นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึง “การติดเชื้อในโรงเรียน/ศูนย์เด็กเล็กและการดูแลเด็กปฐมวัย” ว่า สถานการณ์การติดเชื้อในเด็ก 0-9 ปี ครูและบุคลากร นับตั้งแต่เปิดเรียนวันที่ 14 มิ.ย.-4 ก.ค.2564 พบผู้ป่วยรายใหม่ที่เพิ่ม 903 ราย แยกเป็นเด็กอายุ 0-19 ปี 884 ราย ครู 18 ราย และบุคลากรอื่นๆ 1 ราย ทั้งนี้ ในเด็กพบมากในช่วงอายุ 15-19 ปี 277 ราย 10-14 ปี 228 ราย 5-9 ปี 200 ราย และ 0-4 ปี 179 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่สีแดงเข้ม เป็นพื้นที่ที่ยังไม่เปิดเรียนในโรงเรียนหรือออนไซต์ แต่มีเด็กและบุคลากรติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนใหญ่ไม่ได้ติดที่โรงเรียนแต่ติดจากครอบครัว คนใกล้ชิด และชุมชนเป็นหลัก

นพ.สราวุฒิกล่าวว่า ผลกระทบการปิดโรงเรียนมีทั้งด้านการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม การเรียนรู้ของเด็กอาจจะถดถอย พัฒนาการสูงดี สมส่วน ลดลง โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบาง อยู่ห่างไกล ที่ต้องรับอาหารกลางวัน พบกลุ่มเด็กที่ปิดเทอมนาน ส่งผลต่อโภชนาการเด็กมีปัญหา อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการศึกษาช่วงเปิดภาคเรียนในเด็ก 209 คน ทั้งกลุ่มเด็กที่ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ พบกลุ่มเด็กติดเชื้อเทียบกับอัตราติดเชื้อในผู้ใหญ่มีเพียง 8-10% ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อ ในครอบครัว และชุมชนส่วนใหญ่ มีเพียงบางแห่งที่ติดในสถานศึกษา เช่นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในโรงเรียน จ.มหาสารคาม ภาคใต้ คลัสเตอร์ยะลาที่มีการรวมกลุ่ม และศูนย์เด็กเล็กที่ จ.เชียงใหม่และ จ.ขอนแก่น เมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมที่ทำให้เด็กติดเชื้อ พบเด็กมานั่งเรียน 10 กว่าวัน ในห้องหนึ่งมีประมาณ 40 กว่าคน แต่ติดเชื้อเพียง 4-5 คน อัตราติดเชื้อเพียง 0.2% เท่านั้น คนที่ติดคือนั่งใกล้ชิดกับเพื่อน

อีกทั้งพบเด็กเหล่านี้ออกจากโรงเรียนแล้วไปข้างนอก ซื้อของ ไปห้างที่มีคนจำนวนมากก็เป็นปัจจัยสำคัญให้ติดเชื้อไม่เฉพาะที่โรงเรียน ส่วนปัจจัยปกป้องที่ทำให้เด็กคนอื่นไม่ติดแม้จะอยู่ในห้องเดียวกันคือ พฤติกรรมการสวมหน้ากากอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น ปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดและป้องกันการติดเชื้อในโรงเรียนคือการสวมหน้ากาก ลดความแออัด เว้นระยะห่าง นอกจากนี้ สถานศึกษาต้องมีการประเมินตามมาตรการต่างๆอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด ทั้ง Thai Stop COVID plus รวมถึงการประเมินตนเอง ทั้งครู นักเรียนผู้ปกครองก็ต้องประเมินตนเองผ่าน Thai Save Thai ที่ผ่านมายังทำกันน้อย.

...