ท่ามกลางการระบาดโควิด–19 ทั่วโลกสะท้อนให้เห็น “การทำหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์” ผู้เสียสละทุ่มเทแรงกายแรงใจคอยเป็น “ด่านหน้า” ตรวจรักษารับมือ “เชื้อโรค” ให้กระทบต่อชีวิตผู้คนน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แต่ด้วย “ผู้ติดเชื้อ” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะ “พยาบาล” ผู้ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิดโดยตรงรับศึกหนักต้อง “เผชิญความเสี่ยงติดโรค” กลายเป็น “ความกดดันกลัวท้อแท้” ที่เก็บซ่อนความรู้สึกนี้อยู่ในใจเสมอมา
ทว่าจิตวิญญาณความกล้าหาญอุทิศตนต่อสาธารณประโยชน์นี้ คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ สหพันธ์สภากาชาดและเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ สภาการพยาบาลระหว่างประเทศ ต่างเห็นความสำคัญนี้ “เนื่องในวันพยาบาลสากล 2021” คัดเลือกพยาบาลผู้มีผลงานดีเด่นรับเหรียญฟลอเรนซ์ไนติงเกลครั้งที่ 48 (48th Attribution of the Florence Nightingale) ผู้อุทิศตนช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้เคราะห์ร้ายจากสงครามและภัยพิบัติ อุทิศตนบริการด้านสาธารณสุข หรือการพยาบาล

...
อันเป็นรางวัลแห่งเกียรติยศอันสูงสุดสำหรับพยาบาลสภากาชาดทั่วโลกให้แก่ วลีภรณ์ ริยะกุล ผช.หน.พยาบาล ด้านการพยาบาลเฉพาะทาง รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จากบทบาทสำคัญให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้ง ภัยพิบัติทางธรรมชาติ อุบัติเหตุ วินาศกรรม และโรคระบาด
แต่ละเหตุการณ์ล้วนเป็นเหตุความรุนแรง เช่น เหตุแก๊สระเบิด ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ เพลิงไหม้ซานติก้าผับ สึนามิในไทย การระบาดโควิด-19 ทั้งยังมีการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทั้งสองฝ่ายในเหตุประท้วงทางการเมือง แสดงถึงการอุทิศแรงกายแรงใจปฏิบัติงานอย่างเต็มที่ ยึดถือหลักการความไม่ลำเอียง และไม่เลือกปฏิบัติ
การอุทิศตนบริการด้านสาธารณสุขนี้ “วลีภรณ์” เล่าว่า เดิมเป็นคนนางรอง จ.บุรีรัมย์ สมัยเด็กมักเจ็บไข้ได้ป่วยเข้ารักษาตัวสถานีอนามัยตำบลบ่อยๆ ทำให้รู้สึกประทับใจจนตั้งใจอยากทำงานอาชีพนี้ กระทั่งจบ ม.ปลายจับพลัดจับผลูสอบเข้าเรียน“วิทยาลัยพยาบาลสภากาชาดไทย” ทั้งได้รับทุนเรียนฟรีด้วย

คราวนั้น... “วันแรกเข้าวิทยาลัยฯ รู้สึกกลัวความคิดตัวเอง” ทั้งกลัวเลือด กลัวศพ และกลัวเรียนไม่จบ แต่ว่า “นักศึกษาพยาบาล” มีกฎต้องอยู่หอพักในตลอดการศึกษาที่มี “รุ่นพี่” คอยดูแลช่วยเหลือเสมือนเป็นครอบครัวใหญ่ให้คำปรึกษาแนะนำการเรียน ทำให้ผ่านปัญหาอุปสรรคมาได้ด้วยดีเสมอมา
เมื่อเรียนจบก็เข้า “ทำงานแผนกไอซียูศัลยกรรม รพ.จุฬาลงกรณ์” ตั้งแต่ปี 2527 จนถึงวันนี้มีหน้าที่หลัก “ดูแลผู้ป่วยผ่าตัดทุกประเภท” แรกๆรู้สึกกังวลกลัวดูแลไม่ไหวจนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตเพราะสมัยนั้นคำว่า “คนไข้ไอซียู” มักมีอาการหนักโอกาสรอดน้อย ก่อนปรับตัวกับงานดูแลผู้ป่วยหนักรอดชีวิตมาต่อเนื่อง
ผู้ป่วยบางคนหายดีแล้วซาบซึ้งใจก็มักแวะเวียนมาเยี่ยมเยือนกันอยู่บ่อยๆ สิ่งนี้เป็นกำลังใจให้หายเหนื่อยในการช่วยเหลือ “ดูแลผู้ป่วย” ให้มีโอกาสกลับไปสู่อ้อมกอดครอบครัวอีกครั้งอยู่ตลอด

กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ “ก้าวข้ามอุปสรรค แรงกดดัน ความกลัวท้อแท้” โดยเฉพาะ “หัวหน้าแผนก” ก็ต้องเข้าใจลูกน้องให้เกียรติกัน ทั้งยังมี “ทีมงานดี” ช่วยกันทำงานอย่างเต็มที่ จนประสบความสำเร็จขยับขึ้นเป็น หน.แผนกไอซียู และรับตำแหน่งซุปเปอร์ไวเซอร์ตามลำดับ
ย้อนเหตุการณ์สำคัญที่เคยเจอ...“เหตุแก๊สระเบิด ถ.เพชรบุรีตัดใหม่” มีผู้บาดเจ็บหนักถูกส่งมา รพ.จุฬาลงกรณ์ 4-5 รายจำได้ติดตา “ผู้บาดเจ็บหญิงอายุ 35 ปี” ถูกไฟไหม้ทั้งตัวคงเหลือเฉพาะเล็บเท้าเท่านั้น
...
ในทางการแพทย์คิดว่า “ไม่น่าจะรอด” แพทย์ พยาบาล พยายามประคองสุดความสามารถได้ 5 วันก็เสียชีวิตเพราะวิวัฒนาการการแพทย์ เครื่องมือไม่ทันสมัยเช่นวันนี้ ทำให้รู้สึกหดหู่ฝังใจต้องดูแลให้ดีกว่าเดิม
ก่อนมาเจอ “เหตุเพลิงไหม้ซานติก้าผับ” วันนั้นมีผู้บาดเจ็บหนักถูกส่งมา 10 กว่าราย ส่วนใหญ่แล้วดูแลช่วยเหลือปลอดภัยคงมีแต่ 1 รายอาการหนัก “เสียชีวิต” ในเวลาต่อมา ถัดมาก็มี “เหตุระเบิดแยกราช-ประสงค์” บาดเจ็บหลายคนในจำนวนนี้ “ชาวจีนบาดเจ็บหนักสุด” มองว่า “ไม่น่ามีโอกาสรอด” ด้วยซ้ำ
ด้วยทีมแพทย์ พยาบาล ต่างพยายามทำงานกันอย่างเต็มที่ ทั้งยังมี “อุปกรณ์ทางการแพทย์ และห้องผ่าตัดทันสมัย” ทำให้คนไข้รายนี้ฟื้นฟูร่างกายอยู่หลายปี จนสามารถกลับประเทศจีนได้เช่นเดิม

