำหรับ 7 คนดังกล่าวขณะนี้อาการปกติ แต่ต้องจับตาดูกันต่อไป

ให้พาณิชย์ควบคุมราคา

ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ชุดตรวจแอนติเจนเทสต์คิตปัจจุบันยังจัดเป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไม่อนุญาตให้คนทั่วไปใช้ได้ และยังไม่มีวางจำหน่ายทั่วไป มี 24 ยี่ห้อที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจาก อย. และเมื่อ รมว.สาธารณสุขลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข และประกาศในราชกิจจานุเบกษา จะมีผลให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงชุดตรวจได้ง่ายขึ้น คาดว่าจะมีผลในสัปดาห์หน้า ส่วนการควบคุมราคาจะประสานกระทรวงพาณิชย์ให้เร่งดำเนินการ

ไทยป่วย-ตายรายวันยังสูง

สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทย ประจำวันที่ 12 ก.ค. พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วย โฆษก ศบค. แถลงที่ทำเนียบรัฐบาลว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,656 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 8,559 คน จากเรือนจำและที่ต้องขัง 73 คน มาจากต่างประเทศ 24 คน ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 345,027 คน หายป่วยเพิ่มเติม 3,687 คน อยู่ระหว่างรักษา 90,578 คน อาการหนัก 2,895 คน ใช้เครื่องช่วยหายใจ 747 คน มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 80 คน เป็นชาย 37 คน หญิง 43 คน อยู่ใน กทม. 44 คน สมุทรปราการ 6 คน ปัตตานี 5 คน ปทุมธานี สมุทรสาคร จังหวัดละ 3 คน ยะลา กำแพงเพชร จังหวัดละ 2 คน สงขลา เชียงราย เพชรบุรี ภูเก็ต กาญจนบุรี นครนายก ชลบุรี พิจิตร สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง อุตรดิตถ์ สมุทรสงคราม อุดรธานี จังหวัดละ 1 คน ในจำนวนนี้มีหญิงตั้งครรภ์ 7 เดือน 1 คน ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 2,791 คน ขณะที่ยอดฉีดวัคซีนรวม 12,569,213 โดส 2 สัปดาห์หลังจากนี้ ศบค.ได้ให้ กทม. และหน่วยงานต่างๆเร่งระดมฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและ 7 โรคกลุ่มเสี่ยง

คลัสเตอร์ใหม่ผุดกระจาย

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 12 ก.ค. ได้แก่ กทม. 2,399 คน สมุทรสาคร 591 คน สมุทรปราการ 405 คน ชลบุรี 399 คน ปทุมธานี 397 คน นครปฐม 315 คน นนทบุรี 313 คน ปัตตานี 215 คน ยะลา 201 คน และสงขลา 188 คน พบคลัสเตอร์ใหม่หลายพื้นที่ ประกอบด้วย ตลาดสดรัตนากร อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี พบผู้ติดเชื้อ 29 คน โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ใน อ.เมืองสุราษฎร์ธานี 7 คน บริษัทผลิตอุปกรณ์แก๊ส อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี 13 คน ร้านอาหารแห่งหนึ่งใน อ.เมืองนครศรีธรรมราช 12 คน ตลาดสายหยุด อ.เมืองกาญจนบุรี 7 คน บริษัทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อ.เมืองปราจีนบุรี 22 คน บริษัทชิปปิ้ง อ.แม่สอด จ.ตาก 7 คน จากการสอบสวนโรคยังพบผู้ติดเชื้อจากการร่วมสังสรรค์ งานเลี้ยงวันคล้ายวันเกิด และไม่สวมหน้ากาก มีพฤติกรรมสูบบุหรี่มวนเดียวกัน แม้งานจะไม่ได้จัดในพื้นที่สีแดงเข้ม แต่ยังเน้นย้ำว่าต่อให้อยู่ในบ้านก็ควรระมัดระวังสูง โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ

ให้เตียงเฉพาะผู้ป่วยหนัก

ส่วนสถานการณ์เตียงใน กทม. พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีความต้องการเตียงสูงมาก มีการหารือเรื่องให้ผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน และแยกกักตัวในชุมชน จากนี้ต้องทำความเข้าใจประชาชนว่า จากอัตรา ผู้ติดเชื้อจำนวนมาก มีผู้ป่วยระดับสีเหลือง สีแดง ที่มีความต้องการเตียงเร่งด่วนจำนวนมาก เราขอสงวนเตียงสีเหลือง สีแดงเหล่านี้ รองรับผู้ที่มีความรุนแรงเข้าโรงพยาบาล ในระดับชุมชน จะมีการจัดทีมเคลื่อนที่เร็วที่มีหลายหน่วยงาน จำนวน 200 ทีม เข้าไปค้นหาผู้ติดเชื้อในชุมชน เมื่อพบการติดเชื้อจะดูแลรักษาเบื้องต้น หากผู้ป่วยอยู่ระดับสีเขียวจะให้แยกกักที่บ้าน หากเป็นกลุ่มก้อนจะให้พักคอยอยู่ในชุมชน หรือ รพ.สนามชุมชน ทีมนี้จะติดตามอาการผู้ป่วย หากมีอาการรุนแรง หรือเป็นผู้ป่วยที่สูงอายุ อยู่ใน 7 กลุ่มโรค จะส่งเข้าระบบรักษา

อ้างแอลเอฉีด 2 โดสยังตาย

พญ.อภิสมัยยังกล่าวถึงกรณีผู้ที่ฉีดวัคซีน 2 โดสแล้วมีโอกาสเสียชีวิตได้หรือไม่ว่า ข้อมูลในลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา มีผู้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส 4.5 ล้านคน ยังพบอัตราผู้ติดเชื้อที่น้อย จำนวน 2,190 คน คิดเป็นร้อยละ 0.048 ในจำนวนนี้มี 192 คน ที่มีอาการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล คิดเป็นร้อยละ 0.042 และพบผู้เสียชีวิต 20 คน หรือร้อยละ 0.004 จึงเป็นข้อสรุปที่ว่า แม้ฉีดวัคซีนครบ 2 โดส ยังสามารถติดเชื้อ แพร่เชื้อ อาจมีอาการทรุดหนักถึงขั้นเสียชีวิตได้ ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯวิเคราะห์ว่า กลุ่มที่มีความเสี่ยงที่ฉีดวัคซีนครบแล้วยังอาจกลายเป็นผู้ป่วยหนักหรือเสียชีวิตคือคนไข้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องอยู่ก่อนแล้ว เช่น คนไข้กลุ่มที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ที่จำเป็นต้องได้รับการกดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่อยู่ดงเชื้อที่มีการแพร่ระบาดหนัก โดยเฉพาะที่ลอสแอนเจลิสที่พบเป็นสายพันธุ์เดลตา

ซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิลดทุก 40 วัน

วันเดียวกัน นายอนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยา-ศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงผลการทดลอง ระหว่างคณะแพทย์ธรรม-ศาสตร์กับทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. ใช้ตัวอย่าง 500 ตัวอย่างจากผู้ที่ได้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ระบุว่าพบประเด็นสำคัญคือ ระดับของภูมิคุ้มกันหลังจากได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม จะมีค่าลดลงร้อยละ 50 หรือครึ่งหนึ่งทุกๆ 40 วัน ระดับของภูมิคุ้มกันในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มนานกว่า 60 วัน จะมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มไม่เกิน 60 วัน และระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ยใน 60 วันแรก หลังฉีดวัคซีนครบสองเข็ม เทียบเคียงได้รับประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมแบบมีอาการประมาณร้อยละ 60-70 แต่ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบสองเข็มเกิน 60 วัน พบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมแบบมีอาการลดลงเหลือเพียงร้อยละ 50 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลให้เปรียบเทียบประสิทธิภาพของการได้รับวัคซีนซิโนแวคครบสองเข็ม ในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์กลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาและอัลฟา นอกจากนี้ ยังพบว่าระดับของภูมิคุ้มกันโดยรวมมีแนวโน้มลดลงตามช่วงอายุ โดยกลุ่มที่อายุ 40 ปีขึ้นไป มีระดับภูมิคุ้มกันเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มที่อายุน้อยกว่า 40 ปี

