เหลืออีกเพียงไม่กี่วันเท่านั้น กฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ.2564 ก็จะเริ่มมีผลใช้วันที่ 1 เม.ย.นี้แล้ว โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญ กำหนดให้รถยนต์สามารถใช้ความเร็วในการขับขี่บนทางหลวงได้สูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม. และหากใช้ช่องขวาสุดจะต้องวิ่งด้วยความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กม./ชม. เพื่อให้ผู้ขับขี่สามารถทำความเร็วของรถได้สอดคล้องกับสภาพถนน ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว และความปลอดภัยในการเดินทางได้

อย่างไรก็ตามได้เกิดคำถามตามมาว่า นโยบายดังกล่าวของ “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม จะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้จริงหรือไม่ หรือจะเป็นการเติมเชื้อไฟให้เกิดอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นกว่าเดิม เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายกังวลอยู่ไม่น้อย

เพราะข้อมูลจากมูลนิธิไทยโรดส์ เปิดเผยผลการศึกษาสถานการณ์ปัญหาการใช้ความเร็วในประเทศไทยพบว่า “การใช้ความเร็ว” เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย ที่สำคัญพบด้วยว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนกว่า 40% เกิดจากการใช้ความเร็วบนทางหลวง 4 ช่องจราจร และการใช้ความเร็วเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตบนทางหลวงอีกด้วย

อย่างไรก็ดีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างที่หลายฝ่ายห่วงหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ แต่สิ่งสำคัญที่เห็นว่ากระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งทำในตอนนี้ คือการทำความเข้าใจกับประชาชนเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของกฎหมายที่ถูกต้องทั้งหมดโดยเร็ว

เพราะทุกวันนี้เชื่อว่าคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจเนื้อหาสาระกฎหมายไม่ถูกต้อง หรือเข้าใจเพียงบางส่วน เช่น เข้าใจว่าตั้งแต่ 1 เม.ย.นี้ จะสามารถขับรถบนถนนทางหลวงทั่วประเทศ ได้เร็วถึง 120 กม.ต่อ ชม. แบบไม่ผิดกฎหมาย

...

ทั้งที่จริงแล้ว กฎกกระทรวงที่ออกมาได้มีข้อจำกัด ข้อห้าม ข้อยกเว้นต่างๆมากมาย โดยวันที่ 1 เม.ย.เป็นเพียงการทดสอบนำร่องเฉพาะทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 32 (ถนนสายเอเชีย) ช่วงบริเวณหมวดทางหลวงบางปะอิน-ทางต่างระดับอ่างทอง กม.ที่ 4+100-50+000 ระยะทาง 50 กม. เท่านั้น ไม่ใช่เปิดให้ทางหลวงทุกสายเหยียบได้ถึง 120 กม. ตามอำเภอใจอยากจะเหยียบ

นอกจากนี้ ข้อกฎหมายมีข้อยกเว้นไว้ด้วยว่า หากขับไปแล้วเจอข้อจำกัดด้านการจราจร ทัศนวิสัยมีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น ก็สามารถลดความเร็วต่ำกว่าที่กำหนดได้ รวมถึงถ้าเจอเครื่องหมายจราจรแสดงว่าเป็นเขตอันตราย มีเครื่องหมายกำหนดอัตราความเร็ว หรือ เป็นเขตชุมชน ก็สามารถลดความเร็วลงได้เช่นกัน

ยิ่งไปกว่านั้นในกฎหมายยังกำหนดรายละเอียดความเร็วสูงสุดของรถแต่ละประเภทเอาไว้ด้วย ไม่ใช่ว่าขับขี่รถอะไรก็ได้แล้วจะวิ่งบนทางหลวงได้สูงสุดถึง 120 กม./ชม. ได้แก่ รถบรรทุกน้ำหนักเกิน 2,200 กก. บรรทุกคนโดยสารเกิน 15 คน กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 90 กม./ชม. รถลากจูง, รถยนต์ 4 ล้อเล็ก, รถยนต์ 3 ล้อ กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 65 กม./ชม.

รถจักรยานยนต์ กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 80 กม./ชม. รถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไป หรือมีความจุกระบอกสูบตั้งแต่ 400 ลบ.ซม. ขึ้นไป กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 100 กม./ชม. รถโรงเรียน, รถรับส่งนักเรียน กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 80 กม./ชม. รถบรรทุกคนโดยสารเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 15 คน กำหนดความเร็วสูงสุดไม่เกิน 100 กม./ชม.

และมีเพียงรถยนต์ทั่วไปเท่านั้นที่ทำความเร็วสูงสุดไม่เกิน 120 กม./ชม.

ดังนั้น ประเด็นรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆในข้อกฎหมายต่างๆนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่กระทรวงคมนาคมต้องเร่งทำความเข้าใจ เพราะหากผู้ขับขี่มีความเข้าใจเนื้อหากฎหมายที่ไม่เหมือนกัน อาจทำให้เกิดความสับสน และเสี่ยงจะเกิดอุบัติเหตุมากกว่าเดิม เช่น ขับช่อง ทางขวาไปแล้วเจอสิ่งกีดขวาง แต่ไม่กล้าลดความเร็วเพราะกลัวจะผิดกฎหมายก็อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาได้ หรือแม้กระทั่งกรณีขับในเลนทางขวาแล้วไม่ใช่วิ่งแช่ยาวตลอดเส้นทาง เมื่อวิ่งแซงขวาแล้วก็ต้องกลับมาเข้าเลนซ้ายเป็นต้น หรือข้อกำหนด การใช้ความเร็วของรถยนต์ประเภทต่างๆก็จำเป็นต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้มากที่สุด

เพราะหลังจากเริ่มประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้เพียงไม่กี่วัน ก็จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ที่คนไทยจะใช้รถใช้ถนนเดินทางสัญจรข้ามจังหวัดกันจำนวนมาก กฎหมายฉบับนี้จึงอาจกลายเป็นดาบสองคม ทำให้เกิดผลดีหรือเสียขึ้นมาได้ หากขาดความเข้าใจที่ดีพอ.

สุรางค์ อยู่แย้ม