วันนี้เห็นจะต้องเขียนถึงเรื่องราวความเป็นไปในการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญในประเด็นการกวดขันด้านจริยธรรมของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกประเภทอีกสักครั้ง

ถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติมาตรฐานทางจริยธรรม พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 ใกล้จะครบปีเข้าทุกทีแล้ว และ การประชุมคณะกรรมการมาตรฐานทางจริยธรรม ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องนี้โดยตรงยังไม่อาจจัดขึ้นได้เพราะองค์ประกอบของคณะกรรมการยังไม่ครบเนื่องจากความล่าช้าในการส่งชื่อ ผู้แทน ก.พ.อ. หรือคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษาซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นั่นเอง

อย่างไรก็ตามกฎ หมายดังกล่าวกำหนดให้ ก.พ.มีหน้าที่ควบคุมกำกับให้มี การปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมอย่างทั่วถึงและจริงจัง โดยมีหน้าที่และอำนาจประเมินผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมนี้ ของหัวหน้าส่วนราชการ คณะกรรมการจริยธรรมและข้าราชการทั้งปวง และจัดทำรายงานประจำปีเสนอคณะรัฐมนตรี และผู้ตรวจการแผ่นดิน แล้วเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ

สำนักงาน ก.พ.ได้ขอให้หัวหน้าส่วนราชการประเมินผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมของส่วนราชการ เพื่อจัดทำรายงานเสนอคณะรัฐมนตรีและดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมข้าราชการพลเรือน โดยขอให้ส่งแบบรายงานการประเมินผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมฯให้สำนักงาน ก.พ.ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2562

เรื่องนี้ได้รับการตอบสนองจากส่วนราชการและจังหวัดส่วนใหญ่ด้วยดี โดยส่วนราชการระดับกรม กระทรวง และเทียบเท่าที่มีอยู่ 142 แห่ง กับ 76 จังหวัด รวม 218 ส่วนราชการ ได้รายงานกลับมาตามกำหนด หรือจะช้าไปบ้างก็เพียงเล็กน้อยใน พ.ศ.เดียวกันคือ 2562

แต่จนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2563 มีส่วนราชการและจังหวัดที่ยังไม่ส่งรายงานผลการปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมไปให้สำนักงาน ก.พ. อีก 33 แห่ง

...

ที่เป็นส่วนราชการระดับกรม/กระทรวงมี 19 แห่ง คือ 1.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ 3.กรมพลศึกษา 4.กรมส่งเสริมการเกษตร 5.กรมส่งเสริมสหกรณ์ 6.สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 7.กรมหม่อนไหม 8.กรมฝนหลวงและการบินเกษตร 9.สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 10.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน 11.กรมทรัพย์สินทางปัญญา 12.กรมการปกครอง 13.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ 14.สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา 15.สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 16.สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา 17.กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก 18.สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย 19.สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม

ที่เป็นจังหวัดมี 14 จังหวัด คือ 1.จังหวัดกระบี่ 2.จังหวัดกาญจนบุรี 3.จังหวัดนครพนม 4.จังหวัดนครราชสีมา 5.จังหวัดปทุมธานี 6.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 7.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 8.จังหวัดเพชรบุรี 9.จังหวัดเพชรบูรณ์ 10.จังหวัดแพร่ 11.จังหวัดระนอง 12.จังหวัดลำปาง 13.จังหวัดสงขลา 14.จังหวัดอุดรธานี

ใครเป็นอธิบดี ใครเป็นเลขาธิการ ใครเป็นผู้อำนวยการ ใครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดของหน่วยงานที่ขานชื่อมาวันนี้อย่าทำเป็นทองไม่รู้ร้อน โปรดเร่งรัดติดตามเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบให้รีบ ดำเนินการตามกฎหมาย เสียด้วย อย่าปล่อยให้เสียชื่อมาถึงตัวท่านที่เป็นเบอร์หนึ่งของหน่วยงาน

ประเดี๋ยวพอมีการจัดทำรายงานถึงคณะรัฐมนตรีและผู้ตรวจการแผ่นดินแล้วไม่มีชื่อของหน่วยงานของท่านว่าได้ดำเนินการใดๆ ไปบ้างแล้ว ก็อย่ามาโวยกันนะ.

“ซี.12”