เพิ่มความแม่นยำผลโรคโควิด-19 nคุมคุณภาพสิ่งส่งตรวจ-กันแปลผลผิด

ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) เปิดเผยว่า ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ระบุว่า การตรวจโรคติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย ทำได้ 2 วิธี วิธีแรกคือ real-time RT-PCR ซึ่งเป็นการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัส โดยขูดเก็บเยื่อบุในคอหรือเยื่อหลังโพรงจมูก ใช้เวลา 3-5 ชั่วโมง ต้นทุน 2,500-3,000 บาท/ครั้ง ผู้ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้ารับการตรวจได้ฟรี วิธีที่สอง คือ Rapid test เป็นการตรวจหาภูมิคุ้มกันในเลือด ต้องตรวจหลังมีอาการป่วย 5-7 วัน หรือได้รับเชื้อมาแล้ว 10-14 วัน ร่างกายจึงจะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต้านเชื้อโรค ใช้เวลา 15 นาที ค่าตรวจประมาณ 200-500 บาท โดยวิธี real-time RT-PCR เป็นวิธีมาตรฐานที่ต้องทำในห้องแล็บที่ได้รับมาตรฐานเท่านั้น และเป็นวิธีเดียวที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก และกระทรวงสาธารณสุขไทย ว่าเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วตั้งแต่ระยะแรกของการเกิดโรค

ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าวต่อว่า การตรวจด้วยวิธี real-time RT-PCR ต้องมีประสิทธิภาพ แม่นยำ เที่ยงตรง และได้มาตรฐาน วิธีการเก็บตัวอย่างโดยการขูดเก็บเยื่อบุในคอ หรือเยื่อหลังโพรงจมูกออกมาตรวจหาเชื้อนั้น ต้องระวังการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จึงต้องทำในห้องปฏิบัติการที่ได้รับมาตรฐานเท่านั้น ทั้งนี้คณะเทคนิคการแพทย์ มม. ได้รับคำแนะนำจาก ศ.ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ นักไวรัสวิทยา ได้ออกแบบกระบวนการทดสอบเพิ่มเติม โดยอาศัยการตรวจวิเคราะห์ RNA ในส่วนของยีนเจ้าบ้าน (Housekeeping gene) จากเซลล์มนุษย์ เป็นวิธีที่สามารถช่วยตรวจสอบคุณภาพตัวอย่างตรวจ และป้องกันการแปลผลลบผิดพลาด นับเป็นห้องปฏิบัติการตรวจโควิด-19 แห่งแรกของประเทศไทยที่ริเริ่มนวัตกรรมดังกล่าว โดยเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ แม่นยำ เที่ยงตรง และได้มาตรฐาน

...

“การนำยีนเจ้าบ้านหรือ Housekeeping gene เข้ามาวิเคราะห์ร่วมด้วย เพื่อดูสัญญาณการเพิ่มขึ้นของยีนที่บ่งชี้ในเบื้องต้นว่า มีเซลล์ของมนุษย์ หรือเซลล์เจ้าบ้านอยู่ในสิ่งส่งตรวจอย่างเหมาะสมหรือไม่ โดยดูผลร่วมกับการวิเคราะห์หา RNA ของเชื้อไวรัส ทำให้ได้ผลการตรวจที่แม่นยำขึ้น ทำให้กระบวนการควบคุมคุณภาพสิ่งส่งตรวจ และการแปลผลปฏิกิริยามีความถูกต้องมากขึ้น เพิ่มความมั่นใจในการรายงานผลให้แก่โรงพยาบาลต่างๆได้เป็นอย่างดี ตลอดจนเป็นการพิสูจน์ถึงศักยภาพทางวิชาการและการวิจัยด้านเทคนิคการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งกำลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังภารกิจพิชิตโควิด-19” ศ.ดร.ฉัตรเฉลิม กล่าวและว่า ห้องปฏิบัติการคณะเทคนิคการแพทย์ มม. เปิดให้บริการตรวจวินิจฉัยโรคโควิด-19 โดยวิธี real-time RT-PCR เพิ่มการวิเคราะห์ RNA ในยีนเจ้าบ้าน 2 รอบการทดสอบ คือ เวลา 09.30 น. และ 14.30 น. ทั้งนี้สามารถส่งสิ่งส่งตรวจได้ทุกวันที่ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา.