โรงพยาบาลบุษราคัม โรงพยาบาลที่จัดตั้งขึ้น ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งมีอาการระดับปานกลาง หรือผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง จากพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อช่วยผ่อนเบาภาระโรงพยาบาลหลักทั่วไปในเขตกรุงเทพมหานคร ให้สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนัก หรือผู้ป่วยระดับสีแดงเข้ารับการรักษาดูแลอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็หลีกทางให้กับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่แสดงอาการ หรือกลุ่มผู้ป่วยระดับสีเขียว จับจองเตียงในฮอสพิเทล และโรงพยาบาลสนามแห่งอื่น

“ทีมข่าวสาธารณสุข” ขอย้อนรอยที่มาของการจัดตั้ง รพ.บุษราคัม เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนและเกิดความเข้าใจในระบบการปฏิบัติงาน รพ.สนามแห่งนี้ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลระลอกสาม ช่วงเดือน เม.ย.2564 ซึ่งมีผู้ป่วยจำนวนมาก ประกอบกับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ของประเทศไทย คือ ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทุกคนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม หรือฮอสพิเทล ที่รัฐกำหนด จึงทำให้เตียงในโรงพยาบาลต่างๆทั้งรัฐและเอกชน ไม่เพียงพอ ซึ่งขณะนั้นผู้ติดเชื้อมีทั้งผู้ป่วยที่มีอาการมาก น้อย และไม่แสดงอาการ ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ต้องแบ่งระดับอาการผู้ป่วยออกเป็นกลุ่ม โดยกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ หรืออาการน้อย จัดเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ควรเข้ารักษาในโรงพยาบาลสนาม หรือฮอสพิเทล กลุ่มอาการหนักจัดเป็นกลุ่มสีแดง ต้องใช้ห้องไอซียู และเครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆควรได้รับการรักษาในเตียงของโรงพยาบาลทั่วไป ขณะที่ผู้ป่วยซึ่งมีอาการปานกลางหรือกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง เนื่องจากโรคโควิด-19 มีการเปลี่ยนแปลงอาการอย่างรวดเร็ว โดยอาจเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มาจากกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว หรือกลุ่มผู้ป่วยที่เคยอาการหนักระดับสีแดงมาก่อน และต่อมาอาการดีขึ้น แต่ยังต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ ก็ต้องมีสถานที่ที่เหมาะสมมารองรับ เพื่อผ่อนภาระเตียงผู้ป่วยอาการหนักจากโรงพยาบาลต่างๆ นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดตั้ง รพ.บุษราคัม ที่อาคารชาเลนเจอร์ อิมแพ็คเมืองทองธานี ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.2564 เป็นต้นมา
...

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า รพ.บุษราคัม เป็นการทำงานร่วมกันของทุกกรมในกระทรวงสาธารณสุข มีการระดมแพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านสาธารณสุขทุกสาขา มาร่วมกันดูแลผู้ป่วย และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมนำอุปกรณ์ เทคโนโลยี สิ่งของ อาหาร เครื่อง อุปโภคบริโภคมาสนับสนุน และล่าสุดได้รับมอบหุ่นยนต์ให้บริการทางการแพทย์ จากสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม โดยตั้งแต่เปิดรับผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ถึง 15 มิ.ย.2564 มีผู้ป่วยเข้ารับการักษา 2,454 คน รักษาหายกลับบ้านได้ 1,425 คน ยังอยู่ในระหว่างการรักษาตัว 914 คน ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองอ่อน 611 คน และกลุ่มสีเหลือง 303 คน ส่วนผู้ป่วยอาการหนักหรือมีอาการปอดอักเสบที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และส่งต่อรักษาในโรงพยาบาลหลัก 115 คน
“...รพ.บุษราคัม ทำให้เราได้เห็นถึงศักยภาพของระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทย ซึ่งเราระดมแพทย์ พยาบาล และบุคลากรจากทุกสาขาจากโรงพยาบาลทั่วประเทศ มาดูแลผู้ป่วย โดยผลัดเวรกันกลุ่มละ 10-15 วัน ทุกคนทำงานด้วยความทุ่มเทด้วยใจ ผมขอชื่นชมจากใจจริง เป็นสิ่งที่ยืนยันว่าระบบสาธารณสุขของไทยไม่แพ้ใครในโลก เราอยากให้โรงพยาบาลบุษราคัมเป็นตัวปิดเกมของโรคโควิด-19 ซึ่งตอนนี้ตัวเลขผู้ป่วยก็ค่อนข้างคงตัว เชื่อว่าอีกไม่กี่เดือน รพ.บุษราคัมก็น่าจะปิดตัวลงได้ และทุกคนก็จะเก็บความทรงจำที่ดีไว้” นายอนุทิน กล่าวย้ำในตอนหนึ่ง

