สสส. ให้ความสำคัญ เส้นทางเรือนจำสุขภาวะ มีองค์ประกอบ 7 ด้าน สร้างเสริมพลังบวกผู้ต้องขัง 24 ชม.เน้นพัฒนาสาธารณสุขมูลฐานและระบบสุขภาพบูรณาการ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย

วันที่ 17 ธ.ค. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวในงานประชุมวิชาการเชิงนโยบายเรื่อง “การเดินทางของเรือนจำสุขภาวะ” ว่า สสส.ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนให้เกิด “เรือนจำสุขภาวะ” ในสังคมไทย โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคม แนวคิดเรือนจำสุขภาวะ มาจากการหลอมรวมความรู้ที่ได้จากการวิจัยเชิงนโยบาย และการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม กิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น คือ นวัตกรรมที่ก่อให้เกิด “ความรู้ที่มาจากการปฏิบัติ”

โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมาตลอด 7 ปี แสดงให้เห็นแนวทางในการปรับเปลี่ยนเรือนจำให้เป็นพื้นที่ซึ่งผู้ต้องขังสามารถมีประสบการณ์ในทางบวก ทั้งในส่วนของการดูแลสภาวะแวดล้อมและดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีทั้งกายและใจ การอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย และเรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์

...

รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ที่ปรึกษาของโครงการขับเคลื่อนเรือนจำสุขภาวะ กล่าวเสริมว่า หลักการสำคัญของเรือนจำสุขภาวะ คือ กระบวนการฟื้นฟูผู้ต้องขังควรบูรณาการเข้าไปในวิถีการดำรงชีวิตตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงในเรือนจำ ซึ่งหมายความว่า สภาวะแวดล้อมทั้งทางกายภาพ วิถีการดำรงชีวิต ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ต้องขัง ความสัมพันธ์กับโลกภายนอก ต้องให้ความสำคัญกับการทำให้ชีวิตในเรือนจำแตกต่างจากชีวิตในสังคมทั่วไปให้น้อยที่สุด เพื่อว่าเมื่อเวลาของการลงโทษสิ้นสุดลง ผู้พ้นโทษไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการคืนกลับสู่สังคมอีกครั้ง โดยเรือนจำสุขภาวะมีองค์ประกอบอย่างน้อย 7 ด้าน ได้แก่ (1) เพิ่มความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ต้องขัง (2) ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคที่พบบ่อยในเรือนจำ (3) เพิ่มโอกาสการเข้าถึงการบริการสุขภาพ (4) ผู้ต้องขังมีพลังชีวิต คิดบวก และมีกำลังใจ (5) ดำรงชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นมิตรและเอื้ออาทร (6) สามารถธำรงบทบาทของการเป็นแม่ ลูก และ/หรือสมาชิกในครอบครัว และ (7) มีโอกาสสร้างที่ยืนในสังคม

ในส่วนของนโยบายของการดูแลสุขภาพผู้ต้องขัง นางสาวกุลภา วจนสาระ หัวหน้าโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาระบบบริการและส่งเสริมสุขภาพในเรือนจำ กล่าวว่า ข้อค้นพบสำคัญของงานวิจัยนี้คือ พื้นฐานส่วนบุคคลและเงื่อนไขต่างๆ ในชีวิตก่อนเข้าเรือนจำ รวมทั้งองค์ประกอบเชิงโครงสร้างและสภาพแวดล้อมภายใต้การควบคุมของเรือนจำ ต่างเป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยที่กำหนดสุขภาพของผู้ต้องขัง ดังนั้น การให้บริการสุขภาพในเรือนจำนั้น จึงควรใช้สายตาที่ละเอียดอ่อนมองให้เห็นเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ที่กำหนดสุขภาพของผู้ต้องขัง และดำเนินตามแนวทางระบบสุขภาพแบบบูรณาการในเรือนจำ สำหรับผู้ต้องขังทุกกลุ่ม ทั้งชายและหญิง

ทั้งนี้ รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล นายกสมาคมนักวิจัยประชากรและสังคม ให้ข้อเสนอแนะว่าควรนำ “สาธารณสุขมูลฐาน (สมฐ.)” มาประยุกต์ใช้ในเรือนจำ เพราะฐานคิดของ สมฐ. คือ การปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในระดับชุมชน ดังนั้นการพัฒนาระบบ สมฐ.ในเรือนจำซึ่งเป็นชุมชนปิด จึงเป็นทั้งจุดเริ่มต้น และแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการขับเคลื่อนไปสู่สุขภาวะของผู้ต้องขัง ที่เหมาะสมกับการทำงานเชิงชุมชนแบบองค์รวม เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะการประสานงานข้ามหน่วยงาน การใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม และการส่งเสริมสุขภาพดี ไม่ใช่ซ่อมสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดเป็นรากฐานสำคัญของการขับเคลื่อนสู่เรือนจำสุขภาวะ