ต้องเข้าใจว่า “รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” เป็นศูนย์หน่วยงานอุบัติเหตุ และฉุกเฉิน ในการรับผู้ป่วยอุบัติเหตุทุกประเภท ทำให้มีแผนความพร้อมรองรับทุกสถานการณ์ และการพัฒนาศักยภาพให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุฉุกเฉินได้รวดเร็ว ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด
...
กระทั่งมาในปี 2554 “น้ำท่วมใหญ่” รับมอบหมาย “เตรียมแผนรองรับกรณีฉุกเฉินเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหนักจาก รพ.จุฬาลงกรณ์ไป รพ.สนาม 2 จุด” คือ ขอใช้อาคารใหม่ รพ.เพชรบุรี และ รพ.สมเด็จพระ–บรมราชเทวี ณ ศรีราชา...ย้ายเครื่องทางการแพทย์พร้อม 24 ชม.สุดท้ายน้ำท่วมคลี่คลายดีขึ้นจึงไม่ย้ายคนไข้ไป
“ตลอดชีวิตมักอยู่โรงพยาบาลเป็นหลัก โชคดีครอบครัวเข้าใจให้การสนับสนุนเสมอมา เพราะผู้ประสบเหตุรอช่วยเหลือเร่งด่วนเสมือน “นาทีเป็นนาทีตาย” ทั้งยังมีทีมพยาบาลเข้าใจระบบรู้หน้าที่ไม่เอาเปรียบกัน ส่วนผู้บังคับบัญชา แพทย์ ก็ให้เกียรติเรา ทำให้เป็นพลังทำงานกันอย่างสนุกจนรักในอาชีพนี้” วลีภรณ์ว่า
จริงๆแล้ว...ไม่เคยฝัน “รับเหรียญฟลอเรนซ์ไนติงเกล” แต่ด้วย “หน.แผนกไอซียู” เห็นเราตั้งใจทำงานช่วยเหลือ “ผู้เคราะห์ร้ายมา37 ปี” จึงแนะนำลองเขียนผลงานให้ “คกก.กาชาดสากล 3 องค์กร” พิจารณาจาก 18 ประเทศทั่วโลก ผ่านคัดเลือก 25 คน ในนี้มีคนไทย 1 คนผ่านคัดเลือกได้รับรางวัลครั้งนี้ด้วย
วันทราบข่าวนี้แทบไม่เชื่อว่า “ถูกคัดเลือกรับเหรียญฟลอเรนซ์ไนติงเกล” รู้สึกดีใจขนลุกด้วยความตื้นตันใจอย่างบอกไม่ถูก เพราะถือเป็นรางวัลสูงสุดของวิชาชีพพยาบาลแล้วเสมือนเป็นคำตอบสุดท้ายของความภูมิใจในชีวิต “ทุ่มเทแรงกายแรงใจ”ทำงานช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากโดยไม่เคยหวังผลประโยชน์ใดอยู่แล้ว
เช่นเดียวกับ “สถานการณ์ระบาดโควิด-19” พยาบาลต่างยังคงทำงานหนักมานานกว่า 1 ปี โดยไม่หวังผลประโยชน์ใดในการดูแลผู้ป่วยอาการหนักห้องไอซียูเพิ่มขึ้นทุกวัน ตามความรับผิดชอบแบ่งพยาบาลเป็น 2 ทีม คือ ทีมแรก...ดูแลคนไข้ทั่วไป 100 เตียง ทีมที่สอง...ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 26 เตียง
...
ในช่วงแรกๆ เจอปัญหา “น้องกลัวไม่กล้าทำงาน” เพราะ “พยาบาล” เป็นผู้ดูแลสัมผัสใกล้ชิดโดยตรงตั้งแต่หัวจดเท้า เช่น วัดไข้ เช็ดตัว ดูดเสมหะ คอยช่วยเหลือผู้ป่วยทุกอย่าง มีโอกาสติดเชื้อตลอด จนต้องเรียกปรับทัศนคติให้ “คำมั่นสัญญา” ในการดูแลความปลอดภัยจากอุปกรณ์ป้องกันสูงสุด

สุดท้าย “น้องพยาบาล” ยอมทำงานดูแลผู้ติดเชื้อจนถึงการระบาด ระลอก 3 ที่ค่อนข้างหนักต้องปรับขยายห้องไอซียูหลายจุด แต่ไม่พอรับผู้ป่วยเช่นเดิม จนไม่อาจขยายเพิ่มได้ เพราะ “พยาบาล” ทำงานกันหนักอ่อนล้ากันมาก ทั้ง “หลายคนกดดันท้อแท้ใจ” ทำให้ต้องหมุนเวียนสลับกัน เพื่อผ่อนคลายความเครียดลดลง
ตอกย้ำว่า...เด็กสมัยใหม่มักมอง “พยาบาล” ไม่ใช่อาชีพใฝ่ฝันเหมือนก่อนแล้ว เพราะเป็นงานลำบากอันตราย และสกปรกเสี่ยงติดเชื้อโรค แต่อาชีพนี้ก็สามารถช่วยเหลือชีวิตคนอื่น เสมือนได้ทำบุญไม่ต้องไปแสวงหาจากที่ใด ดังนั้นแม้ “ตัวเองเกษียณอายุราชการ” ก็ยังมุ่งทำงานอาสาพยาบาลเช่นเดิม
ฝากสังคมว่า “อาชีพพยาบาลไม่ใช่นางฟ้า” ทำทุกอย่างดีเลิศได้ แต่เราจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุดในการดูแลคนไข้ให้ปลอดภัยเท่าเทียมกัน มีเป้าหมายสูงสุดคือ รักษาทุกชีวิตกลับสู่อ้อมกอดครอบครัวได้อีกครั้ง
นี่คือหนึ่งเรื่องราว “วิชาชีพการพยาบาล” ผู้ทุ่มเทเสียสละดูแลห่วงใยเอาใจใส่ “ผู้เจ็บไข้ได้ป่วย” ทำประโยชน์ให้สาธารณชนไม่ว่ายามปกติ หรือเกิดโรคระบาด จนได้รับยกย่องไปทั่วโลก.