ขณะที่ นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะ ผอ.รพ.บุษราคัม เล่าถึงการดำเนินงานของ รพ.บุษราคัมว่า เราจะรับผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองได้ โดยให้บริการ 2 เฟส เฟสแรก เปิดรับผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. รับได้ 1,083 เตียง เฟสสอง เปิดรับผู้ป่วยวันที่ 28 พ.ค. รับได้ 1,078 เตียง แบ่งผู้ป่วยเป็นโซน เช่น โซนผู้ป่วยที่ต้องการออกซิเจน ซึ่งที่เตียงจะมีออกซิเจนและเป็นพื้นที่ที่รถพยาบาลจะเข้าถึงได้โดยสะดวก หากอาการเปลี่ยน แปลงต้องนำตัวส่งต่อโรงพยาบาล โซนผู้ป่วยชาย โซนผู้ป่วยหญิงและผู้สูงอายุ นอกจากนี้ยังมีโซนพักผ่อนและออกกำลังกาย สำหรับการดูแลนั้น แพทย์และพยาบาลใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการรักษาพยาบาล เพื่อความปลอดภัย โดยผู้ป่วยและทีมแพทย์สื่อสารกันผ่านโทรศัพท์ ไลน์ โทรศัพท์ภายใน ระบบเสียงตามสาย ซึ่งทีมแพทย์จะมีห้องศูนย์บัญชาการของโรงพยาบาล มีกล้องวงจรปิดดูแลผู้ป่วยทุกโซนอย่างใกล้ชิด ขณะที่ผู้ป่วยเองก็ต้องวัดไข้ ความดัน และรายงานให้ทีมแพทย์ทราบทุกวันตามเวลาที่กำหนด

...
“บทเรียนที่ รพ.บุษราคัมจะส่งต่อให้กับระบบการแพทย์ไทยต่อไปก็คือ โครงสร้างของ รพ.บุษราคัมเกิดขึ้นในภาวะที่ไม่ปกติ เป็นการรวมศูนย์ สถานที่กว้างขวาง บุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือทางการแพทย์ พร้อมทุกด้าน หัวใจสำคัญของที่นี่คือทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นแพทย์ พยาบาล เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์สาขาต่างๆ จากโรงพยาบาลทั่วประเทศ คนเหล่านี้ไม่รู้จักกันมาก่อน แม้จะอยู่กระทรวงเดียวกัน แต่เรามีเป้าหมายร่วมกันคือ ดูแลผู้ป่วยโควิด เป็นโอกาสที่ได้เรียนรู้งานและคนไปด้วยกัน หลังจากนี้จะมีการถอดบทเรียนการทำงานของโรงพยาบาลบุษราคัม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เรียนรู้ร่วมกัน และเพื่อรับมือกับโรคระบาดอื่นที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต” ผอ.รพ.บุษราคัม กล่าว

“ทีมข่าวสาธารณสุข” ขอส่งกำลังใจให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกคนที่ร่วมผนึกพลังกันดูแลคนป่วยใน รพ.บุษราคัม รพ.สนาม ฮอสพิเทล และทุกโรงพยาบาลทั่วประเทศ
และเรามองว่าบทเรียนจาก รพ.บุษราคัม น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เราได้เตรียมพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต ทั้งมีแผนรับมือที่ปรับให้เข้ากับพื้นที่และสถานการณ์ต่างๆ
...
สำคัญสุดคือ เพื่อให้ผ่านวิกฤตการณ์มหันตภัยไวรัสร้ายโควิด-19 ทั้งสามารถเปิดประเทศและสังคมไทยกลับมาใช้ชีวิตปกติแบบวิถีใหม่กันได้เสียที.
ทีมข่าวสาธารณสุข