ใบจุดตากบ...เป็นอีกโรคจากเชื้อราที่มักเกิดกับผักสลัด โดยเฉพาะผักที่มีใบกว้าง เช่น กรีนคอส บัตเตอร์เฮด ฯลฯ ในระยะที่มีฝนตกและฝนตกหนัก เอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อรา กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรให้เฝ้าระวังการระบาด
เพราะเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกฤดู แต่จะระบาดมาเป็นพิเศษในฤดูที่มีความชื้นในอากาศสูง อย่างฤดูฝน...แต่ในฤดูร้อน ก็สามารถเกิดโรคนี้ได้ ซึ่งส่วนใหญ่สาเหตุมาจากการสเปรย์น้ำในแปลงปลูกมากเกินไป รวมถึงการระบายอากาศในแปลงปลูกไม่ดี
อาการเริ่มแรกของโรคจะพบแผลเป็นจุดฉ่ำน้ำสีน้ำตาลอ่อนกระจายอยู่ทั่วใบ เมื่อแผลขยายใหญ่ขึ้นจะมีลักษณะกลมหรือค่อนข้างกลม เรียงซ้อนกันเป็นชั้น
กลางแผลมีสีเทาหรือสีขาว และพบเส้นใยของเชื้อราเจริญขึ้นเหนือเนื้อเยื่อของพืช ขอบแผลเป็นสีน้ำตาลลักษณะคล้ายตากบ แผลมีหลายขนาดตั้งแต่จุดเล็กถึงจุดใหญ่ขนาด 1-10 มิลลิเมตร ถ้าอาการรุนแรง แผลจะต่อกันทำให้เกิดอาการใบไหม้ กรณีที่เกิดกับใบอ่อนอาจทำให้เกิดอาการใบหงิกงอได้
การปลูกผักสลัดในแปลงปลูก ควรจะทำแปลงปลูกให้มีการระบายน้ำที่ดี และควรเตรียมดิน โดยไถพรวนดินให้ลึกจากผิวดินมากกว่า 20 เซนติเมตรขึ้นไป และตากดินไว้ให้นานอย่างน้อย 30 วัน เพื่อให้เศษซากพืชและวัชพืชย่อยสลาย อีกทั้งควรใช้เมล็ดพันธุ์ที่ปลอดโรค หรือให้ฆ่าเชื้อที่อาจติดมากับเมล็ดด้วยการแช่ในน้ำอุ่น 49-50 ํC นาน 20-25 นาที
กรณีปลูกผักสลัดในระบบไฮโดรโปรนิกส์ ควรเตรียมพื้นโรงเรือนให้ดีด้วยการโรยหินกรวด เพื่อป้องกันน้ำขังและมีอากาศถ่ายเทสะดวก ภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรควรทำความสะอาดโต๊ะปลูก
หากเริ่มพบโรคใบจุดตากบ ให้พ่นด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืชเบโนมิล 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 12 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 80 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ถ้าพบโรคระบาดรุนแรง ให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นสลับหมุนเวียนอย่างน้อย 3 ปี.
...
สะ-เล-เต