วันนี้ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 คํ่า เดือน 6 เป็น “วันวิสาขบูชา” วันสำคัญทางพุทธศาสนา เป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน ตรงกับวันนี้ทั้ง 3 เหตุการณ์ ชาวพุทธจึงจัดให้มี พิธีบูชาวันวิสาขบูชา หรือ พุทธชยันตี ในวันสำคัญนี้ ประเทศไทยมีพิธีพุทธชยันตีมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย 800 ปีมาแล้ว องค์การสหประชาชาติ ก็ยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก

หลักธรรมสำคัญที่พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ในวันนี้ก็คือ อริยสัจ 4 หรือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อยู่ที่ใครจะเข้าใจและนำหลักธรรมอันประเสริฐนี้ไปใช้ในการดำรงชีวิตเพื่อความสุขความเจริญรุ่งเรือง

ความจริงธรรมะที่ พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้มีมากมายถึง 84,000 พระธรรมขันธ์ ต้องบันทึกไว้เป็น พระไตรปิฎกถึง 3 เล่ม อ่านทั้งชีวิต ก็ไม่จบ ที่สำคัญก็คือ “หัวใจของพระพุทธศาสนา” ที่พระพุทธเจ้า ทรงตรัสรู้ ผมขอเรียนว่าผมเองก็ไม่รู้ซึ้ง จึงขออนุญาตนำคำอธิบายของ ท่านพุทธทาส ที่อธิบายไว้อย่างง่ายๆมาเล่าสู่กันฟัง เพื่อนำไปเป็น “หลัก” ในการดำรงชีวิตท่ามกลางความทุกข์ในยุคที่ต้องเผชิญกับมหาภัย ไวรัสโควิด-19 เวลานี้

ขอเชิญอ่านได้เลยครับ

“เมื่อถามกันว่าอะไรเป็น หัวใจพระพุทธศาสนา? คงจะมีคนตอบว่า อริยสัจ 4 ประการบ้าง หรือเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาบ้าง หรือบางคงก็อ้างหลักว่า สพฺพปาปสฺส อกรณ์ กุสลสฺสูปสมฺป ทาสจิตฺตปริโยนปนํ เอตํ พุทธานสาสนํ “ไม่ทำชั่วทั้งปวง ทำความดีให้เต็ม ทำจิตให้บริสุทธิ์ นี้คือหัวใจพระพุทธศาสนา” อย่างนี้ก็ได้ ถูกเหมือนกัน แต่มันถูกน้อยที่สุด และว่าเอาเองด้วย แล้วก็ยังเป็นเรื่องว่าตามๆกันไปด้วย ไม่ได้เห็นเอง ไม่ได้เห็นจริงด้วยตัวเอง

...

สิ่งที่เป็น หัวใจของพระพุทธศาสนา นั้น อาตมาอยากจะแนะถึงประโยคสั้นๆ ที่มีกล่าวอยู่ว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น”

คือเรื่องมันมีอยู่ในพระบาลี มัชฌิมนิกาย ว่า คราวหนึ่งมีคนไปทูลถาม พระพุทธเจ้า โดยทูลว่า พระพุทธวจนะทั้งหมดที่ตรัส ถ้าจะสรุปให้สั้นเพียงประโยคเดียวได้หรือไม่ จะว่าอย่างไร พระพุทธเจ้า ท่านว่าได้ พระองค์ตรัสว่า “สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย” สพฺเพ แปลว่า สิ่งทั้งปวง, นาลํ แปลว่า ไม่ควร, อภินิเวสาย เพื่อจะยึดมั่นถือมั่น, สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น แล้วพระองค์ก็ย้ำลงไปอีกทีหนึ่ง ว่า ถ้าใครได้ฟังความข้อนี้ คือได้ฟังทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ถ้าได้ปฏิบัติข้อนี้ ก็คือได้ปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ถ้าได้รับผลจากการปฏิบัติข้อนี้ ก็คือได้รับผลทั้งหมดในพระพุทธศาสนา”

นี่แหละครับ หัวใจพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ทรงสรุปออกมาสั้นๆเพียงประโยคเดียวคือ “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” และ ท่านพุทธทาส บอกว่าเมื่อปฏิบัติเพื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ผลที่จะได้รับก็คือ

“เป็นจิตที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นอะไร เป็นจิตที่ว่างที่สุด จึงถือว่าเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ถ้าใครเข้าถึงความจริงข้อนี้ สิ่งทั้งปวงล้วนแต่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ก็แปลว่า มันไม่มีเชื้อที่จะเกิดโรค เป็นโลภ โกรธ หลง หรือการกระทำผิดอย่างอื่น ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ และเมื่อ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ประดังกันเข้ามา เชื้อต่อต้านภายในที่ว่า “สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น” จะเป็นเชื้อต้านทานโรคอย่างยิ่ง มันไม่รับเชื้อโรค หรือว่ารับเข้ามาเพื่อทำลายให้หมดไป มันไม่ก่อเชื้อลุกลามเป็นโรคขึ้นมาได้ เป็นอำนาจต้านทานโรค (immunity) อย่างสูงสุดอยู่เรื่อย

นี่แหละคือ หัวใจของพระพุทธศาสนา หรือ หัวใจของธรรมะทั้งหมด ที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดมั่นถือมั่น

ผมก็นำมาฝากท่านผู้อ่านใน วันวิสาขบูชานี้ครับ ทุกสิ่งในโลกนี้ล้วนเกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป จึงไม่ควรยึดมั่นถือมั่นจนเกิดอัตตา ตัวกู ของกู สุดท้ายก็ไปแต่ตัว.

“ลม เปลี่ยนทิศ”