นายกฯรับมอบวัคซีนจากญี่ปุ่น

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงเช้าวันเดียวกัน ที่ห้องสีฟ้า ตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานรับมอบวัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 จากรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวน 1,053,090 โดส ผ่านระบบวิดีโอคอนฟอเรนซ์ มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เป็นผู้แทนรัฐบาลไทย และนายนาชิดะ คาซูยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเป็นผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่น โดยนายกฯกล่าวขอบคุณไมตรีจิตและความห่วงใยของรัฐบาลญี่ปุ่น รัฐบาลไทยรู้สึกซาบซึ้งใจอย่างยิ่งถึงความปรารถนาดีที่ญี่ปุ่นมีให้ตลอดมาและยืนยันไทยพร้อมก้าวผ่านอุปสรรคและวิกฤติครั้งนี้ไปพร้อมกับญี่ปุ่นโดยไม่มีวันทอดทิ้งกัน ด้านนายนาชิดะ ได้มอบสารจากนายซูกะ โยชิฮิเดะ นายกฯญี่ปุ่นถึง พล.อ.ประยุทธ์ โดยกล่าวนับถือรัฐบาลไทยจัดการมาตรการโควิดครั้งนี้ หวังว่าการมอบวัคซีนครั้งนี้จะมีส่วนช่วยให้มาตรการฉีดวัคซีนไทยราบรื่นยิ่งขึ้น และหวังว่ามิตรภาพที่มีจะช่วยให้ผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน กลับมาสู่การเดินทางไปมาหาสู่กันด้วยรอยยิ้มเร็วที่สุด

“วิษณุ” แจงถ้าเสนอข่าวจริงไม่ผิด

ส่วนกรณีมีการกล่าวถึงข้อกำหนดฉบับที่ 27 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.2564 เป็นต้นไป ที่ระบุการเผยแพร่ข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวแม้เป็นความจริงก็มีความผิด และระวางโทษมีทั้งจำทั้งปรับนั้น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าถ้าเสนอข่าวข้อเท็จจริง ไม่ถือว่ามีความผิด ส่วนการกำหนดเช่นนี้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพการนำเสนอข่าวสารหรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ข้อความดังกล่าวลอกมาจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถ้าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ก็ขัดรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ตอนออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแล้ว ทั้งนี้ ผู้เกี่ยวข้องทำการประเมินทุกวัน ดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้เสียชีวิต จำนวนการฉีดวัคซีนว่ามีมากน้อยอย่างไร

ทหารไทยไปสหรัฐฯฉีดวัคซีนแล้ว

ขณะเดียวกัน กองทัพบกยังออกมาชี้แจงกรณีมีการเผยแพร่ภาพในโลกออนไลน์ที่ระบุกลุ่มทหารไทยบินไปสหรัฐอเมริกากับสายการบินโคเรียนแอร์ 109 คน ซื้อตั๋วแพงสุดคาดว่าไปฉีดวัคซีนด้วยเงินภาษีประชาชน โดย พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก กล่าวว่า การเดินทางไปสหรัฐฯ ของกำลังพลกองร้อยส่งทางอากาศ ที่เดินทางไปร่วมการฝึกกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ (Strategic Airborne Operation) กับกองทัพบกสหรัฐฯณ Fort Bragge รัฐนอร์ทแคโรไลนา ระหว่างวันที่ 10-26 ก.ค.เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าร่วมกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ภายใต้การฝึกร่วมผสมครอบร้าโกลด์ในปี 2565 มีการกักตัวก่อนไปฝึกในค่ายทหาร กำลังพลทุกนายผ่านการ SWAB test ได้ผลเป็นลบ และฉีดวัคซีนที่ไทยเรียบร้อยแล้ว ที่มีการอ้างว่าทหารที่ไปครั้งนี้ได้ฉีดวัคซีนไฟเซอร์นั้น จากการตรวจสอบพบว่าเป็นภาพปลอม ยืนยันกำลังพลที่ไปฝึกได้รับการฉีดวัคซีนจากเมืองไทย 2 ชนิด คือแอสตราเซเนกา และซิโนแวค และงบการฝึกร่วมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ

พลทหาร ทอ.ติดโควิด 290 นาย

พล.อ.ท.ฐานัตถ์ จันทร์อำไพ โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวว่า จากการตรวจคัดกรองเชิงรุก ทหารกองประจำการ ณ ที่ตั้งดอนเมือง ระหว่างวันที่ 9-11 ก.ค.ที่ผ่านมา ผลการตรวจจำนวน 718 คน พบติดเชื้อโควิด 290 คน ส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการไม่รุนแรง (กลุ่มอาการสีเขียว) ทั้งหมดได้รับการดูแลอย่างดี และรับการรักษาตามขั้นตอนที่ทางสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งหมดแยกเข้ารับการรักษา ในอาคารกองพันของหน่วย จำนวน 199 คน ในโรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ (ดอนเมือง) 52 คน โรงพยาบาลสนามกองทัพอากาศ (โรงเรียนการบิน) 39 คน

“โหน–พระมหาสมปอง” ป่วย

วันเดียวกันยังมีคนดังประกาศติดโควิด-19 เพิ่มอีก 2 ราย รายแรกคือ “โหน-ธนากร ศรีบรรจง” พระเอกช่อง 7 ที่โพสต์ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวว่า ติดเชื้อโควิด-19 แม้ได้รับวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็มไปแล้ว คาดว่าจะติดจากหลานที่ติดโควิดแล้วจามใส่หน้า พร้อมแจ้งไทม์ไลน์ช่วงวันที่ 29 มิ.ย.-10 ก.ค. วันที่ 29 มิ.ย.อยู่บ้าน/30 มิ.ย.ถ่ายละคร/1 ก.ค.อยู่บ้าน/2 ก.ค.ถ่ายรายการที่ช่อง 7/3-4 ก.ค.อยู่บ้าน/5 ก.ค.เดินทางไปฉีดวัคซีนเข็ม 2 (ดินแดง)/6-7 ก.ค.อยู่บ้าน/8 ก.ค.อยู่บ้าน (คาดว่าได้รับเชื้อวันนี้จากหลานเพราะจามใส่หน้า)/9 ก.ค.อยู่บ้าน (หลานเป็นไข้ไปตรวจและพบเชื้อ)/10 ก.ค.ไปตรวจหาเชื้อ (กักตัว)/11 ก.ค.กักตัวอยู่บ้าน มีอาการคันคอคัดจมูก (ทราบผลว่าพบเชื้อ)/12 ก.ค.รักษาตัวอยู่บ้าน มีไข้อ่อนๆ คัดจมูก ส่วนรายต่อมาคือพระนักเทศน์ชื่อดัง พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ที่ผู้เปิดเผยข่าวนี้คือหนุ่ม กรรชัย พิธีกรชื่อดังที่ออกมาระบุว่า ผลตรวจหาเชื้อโควิด-19 ของพระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต ผลออกมาเป็นบวก⁣ และยังยืนยันด้วยว่า พระมหาสมปองได้รับวัคซีนซิโนแวคครบทั้ง 2 เข็ม นอกจากนี้ มีรายงานว่าตำรวจสันติบาล ประจำทางเข้า-ออก สะพานอรทัย ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 1 นาย แม้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 2 เข็มเช่นกัน และยังมีแม่บ้านประจำตึกสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีติดเชื้ออีก 1 คนด้วย

ด่านวันแรกตรวจคนเฉียดพัน

ส่วนผลการตั้งด่านตามข้อกำหนดฉบับที่ 27 ในพื้นที่ กทม.วันเดียวกัน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น./โฆษก บช.น.เปิดเผยมาตรการตั้งจุดตรวจจุดสกัดตามมาตรการล็อกดาวน์ของรัฐบาล ว่า ภาพรวมการตั้งด่านรอบ กทม.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมการป้องกันตั้งแต่เวลา 24.00 น.ของวันที่ 11-12 ก.ค.ตรวจสอบยานพาหนะหรือรถต่างๆแล้ว 684 คัน ตรวจสอบบุคคล 949 ราย ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการสร้างการรับรู้ข้อกฎหมายและแนวทางการขออนุญาตว่า มีการเตรียมเอกสารอย่างไร ขอเตือนให้บุคคลได้รับการยกเว้นทั้ง 6 ประเภท เตรียมเอกสารประจำตัว โดยเฉพาะบุคคลประเภทที่ 6 ต้องขอหนังสืออนุญาตเดินทางโดยนำหลักฐานขออนุญาตมาด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม ในคืนวันที่ 12 ก.ค.จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด อีกทั้ง 88 ด่านได้นำเทคโนโลยีกล้องวงจรปิด ผบ.ตร.สั่งการมาใช้ในการตรวจสอบ ทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

