ฤดูแล้งเป็นช่วงที่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรในทุกสาขาอาชีพ รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เนื่องจากโดยทั่วไปสภาพอากาศร้อน ใบหม่อนจะมีเปอร์เซ็นต์น้ำต่ำ อันจะส่งผลต่อผลผลิตรังไหม นางสาวศิริพร บุญชู อธิบดีกรมหม่อนไหม แนะวิธีบรรเทาปัญหา หลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ เกษตรกรควรตัดแต่งกิ่งหม่อนเนื่องจากเป็นช่วงที่ฝนเริ่มตกให้เห็นบ้างในหลายพื้นที่ ทำให้ไม่ต้องบำรุงรักษามากนัก

ที่สำคัญควรพรวนดินให้ร่วนซุย รักษาความชื้นในดินโดยใช้วัสดุประเภทอินทรียวัตถุ หรือเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร คลุมดินระหว่างแถวต้นหม่อนเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำ รักษาความชุ่มชื้นให้ดิน และเป็นการเพิ่มอินทรียวัตถุในดินอีกต่างหาก พร้อมวางแผนการใช้น้ำอย่างประหยัด ให้มีน้ำใช้ตลอดช่วงฤดูแล้ง รดน้ำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยวิธีเปิดร่อง ปล่อยน้ำเข้าแปลง หรือใช้ระบบน้ำหยดในแปลง ทำแนวกันไฟรอบแปลงหม่อน ถางวัชพืชเป็นแนว ถางให้ชิดติดดินและให้โล่งเตียน
“นอกจากนี้ การวิจัยของกรมหม่อนไหม เราพบว่า การใช้ปุ๋ยหมักเติมอากาศ จะช่วยให้น้ำไหลลงสู่ดินชั้นล่าง ไม่ชะล้างผิวหน้าดินออกไป ส่งผลทำให้น้ำสะสมอยู่ใต้ชั้นดิน ทำให้ดินชื้นสม่ำเสมอ ร่วนซุยมากขึ้น และยังพบการใส่ปุ๋ยในแปลงหม่อนร่วมกับการใช้เชื้อจุลินทรีย์ไมคอไรซาในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวรากทำให้สามารถดูดน้ำและธาตุอาหารได้เพิ่มขึ้น ทำให้พืชทนแล้ง และช่วยเพิ่มผลผลิตหม่อนได้อีกด้วย”
...

สำหรับตัวหนอนไหม นางสาวศิริพร แนะให้เกษตรกรหมั่นทำความสะอาดโรงเลี้ยงและอุปกรณ์ ควรปรับลดอุณหภูมิในห้องเลี้ยงไหม โดยราดน้ำบนพื้นในโรงเลี้ยง หรืออาจติดสปริงเกอร์บนหลังคา ให้อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 24-30 cํ นอกจากนั้น ควรมีการระบายอากาศในช่วงที่อากาศร้อนสูง เลี้ยงไหมในปริมาณที่ไม่หนาแน่นเกินไป และดูแลจัดการสภาพรอบๆกระด้งเลี้ยงไหมให้มีการระบายอากาศได้ดี เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก

ที่สำคัญการเก็บใบหม่อนควรทำในช่วงเช้าหรือเย็น เพื่อป้องกันไม่ให้ใบหม่อนเหี่ยว และให้ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำปิดตะกร้าใบหม่อน เพื่อให้ใบหม่อนสด เมื่อนำไปเป็นอาหารหนอนไหม ก็จะส่งผลดีต่อผลผลิตรังไหม ติดต่อสอบถามข้อมูลหรือคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ กรมหม่อนไหม 0-2558-7924-26 หรือที่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯทั้ง 21 ศูนย์ทั่วประเทศ.