ติดสอยห้อยตามคณะติดตามการขับเคลื่อนโครงการบรรเทาอุทกภัยลุ่มเจ้าพระยา สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เร่งรัดการปรับปรุงคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก เพื่อตัดยอดน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยาไปออกอ่าวไทย ไม่ให้หลากท่วมพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ตั้งแต่ชัยนาท-พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี-นนทบุรี-กทม.-สมุทรปราการ

เห็นรูปแบบประตูระบายน้ำที่ออกแบบมีอัตลักษณ์ เป็นเรือสำเภา กางกั้นคลองชัยนาท-ป่าสัก บริเวณ ต.อู่ตะเภา อ.มโนรมย์ จ.ชัยนาท ให้ชวนทัศนาเป็นยิ่งนัก...ไม่ใช่แค่สวยงาม แปลกตา แต่ศักยภาพน่าหลงใหล

หลายคนคงจะจำเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ได้ดี...ปรากฏการณ์น้ำท่วมแบบนั้นจะเกิดขึ้นทุก 50 ปี แต่จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) คาดการณ์ผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในอีก 35 ปีข้างหน้า มีแนวโน้มเกิดน้ำท่วมบ่อยขึ้น

จากเดิมน้ำท่วมใหญ่เกิดทุก 50 ปี จะกลายเป็นทุก 7 ปี

ความเสียหายจะทวีความรุนแรง จากเดิมมีค่าเฉลี่ยพื้นที่น้ำท่วม 1.66 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 4.12 ล้านไร่ และมูลค่าความเสียหายจากปีละ 25,691 ล้านบาทต่อปี จะเพิ่มเป็น 150,787 ล้านบาท

เลยเป็นที่มาของโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก ให้มีศักยภาพระบายน้ำได้มากขึ้น

จากปัจจุบัน ต้นคลองรับน้ำหลากได้แค่ 210 ลบ.ม./วินาที ปลายคลองรับน้ำได้แค่ 130 ลบ.ม./วินาที...ให้สามารถระบายน้ำหลากได้ 930 ลบ.ม./วินาที เท่ากันตลอดทั้งคลองที่มีความยาว 134 กม.

ปัจจุบันโครงการนี้อยู่ระหว่างสำรวจออกแบบ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2563-2566 นอกจากจะเป็นการช่วยตัดยอดน้ำหลากได้แล้ว ยังสามารถเก็บน้ำในคลองไว้แก้แล้งได้อีก 54 ล้าน ลบ.ม.

และเมื่อน้ำหลากถูกส่งต่อไปยังโครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย อีก 1 ใน 9 แผนงานบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง (ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และมีแผนดำเนินการก่อสร้างในปี 2565-2568) จะสามารถลดพื้นที่น้ำท่วมได้ถึง 3.48 ล้านไร่.

...

สะ-เล-เต