เผยมาตรการล็อกดาวน์ที่ใช้ใน 11 ประเทศแถบยุโรป ช่วยสกัดคนตายจากโควิด-19 ได้ถึง 3 ล้านคน กับที่ใช้ในจีน เกาหลี อิตาลี ฝรั่งเศส สหรัฐฯ ป้องกันและชะลอการติดเชื้อไวรัสอันตรายนี้ได้ถึง 530 ล้านคนในทั่วโลก ขณะที่ผลการสำรวจของสองมหาวิทยาลัยในต่างประเทศระบุ การสวมหน้ากากอนามัยและมาตรการล็อกดาวน์ช่วยลดการแพร่เชื้อได้มาก ส่วนยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกใกล้แตะ 7.5 ล้านคน จับตาอินเดียน่าห่วงป่วยสูงสุด ไทยไร้ผู้ติดเชื้อในวันที่ 11 มิ.ย.

พุ่งทะยานไปถึงเกือบ 7.5 ล้านคนแล้วสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในทั่วโลกแบบรั้งไม่หยุด ฉุดไม่อยู่ เสียชีวิตวันเดียวกว่า 5 พันคน ขณะที่ประเทศไทยในวันที่ 11 มิ.ย.ไม่พบผู้ติดเชื้อ

ป่วยโควิดในไทยเป็น 0

ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (ศบค.) แถลงถึงสถานการณ์โควิด-19 ว่า วันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ราย แต่ยังต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการติดเชื้อคือ สวมหน้ากาก ล้างมือ และรักษาระยะห่างทางสังคม สำหรับผู้ป่วยสะสมมี 3,125 ราย ป่วยติดเชื้อภายในประเทศ 2,444 ราย ผู้ป่วยที่พบในสถานที่กักกันรวม 188 ราย วันนี้ผู้ป่วยรักษาหาย 6 ราย รวมรักษาหายกลับบ้านได้แล้ว 2,987 ราย รักษาตัวในโรงพยาบาล 80 ราย ส่วนผู้เสียชีวิตไม่มีเพิ่มคงอยู่ที่ 58 ราย

...

ผู้ป่วยสูงสุด 4 อาชีพจาก ตปท.

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวต่อว่า ผู้ป่วยหากจำแนกตามเพศ ยังคงเป็นผู้ป่วยเพศชายสูงกว่าหญิง หากจำแนกตามการรักษามากสุดยังคงเป็นกรุงเทพฯ นนทบุรี ภาคใต้ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือตามลำดับ โดยอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 39 ปี กลุ่มอายุที่มีผู้ป่วยสูงสุดคือ 20-29 ปี ผู้ป่วยจำแนกตามอาชีพจะพบว่าในช่วง 2 สัปดาห์ล่าสุด 4 อันดับ คือ นักเรียนนักศึกษา พนักงานนวด รับจ้างทั่วไป พนักงานโรงงานและบริษัท เพราะผู้ป่วย 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่มาจากต่างประเทศพักในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ ส่วนผู้ป่วยยืนยันสะสมใน 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบผู้ป่วย 100% มาจากต่างประเทศ หากจำแนกตามปัจจัยเสี่ยงจะเห็นว่าผู้ป่วย 100% เดินทางกลับมาจากต่างประเทศมากสุด คือ คูเวต 28 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 10 ราย ซาอุดีอาระเบีย 7 ราย อินเดีย 3 ราย และปากีสถาน 3 ราย

ทั่วโลกป่วยสะสมกว่า 7.4 ล้านคน

พญ.พรรณประภากล่าวต่อว่า ส่วนสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกพบผู้ป่วยสะสม 7,452,809 ราย โดยในวันเดียวมีผู้ป่วยรายใหม่ 134,000 ราย เสียชีวิตวันเดียวมากกว่า 5,000 ราย โดย 3 ประเทศที่มีผู้ป่วยสะสมมากที่สุดยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา บราซิล และรัสเซีย จำนวนผู้ป่วยรายใหม่ที่สูงสุดของโลกในวันนี้คือ บราซิล 33,000 ราย รองลงมาสหรัฐอเมริกา 20,852 ราย อินเดีย 11,009 ราย ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากสุดในรอบ 24 ชั่วโมง ที่ผ่านมาคือบราซิล 1,300 ราย สหรัฐฯ 982 ราย เม็กซิโก 708 ราย ส่วนไทยยังคงอยู่ที่อันดับ 85 ของโลก สถานการณ์โควิด-19 ในแถบเอเชีย อินเดียยังเป็นประเทศที่มีผู้ป่วยสูงสุดเกือบ 287,155 ราย ตามด้วยปากีสถาน บังกลาเทศ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ส่วนเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ยังพบผู้ป่วยรายใหม่อย่างต่อเนื่องที่ 41 ราย และ 45 ราย ดังนั้นอินเดียจึงเป็นประเทศที่ต้องจับตาดูในเอเชีย

