น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการเพิ่มศักยภาพในการป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสุกร ด้วยการพัฒนาระบบฐานข้อมูลผ่านแอปพลิเคชันประเมินความเสี่ยงฟาร์มและรายงานโรคระบาดสัตว์ E-SMART PLUS เป็นนวัตกรรมที่กรมปศุสัตว์ ได้ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรฯ และศูนย์ความเป็นเลิศทางสารสนเทศศาสตร์ชีวเวชและสาธารณสุข คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาขึ้น โดยมีองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (USAID) สนับสนุนทุนวิจัย
“เป็นแอปพลิเคชันที่นำมาใช้ประเมินความเสี่ยงการเกิดโรค 6 ชนิด โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) โรคระบบสืบพันธุ์และระบบทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (PED) โรคอหิวาต์สุกร (CSF) และโรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ (Nipah) แบบเรียลไทม์ หากพบว่าฟาร์มสุกรใด มีความเสี่ยงเกิดโรคดังกล่าว จะมีคำแนะนำเพื่อปรับปรุงฟาร์มให้สามารถป้องกันโรคได้ เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่ทำงานวางแผนเฝ้าระวังป้องกันโรคได้มีประสิทธิภาพและรวดเร็ว”
...
ดร.วีรพงษ์ ธนพงษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการควบคุมป้องกันโรค ระหว่างสัตว์และคน กลุ่มระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ บอกว่า การทำงานของแอปพลิเคชันอีสมาร์ทพลัส จะเริ่มจากเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ ออกจัดเก็บพิกัดที่ตั้งฟาร์ม อายุ และจำนวนสุกรที่เลี้ยง ระบบการจัดการฟาร์ม ร่วมกับแผนที่แสดงความเสี่ยงระดับพื้นที่ สร้างฐานข้อมูลใช้วิเคราะห์การประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดโรคทั้งในระดับฟาร์มขนาดเล็ก ไปจนถึงระดับฟาร์มขนาดใหญ่ ผ่านระบบดาวเทียม จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ภาคสนาม สามารถวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยง พร้อมให้คำแนะนำได้ทันที หากพบว่าพื้นที่ใดมีความเสี่ยง หรือเกิดการระบาดขึ้น เจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอด 24 ชม. ทำให้สามารถควบคุมป้องกันโรคได้ทันเวลา
แอปพลิเคชัน อีสมาร์ทพลัส ที่คิดค้นพัฒนาขึ้นได้ถูกนำมาเปิดตัวในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2563 (Thailand Research Expo 2020) ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลเวิลด์ ไปจนถึง 6 ส.ค.นี้.