ไทยติดเชื้อโควิด-19 พุ่งเกินยั้ง กว่า 3 พันคน ต่อเนื่อง 5 วันติด ผู้ป่วยตายเพิ่มยังยืนที่เลขสองหลักหลังปูพรมฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้สองสัปดาห์ ตามด้วยเปิดเทอม แต่หลายพื้นที่กลับมาประกาศปิด/ปรับการเรียนการสอนกันวุ่นเมื่อพบผู้ติดเชื้อโผล่ เจอทั้งเชื้อกลายพันธุ์สาย “เบตา-เดลตา” กระจายว่อน ส่วนการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ต้องรอคณะกรรมการวิชาการ สธ.สรุปก่อน แต่ยังพอมีข่าวดี หลังทดลองพบรากกัญชาอาจช่วยฟื้นฟูปอดผู้ป่วยโควิด-19 ได้ ตามด้วยญี่ปุ่นใจดีจะบริจาควัคซีนแอสตราฯให้ไทย แต่ยังไม่ระบุจำนวน ขณะที่อังกฤษมีหนาว เลื่อนคลายล็อกดาวน์ไป 19 ก.ค.หลังเจอเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา ยึดพื้นที่ เช่นเดียวกับจีน ที่เจอผู้ติดเชื้อตัวนี้แล้ว

ไทยยังเดินหน้าจัดฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในสัปดาห์นี้ต่อเนื่อง โดยนอกจากวัคซีนแอนตราเซเนกาซิโนแวค ที่จัดหาโดยรัฐบาลแล้ว ยังมีวัคซีนทางเลือก “ซิโนฟาร์ม” ที่นำเข้าโดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 1 ล้านโดส พร้อมฉีดให้ผู้จองผ่านองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศในวันที่ 25 มิ.ย.นี้ แต่ยังไม่ระบุว่าองค์กรใดจะได้บ้าง

...

3 กลุ่มได้วัคซีนร้อยเปอร์เซ็นต์

ต่อมาวันที่ 21 มิ.ย. ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทยถึงแนวทางการจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มว่า หลักการคือการจัดสรรเป็นกลุ่มให้ได้ปริมาณเพียงพอ โดยกลุ่มการศึกษา กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ยังตกหล่น เช่น คลินิกเอกชนและกลุ่มองค์กรการกุศลที่ดูแลกลุ่มคนด้อยโอกาส เป็น 3 กลุ่มแรกที่ให้ความสำคัญลำดับต้นๆ และขอมาไม่มากได้พิจารณาจัดสรรให้ไป 100 เปอร์เซ็นต์ตามที่ขอ ส่วนกลุ่มธุรกิจบริโภค กลุ่มภาคอุตสาหกรรมการผลิต อิเล็กทรอนิกส์ไอที รวมถึงกลุ่มย่อยอื่นๆ ให้ความสำคัญเช่นกันแต่ช่วงแรกอาจจะยังจัดสรรให้ได้ไม่มาก หลักการจัดสรรเพื่อให้เกิดความมั่นคงทางสังคมเศรษฐกิจ และเกิดภูมิคุ้มกันในกลุ่มงานกิจกรรมต่างๆ

สภาอุตสาหกรรมฯได้ตามที่จอง

ศ.นพ.นิธิกล่าวถึงกรณีสภาอุตสาหกรรมฯคืนเงินจองให้สมาชิกเพื่อให้ไปจองเองกับราชวิทยาลัยฯ จนเกิดการวิพากษ์วิจารณ์โดนเทนั้น ต้องเข้าใจตอนแรก ใครมีศักยภาพก็พยายามระดมความช่วยเหลือในจุดต่างๆก็ทำไปก่อน ทางราชวิทยาลัยฯยังไม่ได้กำหนดกติกา สภาอุตสาหกรรมฯยังไม่ทราบว่าใครจะเป็นผู้ลงนามสัญญา เรื่องทั้งหมดอธิบายได้ ไม่โทษใคร ทุกอย่างแก้ไขได้ ซึ่งเงื่อนไขการลงนามสัญญาจัดซื้อมีข้อตกลงต้องเป็นผู้มีอำนาจในบริษัทองค์กรนิติบุคคลนั้นๆ ไม่ใช่สภาอุตสาหกรรมฯ ซึ่งไม่สามารถรับผิดชอบแทนกันได้ ขณะนี้มีหลายบริษัทมาทำสัญญาแล้ว สภาอุตสาหกรรมฯจองมาประมาณ 3 แสนโดส น่าจะได้รับการจัดสรรทั้งหมด เมื่อวัคซีนมาเมื่อไหร่ ช้าหรือเร็วจะจัดให้ทั้งบริษัทที่จองมาเองโดยตรงหรือจองผ่านสภาอุตสาหกรรมฯจะจัดสรรให้ทั้งหมด

ลอตต่อไปมาแน่แต่ไม่รู้เมื่อใด

ศ.นพ.นิธิกล่าวด้วยว่า ยอดจองทั้งหมดกว่า 4.8 ล้านโดส ซึ่งปิดรับจองไปแล้วนั้น คาดว่าจะสามารถจัดสรรให้ได้ทั้งหมด น่าจะมีจำนวนหนึ่งที่ได้รับวัคซีนหลักของประเทศแล้ว อาจจะมีจำนวนลดลง อย่างไรก็ตาม ลอต 2-3 จะมาเมื่อไหร่ขอไปจุดธูปเทียนก่อน รู้มาเมื่อไหร่จะบอก บอกได้เพียงว่ามาแน่นอน ส่วนการฉีดวัคซีนจะทันครบเป้าหมายเปิดประเทศใน 120 วันตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศหรือไม่นั้น ตนมองโลกในแง่บวก จะเปิดจะปิด หรือเปิดครึ่งประตูไม่ทราบ แต่ส่วนตัวคิดว่ามีความเป็น ไปได้ ถ้าเราทั้งประเทศพร้อมใจช่วยกัน อย่าโจมตี ช่วยกันทุกแรงจะสำเร็จ

ญี่ปุ่นบริจาคแอสตราฯให้ไทย

ส่วนที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมผู้บริหาร สธ. ร่วมในงานรับมอบห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 จากนายนาชิดะ คาซึยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย เพื่อใช้ในการตรวจวิเคราะห์ วิจัยเชื้อโรคที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ไข้หวัดนก โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง รวมทั้งโรคโควิด-19 โดยนายอนุทินเปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอผ่านกระทรวงการต่างประเทศที่จะบริจาควัคซีนแอสตราเซเนกาให้กับประเทศไทย เพื่อแสดงถึงความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีการลงนามความร่วมมือวันที่ 24 มิ.ย.นี้ ส่วนจำนวนนั้นยังไม่เป็นที่เปิดเผย เมื่อได้มาแล้วจะนำไปฉีดเข็มแรกอย่างกว้างขวาง เพราะเป็นวัคซีนหลักที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ต้องเก็บเข็มสองไว้ และเราจะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกามาเติมทุกสัปดาห์อยู่แล้ว

เตรียมประชุม สสจ.รับเปิดประเทศ

ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีประกาศเปิดประเทศภายใน 120 วันนั้น นายอนุทินกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขพร้อมให้การสนับสนุนนโยบายของนายกรัฐมนตรี โดยจะมีการประชุมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ หารือแนวทางการเตรียมความพร้อมทั้งแพทย์ พยาบาล บุคลากร ยา เวชภัณฑ์ เตียง ต่างๆให้พร้อม เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายในภาพรวม ส่วนการพบสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ในพื้นที่ภาคใต้ขณะที่กำลังจะมีการเปิดประเทศนั้น หากเข้ามาทางช่องทางที่ถูกต้อง กระทรวงสาธารณสุขสามารถควบคุมได้ ไม่มีหลุดแน่นอน โดยทุกคนจะต้องกักตัวอย่างเข้มงวดอย่างน้อย 21-30 วัน แต่ในกรณีคนลักลอบเข้าประเทศ ต้องให้หน่วยงานด้านความมั่นคงช่วยดูแลชายแดนให้มากที่สุด

...

รอ คกก.วิชาการตัดสินฉีดเข็ม 3

นายอนุทินยังกล่าวถึงกรณีที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เสนอแนวทางการเฝ้าระวังเชื้อเดลตา (อินเดีย) โดยฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็ม 2 ให้เร็วขึ้น เพื่อสร้างภูมิต้านทาน ส่วนวัคซีนที่กระตุ้นภูมิต้านทานได้น้อยกว่าต้องกระตุ้นเข็ม 3 ว่า เรื่องนี้ต้องขึ้นกับการพิจารณาของคณะกรรมการวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเราพร้อมปฏิบัติตาม

ยันซิโนแวคมีประสิทธิภาพ

ขณะที่ นพ.โอภาสกล่าวถึงกรณีการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ว่า วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และคณะกรรมการอาหารและยาของไทย ยืนยันมีประสิทธิภาพป้องกันเชื้อ ลดความรุนแรงของโรคและลดการเสียชีวิตได้ แต่ความรู้เรื่องวัคซีนมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน เราต้องฟังข้อมูลหลายด้านประกอบกัน และจะนำเข้าสู่คณะกรรมการวิชาการพิจารณาก่อน จะไม่มีการปรับรายวัน การตอบสนองต่อวัคซีนจะต้องรอติดตามผลอีกระยะ ขณะนี้สิ่งที่ต้องเร่งทำคือ การฉีดวัคซีนให้ได้เร็วและมากที่สุด รวมทั้งต้องรอให้คณะกรรมการวิชาการ พิจารณาว่าการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ควรใช้วัคซีนชนิดเดียวกันกับเข็มที่ 1 และ 2 หรือไม่ ขณะนี้คงเร็วไปที่จะให้ความเห็น

...

น่าห่วงเชื้อเดลตากระจายเร็ว

ด้าน นพ.ศุภกิจกล่าวว่า ในส่วนของการตรวจหาสายพันธุ์โควิด-19 ของกรมวิทยาศาสตร์นั้น ขณะนี้สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในไทย ส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) รองลงมาคือสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ซึ่งพบในแคมป์คนงาน ส่วนสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) พบในจังหวัดนราธิวาสและพื้นที่ใกล้เคียง กรมวิทย์กำลังตรวจสอบให้ชัดเจนและจะเปิดเผยต่อสาธารณะให้ทราบ ไม่มีการปกปิดแน่นอน อย่างไรก็ตาม สายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) มีข้อน่ากังวลคือ ดื้อต่อวัคซีนพอสมควร แต่มีข้อดีคือแพร่กระจายได้ไม่เร็วเท่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) แต่ที่น่ากังวลในขณะนี้คือสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ซึ่งแพร่กระจายไปในหลายจังหวัดแล้ว

พบรากกัญชาอาจช่วยฟื้นฟูปอด

นอกจากนี้ นพ.ศุภกิจยังกล่าวในเวลาต่อมาถึงการศึกษานำสารสกัดจากรากกัญชามาใช้รักษาภาวะปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่าสารสกัดจากรากกัญชามีคุณสมบัติต้านการอักเสบของอวัยวะได้ระดับหนึ่ง จึงนำไปทดสอบกับเซลล์ปอด พบว่าปอดที่ติดเชื้อโควิด-19 เมื่อใช้รากกัญชาไปทดสอบ เซลล์ปอดสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งเป็นระดับการทดลองในหลอดทดลอง และจะต้องนำไปศึกษาวิจัยทดสอบในมนุษย์จริงๆ เพื่อดูว่าช่วยฟื้นฟูปอดได้รวดเร็วมากน้อยเพียงใดต่อไป