ผลวิจัยชี้ล็อกดาวน์ช่วยสกัดตายอื้อ

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวต่อว่า ประเด็นที่น่าสนใจในต่างประเทศคือ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา ที่ห้ามเดินทางข้ามแดนระหว่างกันและจะหมดเขตคำสั่งในวันที่ 21 มิ.ย. แต่มีแนวโน้มว่าทั้งสหรัฐฯและแคนาดาจะขยายเวลาห้ามเดินทางข้ามแดนออกไปอีก 1 เดือน อีกประเด็นคือ เรื่องการล็อกดาวน์ มีการศึกษาวิจัยล่าสุดของมหาวิทยาลัย Imperial College of London พบว่ามาตรการล็อกดาวน์ใน 11 ประเทศ ยุโรป เช่น เบลเยียม อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สเปน รวมทั้งการสั่งปิดธุรกิจที่ไม่สำคัญและโรงเรียนนั้น สามารถช่วยป้องกัน ไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ได้ถึง 3 ล้านราย ส่วนรายงานอีกชิ้นหนึ่งจัดทำในสหรัฐอเมริกาก็พบว่ามาตรการล็อกดาวน์ ที่นำมาใช้ในประเทศจีน เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่าน ฝรั่งเศส สหรัฐฯ ได้ช่วยป้องกันและชะลอการติดเชื้อโควิด-19 ได้ประมาณ 530 ล้านคนทั่วโลก

สวมหน้ากากลดแพร่เชื้อ

พญ.พรรณประภา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยจาก มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และมหาวิทยาลัยกรีนิซ ระบุ การล็อกดาวน์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถยับยั้งการระบาดของโรคโควิด-19 แต่หากประชาชนทุกคนร่วมมือกันสวมหน้ากากในที่สาธารณะจะสามารถลดการแพร่เชื้อได้อย่างสำคัญ

หลังผ่อนปรนคนแห่ออก ตจว.

วันเดียวกัน ภญ.วลัยพร พัชรนฤมล ผอ.กองการ ต่างประเทศและสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ เปิดเผยถึงผลสำรวจประชาชนทั่วประเทศ เรื่องการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระหว่างมาตรการผ่อนปรน ระหว่างวันที่ 8 พ.ค.- 4 มิ.ย. พบว่า ภาพรวมประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกัน ตัวเองในระดับที่ดี แต่เมื่อรัฐบาลมีการผ่อนปรนกิจการ/ กิจกรรม พฤติกรรมการป้องกันตนเองที่ดี ก็ลดลงเล็กน้อย กว่า 20% ประชาชนเริ่มมีการเดินทางออกนอกจังหวัด และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น การออกไปในสถานที่ต่างๆ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่าส่วนใหญ่ออกไปทำงาน ไปตลาดสด ซุปเปอร์มาร์เกต ร้านอาหารแบบนั่งทาน และตามสถานที่ต่างๆ แต่พบว่าพบสถานที่ต่างๆ จัดมาตรการป้องกันแต่ยังทำได้ไม่เต็มที่

...

