เผยสถิติน่าเศร้า คนไทยฆ่าตัวตายปีละเกือบ 4 พันรายและผู้ฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เป็นชายมากกว่าหญิง สาเหตุมีทั้งเกิดจากโรคซึมเศร้าไบโพลาร์ เครียด มีปัญหาเศรษฐกิจ จิตแพทย์ห่วงคนก๊อบปี้วิธีฆ่าตัวตาย วอนสื่อเสนอภาพกว้างเน้นหาทางออกจากปัญหา แนะหากพบคนรอบข้างมีปัญหาคิดฆ่าตัวตายควรช่วยเหลือปลอบโยนให้กำลังใจ

นับเป็นสถิติที่น่าเศร้าและสะเทือนใจ ที่ใน 10 ปีมีคนไทยกระทำอัตวินิบาตกรรม อำลาโลกไปกว่า 4 หมื่นราย โดย นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 ก.พ.ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีคนไทยฆ่าตัวตายประมาณเกือบ 40,000 ราย ตัวเลขการฆ่าตัวตายสำเร็จอยู่ที่ประมาณ 340 รายต่อเดือน ในจำนวนนี้เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ประมาณ 4 เท่า สำหรับการฆ่าตัวตายด้วยวิธีการที่พบถี่ขึ้นดังเช่นที่เป็นข่าวในช่วงนี้ เป็นรูปแบบที่พบได้น้อยมาก คิดเป็นเพียงประมาณ 0.1 เปอร์เซ็นต์ ของการฆ่าตัวตายทั้งหมด เฉลี่ยแล้วจะมีคนใช้วิธีการนี้เพียง 3-6 รายต่อปี

นพ.วรตม์ กล่าวอีกว่า สาเหตุส่วนใหญ่ของการฆ่าตัวตาย คือ อาจมีโรคทางจิตเวชที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือควบคุมอาการไม่ได้ เช่น โรคซึมเศร้า โรคไบโพลาร์ โรคทางอารมณ์เหล่านี้ให้ความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากขึ้นถึง 20 เท่าเทียบกับในคนทั่วไป ส่วนปัจจัยอื่นๆก็พบได้ เช่น การดื่มสุราและการใช้สารเสพติดก็มีส่วนทำให้เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูงขึ้น นอกจากนั้นยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเครียด ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น โรคทางกายเรื้อรัง การ ติดการพนัน ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น ส่วนการทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และการกระทำด้วยความหุนหันพลันแล่นก็เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตที่พบได้อยู่บ่อยครั้งเช่นกัน

โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า สำหรับการปฏิบัติตัวเพื่อให้ตัวเองห่างไกลจากความรู้สึกอยากทำร้ายตัวเอง ประชาชนควรหมั่นสำรวจความรู้สึกของตัวเองและคนรอบข้างอย่างสม่ำเสมอ คอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เป็นผู้รับฟังที่ดี หากพบความผิดปกติ เช่น ความเบื่อหน่าย ซึมเศร้า ท้อแท้ หรือมีความรู้สึกอยากตาย ควรรีบเข้ารับการประเมินและความช่วยเหลือจากจิตแพทย์ สถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือโรงพยาบาลในสังกัดกรมสุขภาพจิต นอกจากนั้นยังสามารถรับ คำปรึกษาได้จากสายด่วนสุขภาพจิต 1323

...

นพ.วรตม์ กล่าวต่อด้วยว่า การนำเสนอข่าวในส่วนนี้จึงต้องอาศัยความระมัดระวังอย่างมาก เนื่องจากการเสนอวิธีการ รูปแบบ หรืออุปกรณ์ โดยละเอียด อาจทำให้เกิดการฆ่าตัวตายเลียนแบบได้ง่ายมากขึ้น สื่ออาจช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตาย ด้วยการเสนอเป็นภาพกว้างๆ ของเหตุการณ์ โดยเน้นไปในเรื่องแนวทางการรักษาเยียวยาจิตใจของครอบครัวและคนรอบข้าง รวมไปถึงควรเพิ่มการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในด้านสุขภาพจิต เพื่อลดอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยลงและเข้าถึงบริการด้านสุขภาพจิตมากขึ้นแทน ประชาชนที่รู้สึกไม่สบายใจกับการเสพข่าวดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงเพื่อลดความวิตกกังวล หรือใช้โอกาสนี้ในการสำรวจความรู้สึกและสุขภาพจิตของคนในครอบครัว เพื่อป้องกันความเสี่ยงในอนาคต