ติดเชื้อ 3 พันกว่าคนต่อเนื่อง

ส่วนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสาม (เมษายน 2564) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ประจำวันที่ทำเนียบรัฐบาลว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 3,175 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,990 คน มาจากเรือนจำ 140 คน และเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 45 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ลักลอบเข้าทางช่องทางธรรมชาติ โดยมาจากกัมพูชา 7 คน เมียนมา 1 คน ทำให้มียอดติดเชื้อสะสม 221,306 คน หายป่วยเพิ่มเติม 2,030 คน หายป่วยสะสม 185,789 คน อยู่ระหว่างรักษา 33,859 คน อาการหนัก 1,436 คน จำนวนนี้ใช้เครื่องช่วยหายใจ 395 คน และมีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่ม 29 คน เป็นชาย 13 คน หญิง 16 คน อายุน้อยสุด 30 ปี และอายุมากที่สุด 100 ปี อยู่ใน กทม. ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,658 คน

...

ฉีดวัคซีนแล้วกว่า 7.6 ล้านโดส

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวอีกว่า ส่วนข้อมูลการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. มีการฉีดไป 91,879 โดส ทำให้มียอดผู้ได้รับวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-20 มิ.ย. แล้ว 7,679,057 โดส ในส่วนของครูและบุคลากรทางการศึกษา มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 572,682 โดส ในส่วนนี้เป็นครูและบุคลากรทางการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ส่วนครูพิเศษที่สอนเฉพาะทางสามารถประสานเข้ามาขอฉีดวัคซีนได้

คลัสเตอร์ใหม่ผุดเพียบ

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 21 มิ.ย. ได้แก่ กทม. 624 คน สมุทรปราการ 544 คน นครปฐม 359 คน ชลบุรี 187 คน สมุทรสาคร 179 คน ปทุมธานี 165 คน นนทบุรี 117 คน ปัตตานี 84 คน ยะลา 74 คน สงขลา 61 คน โดยมีคลัสเตอร์ใหม่หลายพื้นที่ ประกอบด้วย จ.สมุทรปราการ ที่คอนโดมิเนียม ต.บางเมือง อ.เมือง 11 คน เขตอุตสาหกรรมบางปู อ.เมือง 38 คน บริษัทระบบน้ำการเกษตร อ.พระสมุทรเจดีย์ 20 คน จ.สมุทรสาคร ที่โรงงานสิ่งทอ อ.เมือง 6 คน จ.นนทบุรี ที่บริษัทก่อสร้าง อ.ปากเกร็ด 40 คน จ.สระบุรี ที่โรงเรียนตำรวจ อ.เมือง 16 คน จ.ระยอง ที่ฟาร์มเห็ด อ.แกลง 11 คน จ.ฉะเชิงเทรา ที่บริษัทเชื่อมโลหะ อ.แปลงยาว 8 คน ขณะที่ กทม. พบคลัสเตอร์ใหม่ที่โรงงานลูกชิ้น เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย บริเวณวงเวียน 22 มีผู้ติดเชื้อไป 26 คน

คลัสเตอร์ยะลาขยายวง

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กหารือถึงคลัสเตอร์โรงเรียนสอนศาสนาในศูนย์มัรกัสยะลา บ้านเปาะยานิ หมู่ 3 ต.สะเตงนอก อ.เมืองยะลา ที่ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อแล้วทั้งสิ้น 402 คน กระจายตัวไปใน 11 จังหวัด โดยพบผู้ติดเชื้อรายแรกเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. แต่จากการสอบสวนโรคน่าจะมีผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. ชุมชนดังกล่าวมีประชาชน 3-4 พันคน เป็นนักเรียน 500 คน มาจาก 17 จังหวัด ส่วนของการแพร่เชื้อ มีการรวมกลุ่มรับประทานอาหารร่วมกัน ใช้ถาดอาหารและแก้วน้ำร่วมกัน อีกทั้งยังมีการประกอบศาสนกิจโดยไม่ได้ใส่หน้ากาก มาตรการขณะนี้มีการปิดพื้นที่ สอบสวนโรค ค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิด ขอให้ประชาชนที่คิดว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงเข้ารายงานกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อตรวจหาเชื้อ อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคได้ติดตามสถานการณ์การติดเชื้อในภาคใต้ กำลังหาเชื้อกลายพันธุ์ สัปดาห์นี้จะได้ข้อสรุป ขณะที่ในเดือน ก.ค.จะมีวันตรุษอีดิ้ลอัฎฮา จะมีการรวมตัวจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง การเดินทางข้ามจังหวัด ทางจุฬาราชมนตรีได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้ประชาชนติดตามจากประกาศจังหวัด

ห่วงยอดไม่ลดทำบุคลากรล้า

พร้อมกันนี้ พญ.อภิสมัยกล่าวด้วยว่า อีกสิ่งสำคัญที่ประชุมอีโอซี สธ. และ ศบค.ชุดเล็ก เป็นห่วงมากคือการรองรับโดยระบบสาธารณสุขของบ้านเราในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาที่มีรายงานผู้ติดเชื้อจำนวนหลายพันคน ตอนนี้ที่เป็นห่วงที่สุดคือบุคลากรทางการแพทย์ที่โยกกันมาจากต่างจังหวัดเพื่อช่วยกันในหลายพื้นที่ ซึ่งต้องขอเรียนว่าบุคลากรอาจอ่อนล้า และถ้ายอดผู้ติดเชื้อไม่ลดลงระบบสาธารณสุขในตอนนี้ถือว่าตึงเครียดและบุคลากรเองยังมีความสำคัญที่เราจะต้องดูแลเขาด้วย