ไม่เห็นด้วยเข้า ปท.ไม่กักตัว

เมื่อถามความเห็นการเปิดเส้นทางการบินระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่เห็นว่ายังไม่ควรเปิดช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. แต่ครึ่งหนึ่งอยากให้กลับมาเปิดช่วงเดือน ต.ค. ส่วนการเดินทางเข้าประเทศทั้งทางบก น้ำ และอากาศ มีไม่ถึง 1% ที่เห็นควรเปิดให้คนไทยและชาวต่างชาติเข้าไทยได้โดยไม่ต้องคัดกรองและไม่ต้องกักตัว 14 วัน กว่า 60% เห็นว่ายังไม่ควรให้ ชาวต่างชาติเข้าประเทศ ข้อสรุปที่สำคัญของการสำรวจ ครั้งนี้ คือพบว่าประชาชนยังปฏิบัติมาตรการป้องกันตนเองได้ดีพอสมควร แต่ขอให้ดีเพิ่มขึ้น เช่น การ สวมใส่หน้ากากอนามัย มาตรการป้องกันในสถานที่ ต่างๆควรเป็น 100% เต็ม จากข้อมูลสำรวจทั้งหมดจะรวบรวมนำไปพัฒนาต่อ ขอชวนทุกคนช่วยกันตอบแบบสอบถามทุกสัปดาห์ เพื่อทราบถึงสถานการณ์และแนวทางที่ควรเป็นของประเทศ โดยดาวน์โหลดได้ที่ www.อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ.com

พบวัยรุ่นการ์ดตกไม่สวมแมสก์

...

ขณะที่ นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค เผยผลการสำรวจความคิดประชาชนแบบออนไลน์ ครั้งที่ 8 ซึ่งเข้าสู่ระยะการผ่อนปรนในเฟส 3 ช่วงวันที่ 1-6 มิ.ย. จำนวน 1,287 ตัวอย่าง เรื่องการสวมหน้ากากอนามัยและการล้างมือ พบว่า เมื่อมีไข้ หรือไอ เจ็บ คอ ร้อยละ 93 จะมีการสวมหน้ากากอนามัย ร้อยละ 66.8 ไม่สวมหน้ากากอนามัย เมื่อไม่มีไข้ ไอ เจ็บคอ ร้อยละ 53.5 จะยังคงสวมหน้ากากอนามัยต่อไป ร้อยละ 44 จะเลิกสวมหน้ากากอนามัย ต่อเมื่อไม่มีรายงานผู้ป่วยโควิด ส่วนการล้างมือ ส่วนใหญ่ประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ ก่อนและหลังรับประทานอาหาร หากจำแนกตามเพศ พบว่า เพศหญิงให้ความร่วมมือในทุกกิจกรรมมากกว่า ชาย ขณะที่กลุ่มคนอายุ 15-24 ปี ร้อยละ 15.65 ไม่สวมหน้ากากอนามัย

ไม่พบโควิดในประเทศ 17 วัน

นพ.อนุพงศ์กล่าวย้ำว่า มาตรการการสวมหน้ากาก อนามัยยังต้องคงไว้ เพราะเราไม่สามารถทราบได้ว่า ใครติดเชื้อหรือไม่ เพราะการผ่อนคลายกิจกรรมและ กิจการต่างมีการรวมตัวของคนจำนวนมาก วันนี้เข้าสู่ วันที่ 17 วันแล้วที่ประเทศไทยไม่พบการติดเชื้อในประเทศ แต่ยังต้องตั้งการ์ดต่อไป จนกว่าจะไม่พบ ผู้ป่วยติดกันเป็นเวลา 28 วัน ถึงจะสบายใจได้ เชื่อ การเผชิญกับโควิด-19 ยังคงมีไปอีกนานอย่างน้อย 1 ปี ดังนั้น จึงอยากให้คิดเสมอว่า หน้ากากอนามัยเป็นปัจจัยที่ 6 ของชีวิต นอกจากปัจจัย 4 พื้นฐาน และปัจจัยที่ 5 โทรศัพท์มือถือ

...

ทยอยกลับมาทุกวัน

ส่วนการเดินทางกลับภูมิลำเนาของคนไทยต่างแดน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วันเดียวกันนี้มีคนไทยในไต้หวันรวม 300 คน เดินทางโดยเครื่องบินมาลงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ กับท่าอากาศยานดอนเมือง เริ่มจากสายการบินอีวาแอร์ เที่ยวบินที่ BR201 นำ 50 คนไทยมาถึงตอนเที่ยง ในจำนวนนี้ตรวจพบมีไข้ 1 คน ในเวลา 16.30 น. เดินทางมาอีก 130 คน ด้วยสายการบินไทยสมายล์ เที่ยวบินที่ WE8113 พบผู้เดินทางมีไข้ 8 คน เวลา 18.20 น. สายการบินไทยแอร์เอเชีย เที่ยวบินที่ FD9113 นำคนไทยจากไต้หวันมาอีก 120 คน เวลา 17.45 น. สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ เที่ยวบินที่ SL211 นำคนไทยจากอินโดนีเซีย 197 คน กลับมา โดยทั้ง 2 เที่ยวบินนี้เครื่องลงที่ท่าอากาศยานดอนเมือง

ปรึกษาหมอผ่านแอป

ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นพ.ชาตรี เมธาธราธิป ผอ.ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ดร.อภิรชัย วงษ์ศรีวรพล ผอ.อุทยานวิทยาศาสตร์ นายกฤษดา อารัมภวิโรจน์ กก.ผจก.บริษัท เอเวอรี่เดย์ ด็อกเตอร์ จำกัด ร่วมแถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชันไลน์ “Every Doctor” เพื่อให้คำปรึกษาทางการแพทย์แก่ประชาชน นพ.ชาตรีเปิดเผยว่า ศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น ร่วมกับภาครัฐและเอกชน สร้างแพลตฟอร์มใช้ควบคุมการระบาดไวรัสโควิด-19 รวมถึงต่อยอดลดความแออัดการเข้ารับบริการที่โรงพยาบาล พัฒนาแอปพลิเคชันนี้ เพื่อให้ประชาชนขอรับคำปรึกษาแพทย์จิตอาสากว่า 200 คน ผ่านระบบออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง การใช้งานไม่ยุ่งยาก เมื่อเข้ามาในระบบแล้ว บันทึกข้อมูลตนเองเพื่อยืนยันตัวบุคคล จากนั้นขอรับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทางหรือแพทย์ทั่วไปหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันมา โดยพูดคุยผ่านวิดีโอคอลสอบถามอาการต่างๆโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

มะกันทะลุ 2 ล้าน–ยอดพุ่ง 20 รัฐ

สำหรับความคืบหน้าสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในต่างแดน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ว่า ยอดผู้ติดเชื้อทั่วโลกได้เพิ่มเป็น 7.48 ล้านคน เสียชีวิตรวมมากกว่า 420,000 คน โดยการแพร่ระบาดพบสูงสุดที่สหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อทะลุ 2.06 ล้านคนอย่างเป็นทางการ เสียชีวิตรวมมากกว่า 115,000 คน ขณะที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส ของสหรัฐฯรายงานว่า ตลอด 7 วันที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้เพิ่มขึ้นใน 20 รัฐ ทั้งแคลิฟอร์เนีย เท็กซัส ฟลอริดา นอร์ทแคโรไลนา เซาท์แคโรไลนา อริโซนา เทนเนสซี วอชิงตัน มิสซูรี ยูทาห์ เคนตักกี อาร์คันซอ เนวาดา นิวเม็กซิโก โอเรกอน ไอดาโฮ เวอร์มอนต์ มอนทานา อลาสกา และฮาวาย แต่ทางการชี้แจงว่าเพิ่มขึ้นเนื่องจากทางการยกระดับการตรวจหาเชื้อ

หวั่นสถานการณ์แอฟริกา

ขณะที่นายมัตชิดิโซ โมเอติ ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำภูมิภาคแอฟริกา ออกแถลงเตือนสถานการณ์การแพร่ระบาดในภูมิภาคว่า กำลังลุกลามอย่างน่าวิตกกังวล จากที่การแพร่ระบาดจำกัดวงอยู่ในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ๆกลายเป็นว่าเริ่มแพร่ระบาดไปยังพื้นที่ชนบทแล้ว ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อรวมของแอฟริกาพุ่งสูงเกิน 200,000 คน เสียชีวิตรวม 5,689 คน และ 5 อันดับประเทศที่พบการติดเชื้อมากที่สุด คือแอฟริกาใต้ ตามด้วยอียิปต์ ไนจีเรีย แอลจีเรีย กานา

ยูเครนปรับผู้นำละเมิดระยะห่าง

ที่ยูเครน ทำเนียบประธานาธิบดีเปิดเผยว่า นายโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ถูกตำรวจสั่งปรับเงิน 1,250 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 40,000 บาท หลังละเมิดมาตรการรักษาระยะห่างทางสังคม เข้าไปนั่งหารือจิบกาแฟในร้านคาเฟ่แห่งหนึ่ง ในเมืองคีเมลนิตสกี ภาคกลางของ ประเทศ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ร่วมกับคณะทำงาน ผู้ว่าการจังหวัดและนายกเทศมนตรี แต่มิได้เผยรายละเอียดเพิ่มเติมว่าสมาชิกรายอื่นที่ร่วมโต๊ะกาแฟถูกปรับเงินด้วยหรือไม่ ซึ่งต่อมานายเซเลนสกีแถลงว่า ตำรวจทำถูกต้องแล้ว พร้อมกล่าวว่า มีช่วงหนึ่งที่ตนพยายามติดเชื้อโควิด-19 เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่า สถานการณ์แพร่ระบาดน่ากลัวกว่าที่คิด ส่วนที่รัสเซีย ยอดผู้ติดเชื้อรวมทะลุ 500,000 คนอย่างเป็นทางการ เสียชีวิตรวม 6,532 คน

ปักกิ่งพบติดเชื้อในรอบ 2 เดือน

วันเดียวกัน หนังสือพิมพ์พีเพิล’ส เดลี ของรัฐบาลจีน รายงานว่า ที่กรุงปักกิ่งมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 และแสดงอาการป่วย เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 เดือน โดยจากการตรวจสอบพบว่าเป็นชาวจีน วัย 52 ปี ที่เข้าติดต่อขอรับการตรวจร่างกาย ในคลินิกชุมชน หลังพบว่าตัวเองมีไข้สูง นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ป่วยไม่เคยมีประวัติเดินทางออกจากพื้นที่กรุงปักกิ่ง ทั้งไม่ได้ใกล้ชิดกับใครที่เดินทางมาจากต่างประเทศในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

สายการบินยุโรปโละ พนง.

นอกจากนี้ สำนักข่าวบีบีซีอังกฤษ รายงานว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินอย่างหนัก โดยวันเดียวกัน บริษัทท่าอากาศยานนานาชาติฮีทโธรว์ ในกรุงลอนดอน ประกาศโครงการให้พนักงานสมัครใจลาออก หลังจัดประชุมหารือกับกลุ่มสหภาพต่างๆ แต่ยังไม่เผยรายละเอียดเพิ่มเติม ก่อนหน้านี้ สนามบินฮีทโธรว์เผยว่า จากผลกระทบของสถานการณ์ไวรัส ได้ทำให้พนักงาน 25,000 คน หรือประมาณ 3 ใน 4 ตกอยู่ในความเสี่ยงถูกเลิกจ้าง ส่วนบริษัทสายการบินลุฟต์ฮันซาของเยอรมนี ก็ประกาศจะลดจำนวนพนักงาน 22,000 คน แต่อยู่ระหว่างรอหารือเพิ่มเติมกับกลุ่มสหภาพแรงงานในวันที่ 22 มิ.ย.นี้

โตเกียวเปิดธุรกิจสัปดาห์หน้า

ด้านหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวัน นิคเคอิ ของญี่ปุ่น รายงานว่าทางการท้องถิ่นกรุงโตเกียวของญี่ปุ่นมีแผนเปิดธุรกิจทั้งหมดในวันที่ 19 มิ.ย. หลังผ่อนคลายมาตรการเข้มงวดมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งนี้ ญี่ปุ่นตรวจพบผู้ติดเชื้อรวม 17,251 คน เสียชีวิตรวม 919 คน ขณะที่รัฐบาลได้ยกเลิกประกาศภาวะ ฉุกเฉินเมื่อปลายเดือน พ.ค.

มาเลเซียห้ามไปพิธีฮัจญ์

ที่มาเลเซีย มีผู้ติดเชื้อรวม 8,369 คน ผู้เสียชีวิต 118 คนนั้น ทางรัฐบาลได้ประกาศห้ามพลเมืองเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ซาอุดีอาระเบียในปีนี้เพราะห่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 และไม่มีวัคซีนป้องกัน ก่อนหน้านี้ อินโดนีเซียที่มีผู้ติดเชื้อรวม 35,295 คน ผู้เสียชีวิต 2,000 คน ห้ามพลเมือง ไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่ซาอุฯด้วยเหตุผลเดียวกัน ด้านสิงคโปร์ มีผู้ติดเชื้อรวม 39,387 คน ผู้เสียชีวิต 25 คน ฟิลิปปินส์ มีผู้ติดเชื้อรวม 24,175 คน ผู้เสียชีวิต 1,036 คน