เข้มเคอร์ฟิว–รถไฟร้างคน

สำหรับบรรยากาศวันแรกของมาตรการเคอร์ฟิว 14 วัน เมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่มีการตั้งด่านตรวจคัดกรองผู้เดินทางมาจาก 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้มในจำนวนนี้มี 4 จังหวัดชายแดนใต้ คือยะลา นราธิวาส ปัตตานี และสงขลา ปรากฏว่า ตามด่านตรวจทุกแห่งต่างมีเจ้าหน้าที่ 3 ฝ่ายเข้าปฏิบัติหน้าที่ตรวจเอกสารการอนุญาตเดินทางของผู้จะเดินทางเข้าออกพื้นที่อย่างเข้มงวด ส่วนที่สถานีรถไฟชุมทางหาดใหญ่ จ.สงขลา กลับมีแต่ความเงียบเหงา เนื่องจากไม่มีขบวนรถไฟขึ้นลองเส้นทางกรุงเทพฯ-หาดใหญ่-3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากที่ก่อนหน้านี้ยังมีขบวนรถกรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลกและสุไหงโก-ลก-กรุงเทพฯ ที่เปิดเดินรถอีก 2 ขบวน แต่ตั้งแต่วันที่ 12-31 ก.ค.นี้ เปิดเดินรถแค่สถานีรถไฟทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เท่านั้น แต่ขบวนรถไฟท้องถิ่นสายใต้ตั้งแต่ชุมพรจนถึงสุไหงโก-ลก ยังให้บริการตามปกติ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ยังพบผู้ติดเชื้อพุ่ง โดย สนง.สาธารณสุข จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้ออีก 201 คน จ.ปัตตานี ติดเชื้อเพิ่ม 215 คน และ จ.สงขลา ติดเชื้อเพิ่ม 188 คน

นทท.ติดโควิดไม่กระทบภูเก็ต

ด้านนายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยว แห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวถึงโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ในช่วง 11 วันแรก (1-11 ก.ค.2564) ว่ามีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามารวม 4,568 คน ไม่พบผู้ติดเชื้อ 4,561 คน รอผลตรวจ 1 คน พบผู้ติดเชื้อ 6 คน แบ่งเป็นพบตอนการตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ที่สนามบินทันทีที่เดินทางมาถึง 1 คน และครั้งที่ 2 ที่ศูนย์ตรวจสวอบ 5 คน ขณะนี้ยังไม่กระทบภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ที่กำหนดหลักเกณฑ์ไว้แต่แรกว่าจะทบทวนเมื่อมีผู้ติดเชื้อ 90 คนต่อสัปดาห์ ขณะที่ นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวนักท่องเที่ยวที่เข้ามาที่พบเป็นการติดเชื้อไม่มีอาการ มีเพียงสัญชาติเมียนมาเพียงคนเดียวที่มีอาการ ส่วนนักท่องเที่ยวรวม 6 คน ที่ตรวจพบเชื้อประกอบด้วยสัญชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 คน เมียนมา 3 คน สวิตเซอร์แลนด์ 1 คน แอฟริกาใต้ 1 คน ทุกคนฉีดวัคซีนมาครบทั้งไฟเซอร์ โมเดอร์นา ซิโนฟาร์ม โดยครอบครัวชาวเมียนมา เดินทางมา 7 คน จากเมียนมาไปสิงคโปร์เพื่อต่อเครื่องเข้าไทย เพื่อจะพาลูกมาเรียนในไทย รวม 2 ครอบครัว ซึ่งผู้ติดเชื้อ 3 คน ประกอบด้วยมารดาและลูกอายุ 8 ขวบ และ 12 ปี ส่วนกลุ่มที่เดินทางมาด้วยกันได้ย้ายไปพักโรงแรม ALQ ขณะนี้ยังไม่พบคลัสเตอร์ที่เกิดจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ ถือว่าระบบที่วางมารัดกุมเป็นอย่างดี