แจงข่าว นร.ติดเชื้อหลักพันไม่จริง

ต่อมา นางเกศทิพย์ ศุภวานิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะโฆษก ศธ.กล่าวถึงกระแสข่าวที่อ้างว่าเปิดเทอมมาได้เพียง 7 วันมีนักเรียนติดเชื้อมากถึง 2,000 คน ว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง กรณีที่ระบุว่ามีผู้ติดเชื้อ 2,000 คนนั้นเป็นเอกสารของกรมอนามัยที่ได้รายงานให้ที่ประชุมอีโอซีได้ทราบ โดยในเอกสารระบุข้อมูลตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 ถึงปัจจุบัน มีนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษารวมกันติดเชื้อไปแล้ว จำนวน 2,000 คน ไม่ใช่ว่าเปิดเทอมมา 7 วันแล้วมีเด็กนักเรียนติดเชื้อ 2,000 คนแต่อย่างใด และในช่วงเวลาดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อก่อนการเปิดเรียนด้วยซ้ำ

พันธุ์แอฟริกาใต้แพร่ยากในกรุง

ด้าน ศ.ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล ให้สัมภาษณ์กรณีตรวจพบสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) จากนักเรียนโรงเรียนสอนศาสนาใน จ.ยะลา ซึ่งเดินทางกลับมาภูมิลำเนาที่ จ.ภูเก็ต 3 คน ว่า ไม่แน่ใจว่ามีการส่งตรวจเชื้อมาที่ศูนย์จีโนมฯ หรือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แต่ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์จีโนมฯและกลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI) ถอดรหัสพันธุกรรมตัวอย่างส่งตรวจไวรัสก่อโควิด-19 ที่ส่งมาจากสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 สงขลาลอตล่าสุดส่งมาประมาณ 20-30 ตัวอย่าง สุ่มมาจำนวน 10 ตัวอย่าง พบว่าเป็นสายพันธุ์เบตาทั้งหมด แต่ยังไม่น่ากังวลใจเท่าไหร่ เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อนี้ช้ากว่าสายพันธุ์อัลฟา (อังกฤษ) และเดลตา (อินเดีย) มาก ความจริงเชื้อนี้เข้ามาในประเทศไทยนานแล้วแต่ไม่ได้แพร่กระจายมากอย่างที่คาดคิด ในกรุงเทพฯ เชื้อนี้คงเข้ามายากมาก เพราะมีการปูพรมไว้แล้วด้วยสายพันธุ์อัลฟาและเดลตา

หวั่นพันธุ์เดลตาจ่อมาแทน

ศ.ดร.วสันต์กล่าวด้วยว่า ข้อมูลล่าสุดจากการสุ่มตรวจเพื่อถอดรหัสพันธุกรรมสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศ ไทย พบว่าขณะนี้ร้อยละ 71 เป็นสายพันธุ์อัลฟาที่ยังครองพื้นที่อยู่ ร้อยละ 22 เป็นสายพันธุ์เดลตา และร้อยละ 3 เป็นสายพันธุ์เบตา อย่างไรก็ตาม วัคซีนที่เราใช้อยู่ขณะนี้ยังใช้ได้ผลกับ 2 สายพันธุ์ดังกล่าว การระบาดที่รวดเร็วโดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาจำเป็นต้องเร่งปูพรมฉีดวัคซีน จึงอยากให้ทุกคนเข้ารับวัคซีน ต้องดูแนวโน้มอีก 1 เดือน จะเห็นผลมากขึ้นว่าสายพันธุ์เดลตาจะครองพื้นที่หรือไม่ หากถอดรหัสพันธุกรรมไปแล้วเกินร้อยละ 50 ก็มีความแน่นอนว่าสายพันธุ์เดลตาจะครองพื้นที่แทนอัลฟา ส่วนการเปิดประเทศภายใน 120 วันนั้น พอถึงจุดนั้นถ้าตัวเลขผู้ติดเชื้อลดคงเปิดได้ หากไม่ลดหรือเพิ่มขึ้นอาจต้องเลื่อน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์เหมือนที่อังกฤษที่กลับมาระบาดมากขึ้นก็เลื่อนเปิดเช่นกัน

มท.1 แจงไม่เอื้อประโยชน์ใคร

ส่วนกรณีที่มีหนังสือปลัดกระทรวงมหาดไทยลงนามสนับสนุนวัคซีนให้บริษัทเอกชนใหญ่รายหนึ่ง เพื่อฉีดให้กับพนักงานและครอบครัว แต่ได้ยกเลิกในภายหลังว่าวันที่ 20 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทยว่า นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ออกหนังสือแก้ไขแล้วยืนยันว่าเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต้องเป็นไปตามนโยบายของ ศบค.โดยสรุปคือมีช่องทางที่จะสนับสนุนให้กับบุคคลและกลุ่มบุคคลรวมไปถึงองค์กรได้ แต่ต้องเข้าสู่ช่องทางหมอพร้อม การกระจายวัคซีนเป็นของ ศบค.จะกระจายไปในพื้นที่ใดหรือจำนวนเท่าไหร่ เมื่อกระจายไปแล้วผู้จะดำเนินการต่อคือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นการสื่อสารที่คลาดเคลื่อนและไม่มีเจตนาเอื้อประโยชน์ให้ใคร ใครที่คิดจะไปตอบสนองต่อกลุ่มใคร สังคมจะไม่ยอม เป็นการสื่อสารคลาดเคลื่อนแต่ได้แก้ไขแล้ว มท.ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปเอื้อใคร

ฉีดวัคซีน นศ.มร.วันแรกฉลุย

สำหรับการจัดฉีดวัคซีน ที่อาคารหอประชุมพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ที่จัดเป็นศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ให้บริการฉีดวัคซีนแก่นักศึกษาในวันที่ 21 มิ.ย.เป็นวันแรก มีนักศึกษาที่ลงทะเบียนเข้ารับการฉีดวัคซีนทยอยมารับการฉีดวัคซีนอย่างต่อเนื่อง ด้าน ผช.ศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัย รามคำแหงจัดตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนแก่นักศึกษา บุคลากร มร.รวมทั้งนักศึกษาและบุคลากรของสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ใกล้เคียงอีก 6 แห่ง เพื่อรองรับการเตรียมเปิดภาคเรียนได้ตามปกติโดยเร็ว ระหว่างวันที่ 21, 23-25 มิ.ย.2564 ตามลำดับ ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับการจัดสรรวัคซีนจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งได้รับความอนุเคราะห์และสนับสนุนจาก รพ.นวมินทร์ 9 เป็นโรงพยาบาลในการควบคุมการฉีดวัคซีนและส่งต่อกรณีวัคซีนมีผลข้างเคียง รวมทั้งสนับสนุนบุคลากรเพิ่มเติมในส่วนของแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนและคัดกรอง

ยะลาปิดเพิ่ม 2 ชุมชนเบตง

สำหรับสถานการณ์โรคโควิด-19 ในพื้นที่ภาคใต้ยังคงน่าห่วง หลังพบผู้ติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์พร้อมกันหลายกลุ่ม โดยคลัสเตอร์ที่ยังต้องเฝ้าระวังคือโรงเรียนสอนศาสนาใน อ.เมืองยะลา ที่พบผู้ติดเชื้อกระจายไป 12 จังหวัดภาคใต้ และส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายพันธุ์เบตา (แอฟริกาใต้) ขณะที่ภาพรวม ณ วันที่ 21 มิ.ย.จ.ยะลา มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม 74 คน พบมากสุดที่ อ.เบตง 39 คน ตามด้วย อ.เมือง 18 คน อ.กรงปินัง 6 คน อ.ยะหา 5 คน อ.รามัน 4 คน และ อ.ธารโต 2 คน สาเหตุหลักมาจากคลัสเตอร์ศูนย์มัรกัส อ.เมืองยะลา และจากจำนวนผู้ติดเชื้อสูงสุดใน อ.เบตง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผวจ.ยะลา ออกคำสั่งห้ามบุคคลเข้าออกสถานที่ศูนย์มัรกัส (ฮัลเกาะห์) ประจำ อ.เบตง เป็นการชั่วคราว เว้นแต่ผู้มีหน้าที่ดูแลไม่เกิน 5 คน และห้ามมิให้ผู้ใดเข้าออกพื้นที่ชุมชน จำนวน 2 ชุมชน ตามท้ายคำสั่งคือ ชุมชน “กือติง” และ ชุมชน “กุนุงจนอง” หากฝ่าฝืนมีบทลงโทษตามกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ลงนามในคำสั่งเป็นต้นไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย

ปิด ร.ร.-เร่งตรวจเชิงรุกอื้อ

ขณะที่คณะกรรมการโรคติดต่อ จ.กระบี่ ออกประกาศฉบับที่ 20/2564 ห้ามไม่ให้มีการเดินทางเข้า-ออกในพื้นที่ศูนย์การเรียนวิถีอิสลามปินูริ้ร เราะฮมาน ในพื้นที่หมู่ 3 ต.คลองหิน อ.อ่าวลึก เป็นเวลา 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย-วันที่ 2 ก.ค.2564 พร้อมทั้งให้ตรวจคัดกรองผู้ที่อาศัยอยู่ในศูนย์เรียนรู้ดังกล่าวจำนวน 100 คน ตั้งแต่วันที่ 21-25 มิ.ย.นี้ หลังมีผู้ป่วยจากศูนย์เรียนรู้ดังกล่าว 1 คน ติดเชื้อมาจากคลัสเตอร์มัรกัสยะลา ขณะเดียวกัน มีการประกาศให้ผู้ไปเที่ยวบ่อน้ำพุร้อนเค็ม ต.ห้วยน้ำขาว อ.คลองท่อม วันที่ 14-16 มิ.ย.ให้รีบไปรายงานตัวกับ จนท.โรงพยาบาลใกล้บ้านโดยด่วน หลังผู้ป่วยจากคลัสเตอร์มัรกัสยะลาเดินทางเข้าไปเที่ยว รวมถึงผู้ที่ไปซื้อของในตลาดนัดคลองท่อม ในวันที่ 17 มิ.ย.สังเกตอาการตัวเอง 14 วันด้วย ส่วนสถานการณ์ใน จ.สตูล ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 9 คน เป็นนักเรียนร.ร.มัรกัส จ.ยะลา 1 คน และกลุ่มเสี่ยงสูงที่สัมผัส นร. 8 คน นอกจากนี้ มีประกาศให้สถานศึกษาในภาครัฐ จำนวน 44 โรงเรียน ภาคเอกชน 8 โรง ปรับรูปแบบการเรียนการสอนไปเป็นเรียนออนไลน์ หรือออนแฮนด์ และให้เปลี่ยนรูปแบบการสอนเช่นกันจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เช่นเดียวกับ จ.พัทลุง ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 คน จากการตรวจค้นเชิงรุกของผู้ป่วยในพื้นที่ อ.ปากพะยูน ป่าบอน กงหรา เขาชัยสน และ อ.บางแก้ว ซึ่งมาจาก 2 คลัสเตอร์คือกลุ่มนักเรียนศูนย์มัรกัสยะลาและโรงงานจากจังหวัดสงขลา

เพิ่มวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงเชื้อเบตา

ที่ จ.พังงา ที่พบผู้ติดเชื้อเป็นกลุ่มใหญ่ที่แพปลา อ.คุระบุรี ต่อมาวันที่ 21 มิ.ย. พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 3 คน เป็นคนไทย 1 คน ต่างด้าว 2 คน นอกจากนี้ นายณรงค์ หนูเนียม นายอำเภอคุระบุรี นำเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมผู้ประกอบการแพปลาให้ดำเนินการตามคำสั่งจังหวัดพังงาและมาตรการป้องกันโรค อาทิ ผู้ที่ต้องการเข้าไปในหมู่ 3 บ้านหินลาด จะต้องฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาแล้ว 1 เข็ม หรือซิโนแวค 2 เข็ม หรือมีใบรับรองการตรวจโรคภายใน 72 ชั่วโมง อย่างใดอย่างหนึ่ง เท่านั้น และจะมีการตั้งจุดรับตรวจ Rapid Test ที่ รพ.คุระบุรีชัยพัฒน์ ให้กับผู้ที่ต้องเดินทางเข้าออกแพปลาบ้านหินลาด โดยจะคิดค่าบริการคนละ 500 บาท ส่วนที่ อ.ตะกั่วป่า นายมนัสศักดิ์ ยวนแก้ว ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 2 บ้านน้ำเค็ม ต.บางม่วง นำประทัดกว่า 3,000 นัด ไปจุดถวายหลวงพ่อแสงวัดน้ำเค็ม เป็นการแก้บนหลังผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกชาวบ้านกลุ่มเสี่ยงจำนวน 171 คน ออกมาเป็นลบทั้งหมด นอกจากนี้ มีรายงานว่ามีการเพิ่มวันกักตัวกลุ่มเสี่ยงของผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ร.ร.สอนศาสนาใน จ.ยะลา จาก 14 วัน เป็น 21 วัน ตามมาตรการของ สธ.หลังจากพบว่าเป็นเชื้อสายพันธุ์เบตาด้วย

เมืองคอนป่วยตายอีก 1

ขณะที่ สสจ.นครศรีธรรมราช รายงานเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 25 คน และผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 1 คน เป็นชาย อายุ 62 ปี ส่วนกรณีพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ หมู่ 11 ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ 4 คน เป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกัน จากการสอบสวนโรคพบว่าต้นตอการแพร่ระบาดเป็นงานบวชที่ไม่ขออนุญาต ระหว่างวันที่ 11-12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ภายในงานบวชมีการละเล่นดนตรี เต้นรำ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ส่วนสาเหตุสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่าการติดเชื้อน่าจะนำเข้ามาจากแม่และลูกสาว ที่อาศัยอยู่ที่ ต.นาเรียง อ.พรหมคีรี เป็นผู้ป่วยโควิด เดินทางมาร่วมงานบวชดังกล่าว และล่าสุดเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อำเภอนบพิตำ ปิดทางเข้าออกหมู่บ้านผู้ที่เสี่ยงสูง ในพื้นที่ หมู่ 1, หมู่ 11 ต.กรุงชิง และพื้นที่รอยต่อ หมู่ 9 ต.นบพิตำ รวมทั้งวัดโรงเหล็ก พร้อมขอความร่วมมือบุคคลที่ร่วมงานบวชในวันดังกล่าว ให้รายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือฝ่ายปกครองทันที และขอให้อยู่กับที่ไม่ต้องไปไหน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด พร้อมกันนี้ ศบค.จังหวัด มีมติเลื่อนเปิดเทอมจากวันที่ 28 มิ.ย.ไปเป็นวันที่ 12 ก.ค.นี้ด้วย

วุ่น รพ.เชียงรายฯ ติดเชื้อระนาว

ส่วน อ.เทิง จ.เชียงราย ยังตรวจพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มคลัสเตอร์ตับเต่าเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดผลตรวจเชื้อเชิงรุกผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 48 คน พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 8 คน ส่งผลให้ยอดผู้ป่วยสะสมเฉพาะในพื้นที่ ต.ตับเต่า เพิ่มเป็น 61 คน กระจายไปตามหมู่บ้าน ได้แก่ บ้านเหล่า ม.1 จำนวน 3 คน บ้านแผ่นดินทอง ม.12 จำนวน 37 คน บ้านรักแผ่นดิน ม.15 จำนวน 20 คน และบ้านราษฎร์รักษา ม.17 จำนวน 1 คน ขณะที่ภาพรวมทั้งจังหวัดพบผู้ติดเชื้ออีก 21 คน ในจำนวนนี้เป็นบุคลาการ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ถึง 9 คน เป็นแพทย์ 2 คนพยาบาล 4 คน และพนักงานช่วยคนไข้ 3 คน เจ้าหน้าที่ต้องผลัดกันเข้าเวร และปิดบางวอร์ด นอกจากนี้ โรงเรียนในเขตเทศบาลเมืองทุกสั่งปิดหมด รวมถึงสุสานเทศบาลนครเชียงราย 3 แห่ง ถูกสั่งปิด 14 วันด้วย

