“ธรรมชาติ” ที่แปรปรวนหนัก น้ำท่วมมาก...ฝนแล้ง ฤดูกาลเปลี่ยน คำถามสำคัญมีว่า “ภาครัฐ” และ “เกษตรกร” ควรที่จะต้องทำการบ้านรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้กันอย่างไร?

“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภัยคุกคามชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนทั่วโลกในศตวรรษนี้ หากพิจารณาสภาพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจะพบว่า...ผู้คนในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบและกำลังเผชิญกับปัญหาต่างๆหลายประการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”

จริยา
จริยา

จริยา สุทธิไชยา เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) บอกอีกว่า ในแต่ละพื้นที่ก็ได้มีการกำหนดมาตรการและวิธีการในการดำเนินการแก้ไขปัญหา เช่น โครงการบางระกำโมเดล เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อปี 2560 ใช้ชื่อโครงการอย่างเป็นทางการว่า “โครงการบริหารจัดการน้ำแบบประชาชนมีส่วนร่วม พื้นที่ทุ่งหน่วงน้ำบางระกำ” โดยปรับเปลี่ยนปฏิทินในการทำนาปีของเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งบางระกำ

...

...เป็นการแก้ไขปัญหาพื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มแม่น้ำยมที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด คือ พิษณุโลก สุโขทัย เป็นพื้นที่รวม 265,000 ไร่ ให้สามารถเพาะปลูกข้าว...เก็บเกี่ยวทันก่อนน้ำหลาก

เพื่อจะได้ใช้ทุ่งนาที่เก็บเกี่ยวแล้วเป็นพื้นที่รับน้ำหลากจากแม่น้ำยม ตัดปริมาณน้ำส่วนเกินออกจากลำน้ำยม ทำให้น้ำไม่เอ่อท่วมเขตชุมชน... สถานที่ราชการจังหวัดสุโขทัย

โครงการได้มีการขยายพื้นที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 265,000 ไร่ เป็น 382,000 ไร่ รองรับปริมาณน้ำได้มากกว่า 550 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากเดิมรับน้ำได้เพียง 400 ล้าน ลบ.ม. ส่วนการดำเนินโครงการในปี 2562 ยังมีพื้นที่ดำเนินการเท่ากับปีก่อนเนื่องจากเต็มศักยภาพแล้ว แต่จะเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการให้ดียิ่งขึ้น

อีกตัวอย่างถัดมา...ทำนาลอยน้ำปรับวิถีการปลูกข้าวให้เข้ากับสภาพพื้นที่น้ำท่วมขังเป็นเวลานาน จากเหตุการณ์น้ำท่วมซ้ำซาก ทำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายบ่อยครั้ง ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม ทำให้นายสุพรรณ เมธสาร เกษตรกรแห่งบ้านสามชุก จ.สุพรรณบุรี ได้คิดค้นวิธีปลูกข้าวในแม่น้ำแทนการปลูกบนดิน

น่าสนใจว่า...นอกจากจะทำให้สามารถดำรงชีวิตได้ในภาวะน้ำท่วมแล้ว ยังเป็นวิธีที่ช่วยประหยัดต้นทุนในเรื่องการเตรียมดิน เตรียมน้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง รวมถึงการบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งผลผลิตที่ได้ก็เป็นข้าวที่สะอาดปราศจากสารเคมีตกค้างเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม...เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ

สำหรับภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ อย่างเช่น...ประเทศเนเธอร์แลนด์ ประสบปัญหาอุทกภัยมานานนับศตวรรษ เนื่องจากแม่น้ำหลัก 4 สายในทวีปยุโรปไหลผ่านเนเธอร์แลนด์ไปสู่ทะเลเหนือ ทำให้พื้นที่ของเนเธอร์แลนด์กว่าร้อยละ 60 มีความเสี่ยงต่ออุทกภัย

แม้ว่าเนเธอร์แลนด์จะดำเนินการสร้างกำแพงกั้นน้ำและฝายน้ำล้นเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตร แต่การดำเนินการดังกล่าวยังไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรและทรัพย์สินของเนเธอร์แลนด์ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ที่ดินที่อยู่นอกเหนือจากกำแพงกั้นน้ำทรุดตัว ในปี ค.ศ.1995 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ดำเนินโครงการพื้นที่สำหรับน้ำ “The Room for the River” เพื่อลดความเสี่ยงจากอุทกภัย

...

โดยพิจารณาแนวทางการจัดการอุทกภัยใหม่ นำวิศวกรรมศาสตร์มาใช้ในการศึกษาแนวทางที่มีประสิทธิภาพ เพื่อจัดการกับปัญหาอุทกภัย...ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยการศึกษาการไหลของน้ำผ่านทางช่องทางและอุปสรรคต่างๆ การทรุดตัวของที่ราบน้ำท่วม อุณหภูมิของน้ำ การกำจัดสิ่งกีดขวาง การสร้างช่องแคบเพื่อการไหลของน้ำ ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนที่สุดสำหรับปัจจุบันและอนาคต

จริยา ย้ำว่า ภาคเกษตรมีทรัพยากร “น้ำ” เป็นปัจจัยหลักในการผลิต เมื่อปริมาณน้ำไม่สมดุลกับความต้องการจึงส่งผลกระทบ เช่น กรณีภัยแล้ง ทำให้พืชขาดน้ำ แห้งตาย ปศุสัตว์ขาดน้ำและอาหาร เช่นเดียวกับกรณีอุทกภัย ส่งผลทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ปศุสัตว์ล้มตาย และอาจเกิดโรคระบาดได้เช่นกัน

“การรับมือของภาครัฐ จะเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ให้กับเกษตรกร พร้อมไปกับการจัดฝึกอบรมในการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยธรรมชาติให้กับเกษตรกร ในส่วนของเกษตรกร ควรที่จะวางแผนการเพาะปลูกให้สอดคล้องกับสภาพดินฟ้าอากาศและความต้องการสินค้าของตลาด”

...

โดยติดตามสถานการณ์การพยากรณ์สภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการบริหารจัดการทรัพยากรการผลิตที่สำคัญ นับตั้งแต่...การจัดการดิน โดยการไถพรวนดิน ใช้วัสดุ เช่น ฟางข้าว แกลบ ในการคลุมดิน ปลูกพืชตระกูลถั่ว...ไถกลบเพิ่มสารอาหารในดิน ช่วยดูดซับความชื้น การจัดการน้ำโดยขุดบ่อกักเก็บน้ำ...

ให้น้ำพืชแบบประหยัด การจัดการพืช โดยเลือกปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย เก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง
องค์การสหประชาชาติ (UN) คาดว่า ในปี พ.ศ.2593 ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 9,600 ล้านคน และ 19,000 ล้านคน ในปี พ.ศ.2643 จากปัจจุบันที่มีประชากรอยู่ประมาณ 7,200 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ความต้องการสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานต่อการดำรงชีวิตในโลกยุคปัจจุบันมีสูงมากขึ้น...

กอปรกับการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การเติบโตทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน จึงต้องมีการแข่งขัน...มีการขยายตัวตามเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น

ซึ่งผลที่จะตามมาคือ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ถูกใช้อย่างรวดเร็วและฟุ่มเฟือย

การพัฒนาด้านต่างๆที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากร...สิ่งแวดล้อม ขีดจำกัดและศักยภาพในการฟื้นตัวของทรัพยากรลดลงเป็นเหตุให้ระบบนิเวศถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC 2014) คาดการณ์ว่า...อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้น 1.1 ถึง 6.4 องศาเซลเซียส ในช่วงปี พ.ศ.2544-2643 เนื่องจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมในชั้นบรรยากาศ....มากเกินกว่าที่เคยเกิดขึ้น

...

ทำให้เกิด “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งมีผลกระทบให้สภาพภูมิอากาศเกิดการเปลี่ยนแปลงและส่งผลต่อฤดูกาลต่างๆ เช่น ช่วงฤดูร้อนที่ยาวนานขึ้น ฤดูหนาวที่สั้นลง ภาวะแห้งแล้งในช่วงฤดูแล้งที่ทวีความรุนแรง ฝนตกชุกเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูฝน เกิดสภาวะอากาศแปรปรวน...สภาพอากาศเลวร้ายบ่อยครั้ง

และ...ระดับของน้ำทะเลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง

เหลียวมองรอบตัวสถานการณ์และแนวโน้มของภัยพิบัติในประเทศไทยปัจจุบัน ที่มี...อุทกภัย ภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วง เป็นปัญหาหลักที่สำคัญ สร้างความเสียหายให้กับประเทศอย่างมหาศาลมาแล้วหลายครั้ง

ข้อมูลความเสียหายจากสถานการณ์ภัยพิบัติ ปี 2552-2561 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชี้ให้เห็นว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่าน พื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบจากอุทกภัยมากที่สุดในปี 2554 จำนวน 12,227,845 ไร่...

ภัยแล้งมากที่สุดในปี 2558 จำนวน 2,869,609 ไร่ และฝนทิ้งช่วงมากที่สุดในปี 2555 จำนวน 5,719,523 ไร่ อย่างไรก็ตาม...เมื่อพิจารณาในภาพรวมพบว่าสถานการณ์อุทกภัยส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตรกรรมมากที่สุด รองลงมาเป็นฝนทิ้งช่วง และภัยแล้ง ตามลำดับ

จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเฝ้าระวัง...ติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติอย่างใกล้ชิดต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา ลดความเสี่ยงด้านการเกษตร โดยเฉพาะใน 3 มาตรการสำคัญ ได้แก่ มาตรการป้องกันผลกระทบ และเตรียมความพร้อม มาตรการการเผชิญเหตุ และมาตรการหยุดยั้งความเสียหาย

ทำการบ้านรับมือธรรมชาติที่แปรปรวนหนักกันไว้เสียแต่เนิ่นๆ เมื่อถึงเวลาจริง “เกษตรกรไทย” ล้มแล้ว...จะได้ลุกขึ้นเร็ว ตั้งตัวได้ไว ยิ่งทำยิ่งดี...ไม่ใช่ยิ่งทำก็ยิ่งจน ยิ่งนานวันยิ่งสาละวันเตี้ยลง.