อีสานยอดติดเชื้อทุบสถิติ

ขณะที่หลายจังหวัดภาคอีสานยังพบผู้ติดเชื้อแบบพุ่งพรวดทุบสถิติรายวันทำให้ทุกจังหวัดต้องเร่งตั้ง รพ.สนามและจุดพักคอยอย่างเร่งด่วน โดยที่ จ.อุดรธานี ติดเชื้อ 191 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 ศพ เป็นรายที่ 14 ของจังหวัด ผู้ตายเป็นปฏิมากรหญิงชาวปทุมธานี วัย 47 ปี ที่มาปฏิบัติธรรมในสำนักสงฆ์แห่งหนึ่งใน อ.บ้านผือ เช่นเดียวกับอุบลราชธานี ยอดติดเชื้อรายใหม่ 82 คน ส่วนใหญ่มาจาก กทม.และนอกพื้นที่ ขณะที่ จ.บุรีรัมย์ ทุบสถิติใหม่พบติดเชื้อเพิ่ม 89 คน กระจายใน 19 อำเภอ ส่วนใหญ่เดินทางมาจากจังหวัดพื้นที่เสี่ยงเช่นกัน จ.ร้อยเอ็ดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 72 คน เสียชีวิต 1 ศพ เป็นรายที่ 10 ของจังหวัด ด้าน จ.สกลนคร พบผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นอีก 49 คน นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผวจ.สกลนคร ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสอบสวนโรคโดยละเอียดใน 3 คลัสเตอร์ ที่พบใหม่ คือ ที่ อบจ.สกลนคร ที่มีผู้ติดเชื้อ 5 คน สนามกีฬา มหาวิทยาลับราชภัฏสกลนคร และที่แคมป์คนงานแห่งหนึ่งใน อ.สว่างแดนดิน ซึ่งจะต้องมีการดำเนินคดีเพราะฝ่าฝืนคำสั่ง โดยเฉพาะมีสถานที่แห่งหนึ่ง รู้ว่าติดโควิดแล้วยังไปตั้งวงดื่มสุรา ด้าน จ.นครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ถึง 125 คน จำนวนนี้เป็นผู้มาจากพื้นที่เสี่ยง 63 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 ศพ เป็นหญิงวัย 70 ปี ชาว ต.ตะเคียน อ.ด่านขุนทด

ส่อเจอเชื้อเบตามากกว่า 1

ส่วนที่ จ.บึงกาฬ สาธารณสุขจังหวัดยืนยันผลตรวจผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายที่ 47 ของจังหวัด มีประวัติเดินทางกลับจากไต้หวัน ติดเชื้อสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) และผู้ป่วยโควิด-19 ที่เชื่อมโยงกับรายนี้อีกจำนวน 4 ราย จะเป็นสายพันธุ์เบตา ด้วยเช่นกัน ซึ่งถือเป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เบตารายแรกของเขตสุขภาพที่ 8 ในภาคอีสานตอนบน ขณะนี้ไม่มีผู้ป่วยรายใดที่อาการหนัก และมีแนวโน้มอาการที่ดีขึ้นตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีการกักตัวสัมผัสผู้เสี่ยงสูง เป็นนักเรียนชั้น ป.1 โรงเรียนนาเจริญ ต.คำนาดี อ.เมืองบึงกาฬ 6 คน ต้องมีการกักตัวต่ออีก 7 วันจนครบกำหนด 21 วัน

ผู้ว่าฯปูให้กำลังใจหลังเสียบุคลากร

ต่อมาช่วงบ่ายวันที่ 12 ก.ค. นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผวจ.สมุทรสาคร เปิดเผยถึงกรณี นายพิเชษฐ์ สหกิจ หรือหมอหนึ่ง เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสวนหลวง อ.กระทุ่มแบน เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม และจัดพิธีฌาปนกิจศพเรียบร้อยแล้วที่วัดอ่างทอง ต.บางยาง อ.กระทุ่มแบน เมื่อเย็นวันที่ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า สาเหตุที่หมอหนึ่งเสียชีวิตเกิดจากติดเชื้อมาจากการปฏิบัติงาน ยอมรับกระทบต่อขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ด่านหน้าบ้าง แต่ทุกคนต้องเข้าใจ เพราะว่าไม่ใช่เรื่อง เกี่ยวว่ามีผลหรือไม่มีผลเรื่องวัคซีน แต่เราต้องเพิ่มความระมัดระวัง พูดได้ว่าเราเป็นด่านหน้าต้องคลุกคลีกับคนที่ติดเชื้อมากกว่าคนอื่นอยู่แล้ว อยากให้ทุกคนได้เข้าใจกันด้วย นอกจากนี้ ขอเป็นกำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกคนเพราะตนทราบดีว่าทุกคนเสียสละและทุ่มเทอย่างมาก นอกจากนี้ ทราบข่าวว่า สธ.ให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ถือเป็นขวัญกำลังใจอย่างหนึ่งให้บุคลากรด่านหน้าอย่างมาก