ร.ร.ทยอยปิด/ปรับการเรียน

ส่วน จ.เชียงใหม่ หลังจากมีการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จากคลัสเตอร์โรงเรียนกวดวิชา LEARN SI’R ตั้งอยู่หน้าโรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย แผนกมัธยม อ.เมืองเชียงใหม่ ทำให้คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ปิดการเรียนการสอนของวิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ โรงเรียนมงฟอร์ตวิทยาลัย และโรงเรียนสารสาสน์วิเทศ 3 วัน และทำให้หลายโรงเรียนแม้ไม่มีกลุ่มเสี่ยงต้องปรับการเรียนการสอนเป็นการชั่วคราว มีทั้งงดการสอนในชั้นเรียนปกติ และแบ่งกลุ่มสลับมาเรียน อาทิ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนกาวิละวิทยาลัย โรงเรียนดาราวิทยาลัย ขณะที่โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ ที่งดการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน แต่ยังมีครูอาจารย์มาทำงานกันปกติ และมีการสอนแบบออนไลน์ตามตารางเรียน เช่นเดียวกับโรงเรียนอนุบาลโรจนวิทย์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ประกาศปิดโรงเรียนถึง 27 มิ.ย. หลังพบนักศึกษาสังเกตการสอน ห้อง ป.2/6 ติดโควิด-19 ขณะที่ จ.สกลนคร ก็ปิดเรียนเพิ่มอีก 6 แห่ง หลังพบเด็กนักเรียนอนุบาล 2 โรงเรียนอนุบาลสกลนคร ติดเชื้อโควิด-19 และต้องตรวจหาเชื้อนักเรียนและครูกว่า 400 คน

“ชล-นนท์” ติดเชื้อทะลุร้อย

ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ใน จ.ชลบุรี ยังพบผู้ติดเชื้อพุ่งสูงต่อเนื่องอีกวัน โดยผู้ติดเชื้อใหม่ 187 คน ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ อ.เมืองชลบุรี และอ.ศรีราชา ส่วนที่ศาลาประชาคมตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จ.ชลบุรี มีการเปิดรับลงทะเบียนตกหล่นผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนหมอพร้อม และยังไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 หลังจากทางเทศบาลเมืองอ่างศิลา จัดสรรงบประมาณ จัดซื้อวัคซีนซีโนฟาร์ม จำนวน 10,000 โดส มาฉีดให้กับประชาชนที่อยู่ในเขตเทศบาลฯ ประกอบไปด้วย ตำบลอ่าง–ศิลา ตำบลบ้านปึก หมู่ 3 ตำบลเสม็ด บางส่วน หมู่ 4 หมู่ 8 ตำบลเสม็ด หมู่ 4 หมู่ 5 ตำบลห้วยกะปิ รวมทั้งหมด 20 ชุมชน ขณะที่ จ.นนทบุรี พบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดรายใหม่อีก 176 จำนวนนี้มาจากแคมป์ก่อสร้าง 29 คน ส่วน จ.สุพรรณบุรี ยังเจอผู้ติดเชื้อรายใหม่อีก 14 คน

ระยองผวา 2 คลัสเตอร์ใหม่

วันเดียวกัน จ.ระยอง พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ จ.ระยอง 12 คน อยู่ใน 2 อำเภอ คือ อ.แกลง 10 คน และ อ.เมืองระยอง 2 คน ต่อมา นายชาญนะ เอี่ยมแสง ผวจ.ระยอง พร้อมด้วย นพ.สุนทร เหรียญภูมิการกิจ สสจ.ระยอง และเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค เข้าตรวจสอบแคมป์คนงานบริษัทก่อสร้างในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมือง จ.ระยอง หลังพบผู้ติดเชื้อสะสมในจุดนี้ถึง 29 คน โดยเบื้องต้นได้สั่งปิดแคมป์คนงานแล้ว ส่วนอีกจุดที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากคือโรงเพาะเห็ดในพื้นที่ ต.เนินฆ้อ อ.แกลง มีการปิดพื้นที่ 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย.เป็นต้นไปและโรงเรียนวัดเพลงช้างเผือก ประกาศปิดเรียนไปก่อน หลังพบผู้ปกครองนักเรียนติดเชื้อโควิด 1 คน ส่วนการจัดฉีดวัคซีนนั้นผู้สื่อข่าวรายงานว่า เป็นการฉีดวันสุดท้าย มีประชาชนและพระสงฆ์เข้ามาฉีดราว 1.2 พันคน และจะเปิดฉีดครั้งต่อไปในวันที่ 1 ก.ค.นี้

แปดริ้วเผาศพโควิด 2 รายรวด

ที่ จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต 2 รายรวด นับเป็นรายที่ 17 และ 18 ของจังหวัด โดยรายแรก เจ้าหน้าที่กู้ภัยฉะเชิงเทราเคลื่อนย้ายร่างผู้เสียชีวิตจาก รพ.พุทธโสธร มายังวัดบางปรงธรรมโชติการาม ต.บางพระ อ.เมือง เพื่อประกอบพิธีฌาปนกิจ โดยผู้เสียชีวิตเป็นนักโทษชาย อายุ 53 ปี ชาวชุมชนสะพานดำ อ.เมืองฉะเชิงเทรา โดยมีญาติของผู้เสียชีวิตมาร่วมพิธีจำนวนหนึ่ง หลานสาวผู้ตายระบุว่า ผู้ตายถูกจับกุมเมื่อ 4 เดือนก่อน ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. เจ้าหน้าที่โทรศัพท์มาบอกว่าผู้ตายติดโควิดมีภาวะแทรกซ้อนต้องย้ายมารักษาที่ รพ.พุทธโสธร วันที่ 16 มิ.ย. มีการย้ายกลับเข้าไปรักษาที่ รพ.สนาม ภายในเรือนจำกลางฉะเชิงเทรา แต่วันที่ 20 มิ.ย. ผู้ตายขาไม่มีแรง จึงย้ายกลับมารักษาตัวที่โรงพยาบาลอีกครั้ง และแพทย์ต้องตัดขาทั้ง 2 ข้าง เนื่องจากเกิดภาวะแทรกซ้อนระบบลิ่มเลือดอุดตันเส้นเลือดใหญ่บริเวณขา ก่อนจะมาเสียชีวิตในรุ่งเช้าวันที่ 21 มิ.ย. ส่วนอีกศพ เจ้าหน้าที่กู้ภัยฯนำร่างมาฌาปนกิจที่วัดถวิลศิลามงคล ต.ท่าไข่ อ.เมือง เป็นชายอายุ 48 ปี ชาว ต.คลองหลวงแพ่ง อ.เมือง เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดติดเชื้อมาจากไซต์งานก่อสร้างในพื้นที่ กทม.ก่อนนำมาติดลูกสาว ทำให้ไม่สามารถมาร่วมพิธีได้ แฟนหนุ่มต้องวิดีโอคอลให้ลูกสาวผู้เสียชีวิตได้ดูเจ้าหน้าที่นำร่างบิดาขึ้นสู่เมรุ เป็นการร่วมส่งพ่อเป็นครั้งสุดท้ายผ่านโทร-ศัพท์มือถือ

