คนนับพันล้านคนทั่วโลกกินข้าววันละ 3 มื้อ แต่ผู้บริโภคจะได้รับคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนใหญ่

ในจำนวนคนที่กินข้าวนับพันล้านคน มีกว่า 750 ล้านคนได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจากอาหารที่รับประทาน โดยเฉพาะโปรตีน

Prof. Herry Utomo จากมหาวิทยาลัยหลุยเซียนา สเตต และทีมวิจัย จึงได้ร่วมกันพัฒนาสายพันธุ์ข้าวโปรตีนสูงเรื่อยมา จนประสบความสำเร็จเมื่อปี 2560 พร้อมให้ชื่อ “Frontière” และมีการนำมาวางตลาดในเชิงพาณิชย์เป็นข้าวสารครั้งแรก ในนามข้าว “Cahokia” ในรัฐอิลลินอยส์ สหรัฐฯ

ข้าวชนิดนี้ได้รับการพัฒนาผ่านกระบวนการผสมพันธุ์แบบดั้งเดิม จึงไม่ใช่ข้าวจีเอ็มโอ เป็นข้าวโปรตีนสูงชนิดเมล็ดยาวที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้ปลูกได้ทุกสภาพอากาศ

มีโปรตีนสูงถึง 10.6% เพิ่มจากข้าวดั้งเดิมกว่า 50% นอกจากนี้ ยังต้องการความร้อน เวลา และน้ำน้อยลงในการหุง จึงช่วยประหยัดทรัพยากรน้ำได้อีกทาง

เรียกได้ว่า เมื่อกินข้าวพันธุ์นี้เข้าไปแล้ว ได้ทั้งคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนไปในคราเดียวกัน

แต่การที่ข้าวสังเคราะห์โปรตีนไปเก็บไว้ในเมล็ดมากขึ้นสิ่งที่ตามมา ทำให้ข้าวพันธุ์นี้ให้ผลผลิตค่อนข้างน้อย

ล่าสุดทีมวิจัยได้พัฒนาข้าวโปรตีนสูง ที่ให้ผลผลิตมากกว่าเดิมเพิ่มขึ้นมาใหม่อีก 20 สายพันธุ์ จากการทดสอบพบให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 11-17% เมื่อเทียบกับผลผลิตของข้าวสายพันธุ์โปรตีนสูงสายพันธุ์เดิม

ข้าวโปรตีนและผลผลิตสูง เตรียมออกสู่มือเกษตรกรในเร็วๆนี้ หลังการทดสอบภาคสนามครั้งสุดท้ายในปีนี้.