สสจ.ระบุ “หมอหนึ่ง” ไม่ได้ฉีดวัคซีน

จากนั้น นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ออกมาเปิดเผยถึงกรณีเรื่องนี้ว่า ผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวเป็นภูมิแพ้และหอบหืด เคยมีประวัติแพ้ยา ทำให้ไม่ได้ฉีดวัคซีน ส่วนสาเหตุของการเสียชีวิตมาจากความรุนแรงของตัวเชื้อและจากร่างกายที่ทำงานหนักจนบางช่วงอาจจะไม่พร้อมต่อการปฏิบัติหน้าที่ จึงทำให้มีอาการเจ็บป่วยรุนแรงขึ้นมาได้ เรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในกรณีที่บางทีเราอาจจะไม่ได้พักจากการทำงานหรือเป็นกรณีอื่นๆ อาจจะมีเรื่องของภูมิคุ้มกันตัวเองด้วย ทำให้ความก้าวหน้าของโรครุนแรงขึ้นเป็นปอดอักเสบ แล้วทำให้การหายใจล้มเหลวได้ ส่วนการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิต กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงท่านผู้ว่าฯ ตลอดจนหน่วยงานต้นสังกัดทุกระดับ ได้ดำเนินการประสานงานด้านสวัสดิการที่จะช่วยเหลือทั้งครอบครัว ทั้งการจ่ายเงินค่าทำศพ การช่วยเหลือจากสำนักนายกฯ กระทรวงมหาดไทย ส่วนของกระทรวงสาธารณสุขมีเงินจากสมาคมสถาบันสภาวิชาชีพ เนื่องจากผู้ตายเป็นพยาบาลวิชาชีพ อีกทั้งยังจะมีเงินจากกระทรวงสาธารณสุขเป็นสวัสดิการอีกส่วนหนึ่ง

เผาศพโควิดรัวๆทำเมรุไฟลุก

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เกิดเหตุพบไฟกำลังลุกไหม้หลังคาเมรุ ด้านข้างวัดแคนอก ต.บางกระสอ อ.เมืองนนทบุรี เจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาช่วยใช้น้ำฉีดประมาณ 15 นาที สามารถดับไฟได้ ทั้งนี้ พระมหาสุรศักดิ์ สุรสกฺโก ผช.เจ้าอาวาส กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมามีศพผู้ป่วยโควิด 2 ราย เข้ามาให้ทางวัดฌาปนกิจ ทางวัดดำเนินการพร้อมกัน ปรากฏว่าได้เกิดไฟไหม้บนหลังคาเมรุ ตรงเตาเผาพอดี คาดว่าเกิดจากมีการเผาศพผู้เสียชีวิตจากโควิด จนเตาเผาไม่ได้หยุดพัก ทำให้ความร้อนสะสมจนเกิดไฟไหม้ เนื่องจากหลังคาเมรุเก่าแก่ที่สร้างมาหลายสิบปีแล้ว โครงสร้างหลังคาทำจากไม้ เพราะตั้งแต่มีการระบาดโควิดหนักเดือน มิ.ย. จนถึงวันนี้ ทางวัดรับฌาปนกิจศพทั้งหมด 44 ราย ไม่ได้มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายใดๆจากญาติผู้เสียชีวิตแม้แต่บาทเดียว ศพหนึ่งจะใช้น้ำมันในการเผาประมาณ 3 พันบาท จะมีญาติโยมและชาวบ้านละแวกวัดช่วยกันร่วมทำบุญ และวัดประกาศหยุดรับฌาปนกิจทุกกรณี เพื่อปรับปรุงซ่อมแซมเมรุให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติก่อน

