52 ปีที่แล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้หน่วยงานภาครัฐจัดหาพื้นที่ว่างเปล่าในเขต จ.ประจวบคีรีขันธ์ แก่ราษฎรชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่กระจัดกระจายในเขตพื้นที่บ้านป่าละอู ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน ทำกินในรูปแบบของสหกรณ์ โดยให้สิทธิครอบครองชั่วลูกชั่วหลาน แต่ไม่ให้มีการโอนกรรมสิทธิ์
ทางหนึ่งเพื่อป้องกันตัดไม้ทำลายป่า อีกทางก็เป็นการรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดนไทย–พม่า สกัดกั้นการแพร่ขยายของคอมมิวนิสต์ไปในตัว
จึงเป็นที่มาของการรวมตัวเป็นสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ ในอีก 10 ปีให้หลัง มีสมาชิก 995 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ทำอาชีพเกษตร ปลูกทุเรียนป่าละอู ทุเรียนจีไอพันธุ์พระราชทาน และเลี้ยงวัวนม
แต่ด้วยราษฎรในพื้นที่มักประสบปัญหาภัยแล้งบ่อยครั้ง ปี 2526 สำนักเร่งรัดพัฒนาชนบท จึงได้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยป่าเลา เพื่อส่งน้ำให้เกษตรกรอุปโภค บริโภค
ด้วยเก็บน้ำได้แค่ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซ้ำฤดูน้ำหลาก ฝนชุก เก็บกักน้ำได้จำกัด ทำให้ต้องระบายน้ำทิ้งสู่คลองสาขาโดยเปล่าประโยชน์ ที่สุดจึงเกิดแนวคิดสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม โดยใช้พื้นที่ว่างเปล่าในเขตบ้านป่าละอู จนเป็นที่มาของอ่างเก็บน้ำป่าละอู
แต่ด้วยพื้นที่ 49 ไร่ ที่จะสร้างอ่างเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ทำให้ต้องผ่านทั้งด่านการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอ และการขอพื้นที่จากอุทยานแห่งชาติ
กระทั่งปี 2553 จึงได้ข้อยุติ เป็นจุดก่อกำเนิดอ่างเก็บน้ำป่าละอู อย่างเป็นรูปธรรม
การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำป่าละอู เก็บกักน้ำได้ 10.46 ล้านลูกบาศก์เมตร จะแล้วเสร็จ 100% ในปี 2566
สามารถส่งน้ำไปหล่อเลี้ยงชีวิตประชากร 1,095 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 6,490 ไร่ มีทั้งสวนทุเรียน 898 ไร่ ที่มีน้ำบ้างไม่มีน้ำบ้าง แต่สร้างรายได้ให้เกษตรกรปีละ 450 ล้านบาท จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น วัวนมกว่า 3,300 ตัว สร้างรายได้ปีละ 50 ล้านบาท จะมีหญ้ากินอย่างอิ่มหนำสำราญ ผลหมากรากไม้ต่างๆจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย.
...
สะ–เล–เต