ยังไม่เปิด 4 ตลาดย่านบางกะปิ

วันเดียวกัน ที่ศาลาว่าการ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหาร กทม.โดยสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในพื้นที่ กทม.พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 624 คน รวมจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสม 60,366 คน มีการติดเชื้อเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) จากแคมป์ก่อสร้าง สถานประกอบการ ตลาด ชุมชน และอื่นๆ (เนิร์สซิ่งโฮม) รวมจำนวน 78 คลัสเตอร์ ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 24 พ.ค.-11 มิ.ย.2564 รวม 19 วัน กทม.ตรวจแนะนำและกวดขันให้ผู้ประกอบการตลาดในพื้นที่ กทม. ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคจำนวน 482 แห่ง จากจำนวนตลาดในพื้นที่ทั้งสิ้น 486 แห่ง คงเหลือ 4 แห่ง ซึ่งเป็นตลาดในพื้นที่เขตบางกะปิ เนื่องจากมีคำสั่งปิดตลาดตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.64 และยังไม่มีกำหนดเปิดได้แก่ 1.ตลาดสดลาดพร้าว 2.ตลาดกลางเมืองบางกะปิ 3.ตลาดสดบางกะปิ และ 4.ตลาดนางสาวอาภาภรณ์ ภักดีจรัส สำหรับตลาดที่ปิดและยังไม่ได้ตรวจแนะนำ สำนักอนามัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะตรวจประเมินทันทีเมื่อเปิดทำการ

เตรียมลุยตรวจโรงงาน 122 แห่ง

ส่วนผลการตรวจเฝ้าระวังชุมชนตั้งแต่ 27 พ.ค.-10 มิ.ย.64 สุ่มตรวจประชาชนแล้ว 49 เขต 262 ชุมชน มีผู้เข้ารับการตรวจ 12,222 คน พบผู้ติดเชื้อจำนวน 26 เขต ใน 38 ชุมชน จำนวน 194 คน คิดเป็นร้อยละ 1.30 ในส่วนของแคมป์คนงานก่อสร้าง จากข้อมูล ณ วันที่ 16 มิ.ย.64 ในพื้นที่ กทม. มีไซต์ก่อสร้าง 615 แห่ง แคมป์ก่อสร้าง 575 แห่ง มีคนงานที่พักในแคมป์เป็นคนไทย 34,148 คน เป็นคนต่างชาติ 46,915 คน รวม 81,063 คน สุ่มตรวจ LQAS คนงานก่อสร้าง จำนวน 587 แคมป์ ตรวจแล้ว 25 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 4.26 ไม่พบเชื้อ 11 แห่ง พบเชื้อ 1 คน 2 แห่ง พบเชื้อมากกว่า 2 คนขึ้นไปซึ่งจะต้องดำเนินการควบคุมตามมาตรการ Bubble and Seal จำนวน 10 แห่ง และอยู่ระหว่างรอผล 2 แห่ง นอกจากนี้ กทม.ยังเตรียมดำเนินการตามแผนการเฝ้าระวังและควบคุมโรคในโรงงาน 122 แห่ง ใน 3 ประเภท ดังนี้ 1.อาหาร/แปรรูป 9 แห่ง 2.ยา 12 แห่ง และ 3.ตัดเย็บเสื้อผ้า 91 แห่ง ซึ่งจะเริ่มตรวจในวันที่ 15 ก.ค.นี้ เป็นต้นไป

พันธุ์เดลตาครองอังกฤษ

วันเดียวกัน สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังคงลุกลามทั่วโลกยอดติดเชื้อรวมเพิ่มเป็น 179,287,736 คน เสียชีวิตรวม 3,882,808 คน ขณะที่สำนักงานสุขภาพแห่งชาติอังกฤษ รายงานสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ในประเทศ เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ซึ่งตรงกับวันที่อังกฤษตั้งใจจะคลายล็อกดาวน์ แต่ต้องเปลี่ยนแผนเป็นวันที่ 19 ก.ค. แทน เนื่องจากการแพร่ระบาดทวีความรุนแรง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อในวันเดียวอยู่ที่ 9,284 คน ขณะที่อัตราการติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น 79 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน และในขณะนี้ผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 99 เปอร์เซ็นต์ เป็นเชื้อตัวกลายพันธุ์เดลตา (จากอินเดีย) ส่วนที่ประเทศจีน รัฐบาลสั่งตรวจหาเชื้อพลเมืองเกือบ 7 ล้านคน ในเมืองตงกวน มณฑลกวางตุ้ง ทางภาคใต้ของจีน พร้อมสั่งระงับการสัญจรเข้าออกเมือง ยกเว้นจะมีหลักฐานการตรวจโรคยืนยัน หลังพบผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 2 คน ท่ามกลางความกังวลเรื่องเชื้อพันธุ์เดลตาลุกลามในจีน