กรุงเทพฯไร้รถร้างคน

ส่วนบรรยากาศของ กทม. ในวันแรกของการบังคับใช้ข้อกำหนดออกตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 27 ที่ให้ภาคราชการและเอกชนทำงานแบบเวิร์กฟรอมโฮมเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ งดเดินทางข้ามจังหวัด ห้ามออกจากเคหสถานในเวลาสามทุ่มถึงตีสี่ ห้างร้านเปิดขายของได้ถึงแค่เวลา 20.00 น. เป็นต้นไป เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ให้เกิดผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อนหรือคลัสเตอร์ใหม่ ผู้สื่อข่าวตระเวนดูบรรยากาศตามแหล่งช็อปปิ้งดังใจกลางเมืองอย่างสยามสแควร์ และใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม เซ็นเตอร์พอยต์ สกายวอล์ก และบริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ที่ปกติจะคึกคักไปด้วยผู้คน แต่ตลอดวันที่ 12 ก.ค. กลับเหมือนเมืองร้าง มีแต่ร้านค้าที่เปิดขายของอยู่ไม่มาก แต่แทบจะไม่มีคนออกมาเดินจับจ่ายซื้อของ โดยนานๆ ครั้งจะมีคนที่ออกมาใช้บริการรถสาธารณะ แต่ก็สวมหน้ากากอนามัยแต่ป้องกันตัวเองและรักษาระยะห่าง ตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

ติดเชื้อ-ป่วยตายต่อเนื่อง

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ใน จ.นนทบุรี เป็น 1 ใน 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มพุ่งพรวดถึง 515 คน จำนวนนี้อยู่ใน อ.บางบัวทอง ถึง 356 คน ที่ส่วนใหญ่มาจากการคัดกรองเชิงรุก เช่นเดียวกับ จ.ปทุมธานี ยังพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 397 คน จำนวนนี้เป็นการตรวจเชิงรุกภายในตลาดไทถึง 193 คน ทำให้ทางจังหวัดเร่งตั้ง รพ.สนาม โดยหนึ่งในนั้นคือที่อาคารนวัตกรรม หมู่ที่ 9 ต.คลองสาม อ.คลองหลวง ส่วน จ.สุพรรณบุรี รายงานพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีก 168 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยในเรือนจำ 113 คน จ.ชลบุรี ติดเชื้อใหม่อีก 399 คน ตายเพิ่ม 2 ศพ ขณะที่ จ.เพชรบุรี ยังไม่แผ่วมีผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 91 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ศพ เป็นหญิงไทย อายุ 82 ปี

รับมือติดเชื้อเพิ่ม 1-2 ล้านคน

สำหรับสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ยอดติดเชื้อรวมพุ่งเป็น 187,681,587 คน เสียชีวิตรวม 4,050,192 คน หลังติดเชื้อในวันเดียว 373,545 คน เสียชีวิตในวันเดียว 6,502 คน ด้านรัฐบาลเกาหลีใต้ ยกระดับมาตรการสกัดกั้นไวรัสในพื้นที่กรุงโซล หลังพบผู้ติดเชื้อมากกว่า 1,000 คนต่อวัน เป็นวันที่ 6 ติดต่อกัน ห้ามรวมตัวมากกว่า 3 คนหลังเวลา 18.00 น. ปิดสถานบันเทิง โบสถ์ ห้ามเข้าเยี่ยมผู้ป่วยในโรงพยาบาล พร้อมเผยตลอดเดือน ก.ค. มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 12,100 คน ส่วนที่อังกฤษ สาธารณสุขเผยอัตราการติดเชื้อเฉลี่ยตลอดสัปดาห์อยู่ที่ 31,116 คนต่อวัน ขณะที่รัฐบาลเตรียมชี้แจงมาตรการเปิดเมืองในวันที่ 19 ก.ค. ไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย ไม่ต้องรักษาระยะห่าง หลังฉีดวัคซีนสองโดสให้ประชากรแล้วกว่า 66 เปอร์เซ็นต์ แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้แต่ละกระทรวงเตรียมรับมือกับคลื่นผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่อาจสูงถึง 1-2 ล้านคน ในช่วงสัปดาห์เปิดเมือง