ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ 8 มาตรการเตรียมความพร้อมรองรับฤดูฝนปี 2563 ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ปีนี้สภาพฝนฟ้าจะเป็นเช่นไร แผนรับมือจะช่วยแก้ปัญหาได้ขนาดไหน...ในเมื่อประเทศไทย มี สทนช. หน่วยงานใหม่เข้ามาแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำที่เคยสะเปะ สะปะไปคนละทิศละทางกว่า 30 หน่วยงานให้เดินไปในทิศทางเดียวกันมาแล้ว 3 ปี

“หน่วยงานพยากรณ์อากาศคาดว่า ปีนี้น่าจะมีพายุพัดเข้ามาประมาณ 1-2 ลูก ฝนจะเริ่มมามากตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ในพื้นที่ตอนบนของประเทศ แต่ยังไม่น่าห่วง เพราะเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ ยังมีพื้นที่ว่างที่จะรองรับได้อีกมาก ภาคเหนือจะมีปัญหาหนักใน จ.น่าน เพราะสภาพพื้นที่เป็นภูเขาหัวโล้น ทำให้น้ำป่าหลากไหลลงมาเร็ว ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะมีปัญหาในพื้นที่ริมแม่น้ำโขง โดยเฉพาะ จ.นครพนม
แต่พอล่วงมาปลายสิงหาคม-กันยายน ฝนจะมาตกหนักในพื้นที่ลุ่มภาคกลาง จะเกิดปัญหาน้ำท่วมในที่ลุ่มต่ำเหมือนเดิม การบริหารจัดการน้ำคงไม่สามารถที่จะเอาพื้นที่ 12 ทุ่ง 1.15 ล้านไร่ มาทำเป็นแก้มลิงเก็บน้ำ 1,500 ล้าน ลบ.ม.ได้ เนื่องจากภัยแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทานไม่สามารถส่งน้ำมาให้เกษตรกรทำนาเร็วกว่าฤดูในเดือนพฤษภาคม คงต้องปรับวิธีแก้ปัญหาต่อไป”
...

ส่วนน้ำจะหลากไหลบ่ามาท่วมถึงพื้นที่ตอนล่างของลุ่มเจ้าพระยาอย่าง กทม. ได้หรือไม่ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. บอกว่า ปัญหาคงไม่หนักเท่าปี 2554
เพราะปีนี้ได้นำจุดบกพร่องในอดีตมาแก้ไขให้เป็นระบบมากขึ้น โดยเฉพาะอุปสรรคปัญหาการระบายน้ำทำได้ช้า
โดยเฉพาะผักตบชวา ตัวการสำคัญทำให้น้ำไหลได้ช้าลง 40% ถูกกำจัดไปแล้วกว่า 90%...สิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างอื่น ถนน คอสะพาน สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ 625 แห่ง มีการแก้ไขไปแล้ว 186 แห่ง

และยังมีการขุดลอกคูคลองเตรียมรับน้ำหลากไปแล้วในหลายพื้นที่ เฉพาะ กทม. ที่ผ่านมามีจิตอาสามาช่วยขุดลอกท่อคูคลองไปแล้วเป็นระยะทางกว่า 3,000 กม. พร้อมมีการตรวจเช็กเตรียมความพร้อมของเครื่องสูบระบายน้ำ ที่มักจะมีปัญหาไฟดับ ไฟไม่พอ เครื่องสตาร์ตไม่ติด...วันนี้เตรียมไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว
ถือเป็นปีแรกที่มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องเหล่านี้ไว้แต่เนิ่นๆ
เลขาธิการ สทนช. ยังบอกอีกว่า เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสามารถคาดการณ์สถานการณ์ได้แม่นยำมากขึ้น จะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำข้อมูลมาประมวลผลใหม่...คาดการณ์ในระยะสั้นลงแค่ 4 เดือน

“เนื่องจากปัจจุบันสภาพภูมิอากาศโลกมีการเปลี่ยนแปลงแบบสุดขั้ว ฉะนั้นจะเอาสถิติค่าเฉลี่ย 30 ปี มาใช้เป็นฐานคำนวณเหมือนในอดีตคงไม่ได้อีกแล้ว และถ้ามีพายุเข้ามาจะต้องรู้เส้นทางพายุได้ล่วงหน้า 10 วัน เพื่อให้แต่ละหน่วยงานเตรียมตัวช่วยเหลือชาวบ้านได้ทัน”
และเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำสอดคล้องกับภาวะโลกร้อน ภัยแล้งจะเกิดขึ้นบ่อย การเก็บกักน้ำในเขื่อนต่างๆจะต้องปรับเปลี่ยนใหม่... จากเดิมที่จะเก็บน้ำไว้ให้พอใช้ถึงเดือนพฤษภาคม จะเปลี่ยนมาเป็นต้องเก็บน้ำไว้ใช้ถึงเดือนกรกฎาคม เนื่องจากเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ฝนจะมาช้าไปเรื่อยๆ
...

นอกจากนั้น เพื่อให้มีแหล่งน้ำมาช่วยบรรเทาภัยแล้งได้มากขึ้น ทาง สทนช.ได้เตรียมที่จะเสนอแนวทางให้รัฐบาลออกมาตรการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนและภาคธุรกิจเอกชน สร้างแหล่งเก็บกักน้ำเป็นของตัวเอง ด้วยการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือสร้างแรงจูงใจด้วยลดการหย่อนภาษี
เนื่องจากการให้หน่วยงานราชการเข้าไปขุดสร้างแหล่งน้ำในพื้นที่ของเอกชน กฎระเบียบของราชการนั้น ไม่อนุญาตให้ทำได้ เพราะไม่ใช่พื้นที่สาธารณประโยชน์
นี่คงจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยได้ทั้งแก้ปัญหาท่วมแล้งซ้ำซากและปัญหาเศรษฐกิจไปในตัว...แต่จะเป็นไปได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่า 30 กว่าหน่วยงานด้านน้ำจะพร้อมใจเดินไปในทิศทางเดียวกับ สทนช.หรือไม่ เท่านั้นเอง.
ชาติชาย ศิริพัฒน์