(แฟ้มภาพ)
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จะเห็นได้ว่าในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาท้องถิ่นแต่ละแห่งมีการพัฒนาความเจริญรุดหน้าไปไกล
โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งเรื่องสาธารณูปโภค การศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในถิ่นห่างไกล
องค์การบริหารส่วนตำบลเวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เป็นอีกหนึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีผลงานการพัฒนาประเทศ จนได้รับการคัดเลือกจาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ด้วยผลงาน “ดีเด่น” ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปี 2562 จากโครงการ “ต้นสาย...สู่ปลายน้ำในสิ่งที่พ่อ...ทรงมอบให้”

...
นายนิวัฒน์ ปะระมา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเวียงตาล เปิดเผยว่า ชาว ต.เวียงตาล ได้นำบทเรียนที่ประสบปัญหาภัยแล้งหนักในปี พ.ศ.2559 มาเป็น “โมเดล” ในการแก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยการร่วมแรงร่วมใจสร้างฝายดักตะกอนทรายไม่ให้ไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำแม่ตาลน้อย
สำหรับ “อ่างเก็บน้ำแม่ตาลน้อย ตามแนวพระราชดำริ” มีความกว้าง 6 เมตร ความยาว 200 เมตร ความสูง 18 เมตร ความจุที่เก็บกักน้ำได้ 888,000 ลูกบาศก์เมตร พื้นที่รับน้ำ 12 ตารางเมตร
มีพื้นที่ได้รับประโยชน์รวมทั้งหมด 3,578 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ของ อ.ห้างฉัตร ประชาชนได้ใช้น้ำทางการเกษตรและสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่าต้นน้ำ ซึ่งแต่เดิมมีการตัดไม้ทำลายป่า ไม่มีต้นไม้ช่วยยึดหน้าดินส่งผลให้ตะกอนจำนวนมากไหลทะลักลงสู่ท้องอ่างจนมีสภาพตื้นเขิน

นายนิวัฒน์ เปิดเผยอีกว่า เพื่อให้อ่างเก็บน้ำแม่ตาลน้อย ตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้ใช้ประโยชน์ จึงได้จัดตั้งกลุ่มฟื้นฟูรักษ์ต้นน้ำแม่ตาลน้อยขึ้น
โดยคณะกรรมการหมู่บ้านและคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ได้ร่วมกันศึกษาและสำรวจข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่เส้นทางไหลของน้ำไปสู่พื้นที่การเกษตรอย่างมีระบบและทั่วถึง

...
ด้าน นายวุฒิพล มณฑาทอง ปลัด อบต.เวียงตาล กล่าวว่า จากการที่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้คัดเลือกให้ อบต.เวียงตาล มีผลงาน “ดีเด่น” ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประจำปีงบประมาณ 2562 นั้น ถือว่าเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการดำเนินงานของ อบต.เวียงตาล เป็นอย่างมาก

รวมทั้งกัลยาณมิตรจากหลายฝ่าย ร่วมกันพัฒนาอ่างเก็บน้ำแม่ตาลน้อยตามแนวพระราชดำริ ภายใต้โครงการ “ต้นสาย...สู่ปลายน้ำในสิ่งที่พ่อ...ทรงมอบให้” เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูอ่างเก็บน้ำแม่ตาลน้อยอย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมาบ้านแม่ตาลน้อยต้องประสบกับปัญหาน้ำป่าไหลหลากมาตลอด เมื่อหลายฝ่ายมาร่วมกันพัฒนา ส่งผลให้ชาวบ้านอยู่ดีกินดี ปลูกพืชไร่ผสมผสานเกษตรอินทรีย์ ป่ามีความชุ่มชื้น และมีน้ำอุปโภคตลอดทั้งปี
...

...
“ทุกวันนี้อ่างเก็บน้ำแม่ตาลน้อยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ น้ำในอ่างใสสะอาด รอบอ่างมีป่าไม้เขียวขจีร่มรื่น นอกจากนี้ อบต.เวียงตาล ยังนำระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้สูบน้ำผลิตน้ำประปาแจกจ่ายให้กับพี่น้องประชาชน เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่งด้วย” นายวุฒิพล กล่าว

ส่วน นายธีระพงษ์ คำอ้าย อดีตประธานสภา อบต.เวียงตาล และเป็นผู้ใหญ่บ้านบ้านแม่ตาลน้อย เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาต้องขุดลอกท้องอ่างแม่ตาลน้อย เนื่องจากมีตะกอนทรายและเศษไม้ไหลลงอ่าง ตนเห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาไม่ถูกจุด
ด้วยเหตุนี้ จึงได้ร่วมกันสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อดักตะกอน เพราะหากไม่สร้างฝายดักตะกอน จะมีตะกอนไหลลงอ่างประมาณ 70,000 ตันต่อปี
อีกทั้งการสร้างฝายยังเป็นการชะลอน้ำ เก็บน้ำกักน้ำ ทำให้ป่าชุ่มชื้น ตัดปัญหาไฟป่าได้เป็นอย่างดี ส่วนทรายที่ฝายชะลอน้ำดักเก็บไว้ ชาวบ้านได้นำไปทำอิฐบล็อกก่อสร้างรั้วสร้างบ้านได้อีกด้วย

“วันนี้พื้นที่ ต.เวียงตาลไม่ขาดน้ำใช้และชาวบ้านก็ไม่ต้องผวาไฟป่าอีกต่อไปแล้ว เพราะเรามีอ่างเก็บน้ำตามพระราชดำริของ พระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ทรงมองไกล พระราชทานสร้างอ่างแม่ตาลน้อยจนป่าไม้กลับมาเขียวขจีร่มรื่น ชาวบ้านมีน้ำใช้ทำการเกษตร ปลูกผักสวนครัว และมีน้ำบริโภคตลอดปี”
นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่แก้ปัญหาเรื่องน้ำและเรื่องป่าได้อย่างยั่งยืน.

ผสม ติดธรรม