ความคืบหน้าเรื่องการปลูกกัญชาลอตแรกจำนวน 140 ต้นขององค์การเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เป็น เรื่องดีที่มีการเปิดโครงการผลิตสารสกัดกัญชาขององค์การเภสัชกรรม ที่มุ่งไปที่ยกระดับสู่เมดิคัลเกรด สู่มาตรฐานทางการแพทย์ระดับสากล แต่ที่อยากย้ำคือ กัญชาที่ไทยจะใช้ทางการแพทย์ หากทราบว่าไม่มียาฆ่าแมลง ไม่มีโลหะหนัก จริงๆก็ใช้ได้แล้ว เนื่องจากในต่างประเทศสหรัฐฯก็ทำแบบนั้น ที่กังวล คือ ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาที่จะออกมาให้ผู้ป่วย จะมีราคาแพงหรือไม่ เพราะเห็นจากต้นทุนการพัฒนาใช้งบ 10 ล้านบาท

ศ.นพ.ธีระวัฒน์กล่าวอีกว่า ในส่วนของการแจ้งขึ้นทะเบียนครอบครองกัญชาตามประกาศกระทรวงเรื่องนิรโทษครอบครองกัญชา กำลังศึกษาข้อมูลการขึ้นทะเบียนครอบครองอยู่ว่า จะแจ้งครอบครองในฐานะทั้งผู้ใช้ และผู้จ่าย เพราะตนมีภาวะที่ไม่อยากทานยา เนื่องจากปวดหลัง ปวดข้ออยู่ และ ก็จะขึ้นทะเบียนครอบครองในฐานะผู้จ่าย เพราะมองว่ากัญชารักษาโรคได้ ทั้งอาการแข็งเกร็ง ปวด ทรมาน โรคลมชัก เป็นต้น ในวันที่ 1 มี.ค. จะมีการ ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาผลิตภัณฑ์ยาเสพติดให้โทษที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบเพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัย

ขณะที่ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผอ.องค์การเภสัชกรรม (อภ.) กล่าวว่า งบ 10 ล้านบาทเป็นทุนเบื้องต้น องค์การเภสัชกรรมเป็นองค์กรหลักในการผลิตยาเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงยา ย่อมขายแพงไม่ได้อยู่แล้ว ตรงนี้เป็นเรื่องการวิจัยพัฒนา เราไม่ได้หวังกำไรและจะไปขยายต่อในเฟสอื่นๆต่อไป เราผลิตเพื่อคนไทย ผู้ป่วยเข้าถึงได้ไม่ต้องกังวล ทุกวันนี้ซีซีละ 100-200 บาท ราคาใต้ดินขายขวดละเป็นพันบาท องค์การเภสัชฯขายไม่แพงแน่นอน เป็นราคาที่คนไทยรับได้

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ในเรื่องการนิรโทษกรรมกัญชา มหาวิทยาลัยรังสิต ที่มีการวิจัยในลอตแรกนั้น ไม่จำเป็นต้องมีการขอนิรโทษกรรม เนื่องจากขออนุญาตครอบครองกัญชาอย่างถูกต้อง แต่ในอนาคตหากยังมีการวิจัยเพิ่มเติม หรือมีการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับกัญชา จะต้องมีขออนุญาตเพิ่ม ส่วนแผนความร่วมมือเกี่ยวกับกัญชา ทั้งการพัฒนาสายพันธุ์ที่จะทำร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ อยู่ระหว่างการทำร่างข้อตกลงร่วมกันว่า จะทำได้มากน้อยแค่ไหน คาดว่าจะเสร็จทันในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน
สำหรับการขออนุญาตครอบครองกัญชา วันเดียวกัน ที่อาคาร 6 ศูนย์บริการผลิตภัณฑ์สุขภาพ เบ็ดเสร็จ ที่เปิดรับยื่นขอนิรโทษกัญชาใน 3 กลุ่ม มีผู้โทร.มาสอบถามรายละเอียดจากสายด่วน อย.1556 กด 3 มากจนส่งผลให้ระบบสายด่วนของ อย.ล่มติดต่อกันเป็นวันที่สอง

ในจำนวนผู้มาขออนุญาตครอบครองกัญชา มีนายธนาธิป รัตนโรจน์ กล่าวว่า มาเป็นตัวแทนมารดา ซึ่งเป็นแพทย์แผนโบราณที่เปิดรักษาผู้ป่วยมากว่า 30 ปี มาขออนุญาตปลูกและครอบครองกัญชาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วย พร้อมนำภาพถ่ายต้นกัญชา 14 ต้น ที่ปลูกแบบรากลอยมาให้เจ้าหน้าที่ดูการรักษาผู้ป่วยที่ผ่านมาของมารดา มีการใช้กัญชาเป็นส่วนผสม ทั้งในกลุ่มผู้ป่วยพาร์กินสัน มะเร็งระยะท้ายๆ และเด็กที่มีอาการชัก เป็นต้น การนำกัญชามาใช้รักษาโรค ใช้หลายวิธีในการสกัด มีทั้งสกัดร่วมกับน้ำมันมะพร้าวและวิธีอื่นๆ เพราะแต่ละโรคใช้ปริมาณกัญชาไม่เท่ากัน การเปิดให้นิรโทษกรรมถือเป็นเรื่องที่ดี เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ป่วยได้เข้าถึงการรักษา อยากให้มองว่าการให้ครอบครองกัญชาจะได้ประโยชน์กับผู้ป่วยจริงๆ ส่วนกลุ่มที่จะนำไปใช้เรื่องการเสพเชื่อว่ามีน้อยกว่ากลุ่มผู้ป่วยมาก จึงอยากให้ยึดประโยชน์ผู้ป่วยเป็นหลัก ส่วนความ ต้องการกัญชาเชื่อว่าขณะนี้มีสูงมาก

นอกจากนี้ ยังมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมเพศหญิงรายหนึ่งที่นำสารสกัดกัญชาขนาด 5 ซีซี มาสำแดงกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อขอครอบครองกัญชา เปิดเผยว่า ใช้สารสกัดกัญชาตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค.61 เนื่องจากไม่สามารถทนผลข้างเคียงจากการรับคีโมได้ และเห็นว่าการนำสาร สกัดจากกัญชามาขึ้นทะเบียน จะทำให้ไม่ต้องระแวงว่าจะถูกตำรวจจับกุมดำเนินคดี

...